เปิดโลกแขนขาเทียม เทคโนโลยีเพื่อผู้พิการ
แม้ความพิการของร่างกายจะเป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้ แต่ก็ทำให้เกิดความยากลำบากในการดำรงชีวิตให้กับคนพิการ
โดย...วัชราภรณ์ สนทนา วีณา ยศวังใจ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
แม้ความพิการของร่างกายจะเป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้ แต่ก็ทำให้เกิดความยากลำบากในการดำรงชีวิตให้กับคนพิการจำนวนไม่น้อย หากแต่ว่าด้วยความก้าวหน้าของวิทยาการในปัจจุบัน ทำให้นักวิจัยทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลกสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
ยกตัวอย่าง แขนเทียมที่สามารถเคลื่อนไหวข้อมือด้วยการสั่งการจากระบบประสาท ขาเทียมที่เบาและเดินได้เหมือนธรรมชาติ แถมยังกันน้ำได้ เป็นต้น เป็นผลงานล้ำสมัยที่เข้ามาช่วยเติมเต็มให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและดำเนินชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนปกติมากที่สุด
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จัดทริปพา 4 เมกเกอร์ไทย ผู้ชนะโครงการประกวด Enjoy Science : Let’s print the world ประกอบด้วย ศิริลักษณ์ สังวาลย์วรวุฒิ เสาวคนธ์ ภุมมาลี สุพัฒ สังวรวงษ์พนา และทิพย์สิริ ฤทธิกุล เข้าเยี่ยมชม ศูนย์วิทยาศาสตร์ออตโตบ๊อก (Ottobock Science Center Berlin) ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
ศูนย์ดังกล่าวเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำของประเทศเยอรมนี ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตอุปกรณ์แขนขาเทียม รวมทั้งอุปกรณ์เสริมแบบไฮเทคอันดับต้นๆ ของโลก เพื่อติดตามความก้าวหน้าเทคโนโลยีเพื่อผู้พิการ และสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อคนพิการไทยในอนาคต
ออตโตบ๊อก เปิดโลกแขนขาเทียม
ออตโตบ๊อก (Ottobock) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1919 เนื่องจากความต้องการผลิตแขนและขาเทียม เพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ทหารและพลเรือนที่ได้รับบาดเจ็บและพิการแขนขาอันเนื่องมาจากสงครามโลก ครั้งที่ 1 โดยแขนและขาเทียมในยุคแรกๆ ผลิตจากไม้
เมื่อไม้เริ่มกลายเป็นทรัพยากรที่หายาก จึงจำเป็นต้องหาวัสดุอื่นมาทดแทน ในช่วงทศวรรษ 1950 ออตโตบ๊อกนับเป็นบริษัทแรกที่ริเริ่มนำพลาสติกโพลียูรีเทน (Polyurethane) มาใช้ในการผลิตกายอุปกรณ์ และด้วยความหลากหลายของชนิดพลาสติก ทำให้ทีมนักวิจัยออตโตบ๊อกสามารถพัฒนาแขนและขาเทียมรุ่นใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นออกสู่ตลาด
เปิดตัวขาเทียมคอมพิวเตอร์ครั้งแรกในโลก
ออตโตบ๊อกปฏิวัติวงการกายอุปกรณ์อย่างมากในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ด้วยเทคโนโลยี ขาเทียมแบบโมดูลาร์ (Modular System) ที่ใช้ชิ้นส่วนต่างๆ ประกอบเข้าด้วยกันเป็นขาเทียม 1 ขา ซึ่งได้กลายเป็นมาตรฐานของขาเทียมทั่วโลกในทุกวันนี้ และยังได้รับสิทธิบัตรเทคโนโลยีในปี ค.ศ. 1969
ต่อมาในปี ค.ศ. 1997 ออตโตบ๊อกได้เปิดตัว ซี-เลก (C-Leg) นวัตกรรมขาเทียมที่ควบคุมการทำงานด้วยไมโครโพรเซสเซอร์ (Microprocessor) ครั้งแรกของโลก เป็นขาเทียมที่มีระบบรู้จำลักษณะการเดิน สามารถใช้งานในกิจกรรมระดับทั่วไป จนถึงกิจกรรมระดับหนักได้ สั่งงานด้วยรีโมทคอน โทรล (Remote control) ตั้งค่าการเดินในครั้งแรกของการใช้งาน รองรับผู้ใช้งานที่มีน้ำหนักตัวได้สูงถึง 136 กิโลกรัม
จากซี-เลกได้พัฒนาต่อมาสู่รุ่น จีเนียม (Genium) ที่ให้ท่าทางการเดินที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น และรุ่นล่าสุด จีเนียม เอ็กซ์ 3 (Genium X3) ที่ล้ำหน้าไปอีกขั้นด้วยคุณสมบัติกันน้ำได้
นวัตกรรมแขนเทียม สั่งการจากระบบประสาท
นอกจากนี้ ออตโตบ๊อกยังพัฒนานวัตกรรมแขนเทียมแบบใหม่ คือ แขนเทียมที่สามารถเคลื่อนไหวข้อมือหรือหยิบจับสิ่งของได้ โดยอาศัยการควบคุมและสั่งการด้วยสัญญาณไฟฟ้าจากระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่เรียกว่า “ไมโออิเล็กทริก” (Myoelectric)
ไมโออิเล็กทริกทำงานโดยมีตัวรับสัญญาณติดไว้บนผิวหนังบริเวณกล้ามเนื้อที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของข้อมือ ภายใต้ชื่อ แขนเทียมรุ่น มิเคลันเจโล (Michelangelo) ซึ่งการทำงานจะใช้สัญญาณกล้ามเนื้อไตรเซป (Tricep) ในการควบคุมการอ้ามือ และกล้ามเนื้อไบเซป (Bicep) ในการควบคุมการหุบมือและกล้ามเนื้อไหล่ในการงอและเหยียดศอก
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างเทคโนโลยีของออตโตบ๊อก ในฐานะหนึ่งในผู้บุกเบิกและผู้นำด้านเทคโนโลยีสำหรับคนพิการของโลก ที่ได้สร้างโอกาสให้คนพิการสามารถกลับมาดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ
ข้อมูล/ภาพ : www.ottobock.com