posttoday

ถอดบทเรียนไฟไหม้ตึกสูง.."ยิ่งไม่ติดดินยิ่งอันตราย"

11 กุมภาพันธ์ 2559

เมื่อเหตุไฟไหม้บนตึกสูงกำลังเขย่าขวัญคนกรุง

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

ตึกสูง 10 ชั้นกำลังถูกไฟแผดเผา ควันดำลอยปกคลุมท้องฟ้า เสียงไซเรนดังระงม ช่างเป็นภาพน่าประหวั่นพรั่นพรึง

เหตุการณ์ไฟไหม้อาคารสูง 10 ชั้นภายในซอยนราธิวาส 18 เขตยานนาวา กทม. มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บอีก 3 ราย กำลังสร้างความวิตกกังวลให้แก่คนเมืองที่อาศัยใช้ชีวิตบนตึกสูงอย่างคอนโดมิเนียม แมนชั่น อพาร์ทเมนต์ แม้กระทั่งหอพักตึกแถว

คำถามคือ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าที่พักอาศัยของเรานั้นปลอดภัย และควรทำเช่นไรเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกับตัวเอง

ไฟไหม้บนตึกสูง ... ภัยใกล้ตัวยุคสังคมแนวดิ่ง

จากสถิติของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กรุงเทพมหานคร ปี 2555 พบว่า กรุงเทพฯเกิดเหตุอัคคีภัยสูงถึง 1,145 ครั้ง คิดเป็น 94.24 % ของสาธารณภัยทุกประเภท

สาเหตุที่กรุงเทพครองแชมป์พื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้มากที่สุด โดยเฉพาะอาคารประเภทบ้านพักอาศัยและตึกแถว เนื่องจากปัจจุบันมีประชาชนเพิ่มขึ้น สิ่งปลูกสร้างผุดขึ้นหนาแน่นเบียดเสียด ขณะเดียวกันจิตสำนึกด้านความปลอดภัยของแต่ละคนไม่เท่ากัน รวมทั้งเจ้าของหรือผู้ดูแลยังไม่มีระบบป้องกันอัคคีภัยที่เพียงพอตามกฎหมายกำหนด เหตุเกิดบ่อยที่สุดเกิดขึ้นในเดือนมกราคม –เมษายน ของทุกปี ช่วงเทศกาลต่างๆ มักเกิดเหตุเพลิงไหม้จะมีมากเป็นพิเศษ เช่น เทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน หรือสงกรานต์ เนื่องจากสภาพอากาศมีความชื้นน้อย ประชาชนนิยมการเดินทางออกไปเที่ยวนอกบ้าน ความอ่อนเพลียส่งผลให้ไม่ละเอียดรอบคอบในการหุงหาอาหาร ทั้งหมดเป็นปัจจัยส่งเสริมร่วมกันทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นได้

การเกิดเหตุในอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ไม่น่าเป็นห่วง เพราะการก่อสร้างถูกควบคุมด้วยกฎหมายควบคุมอาคารที่มีอยู่หลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบป้องกันอัคคีภัยซึ่งกฎหมายจะกำหนดไว้ในระดับที่เพียงพอต่อการระงับเหตุเพลิงไหม้อยู่แล้ว ที่น่าเป็นห่วงคือตึกที่สร้างก่อนปี พ.ศ.2535 ซึ่งยังไม่มีกฎหมายความปลอดภัยควบคุม อาจมีการต่อเติมอาคารเพิ่มเข้าไป เมื่อเกิดเหตุจึงยากต่อการแก้ไข

นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ปี 2557 ระบุว่า กรุงเทพมหานครมีตึกสูง (อาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป) มากกว่า 11,961 แห่ง ประกอบด้วย 9 ประเภท ได้แก่ 1.อาคารสูง 2,310 แห่ง 2.อาคารขนาดใหญ่พิเศษ 1,091 แห่ง 3.อาคารชุมนุมคน 975 แห่ง 4.โรงมหรสพ 313 แห่ง 5.โรงแรมที่มีห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป 161 แห่ง 6.อาคารชุดหรืออาคารอยู่อาศัยรวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตร.ม.ขึ้นไป 4,245 แห่ง  7.โรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ 5,000 ตร.ม. ขึ้นไป 107 แห่ง 8.สถานบริการ 1,383 แห่ง  และ 9.ป้ายที่มีความสูงตั้งแต่ 15 ม.ขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตร.ม. 1,376 แห่ง

ถอดบทเรียนไฟไหม้ตึกสูง..\"ยิ่งไม่ติดดินยิ่งอันตราย\"

เรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้คือ กฎกระทรวงฉบับที่ 50 (พ.ศ.2540) หมวด 2 เรื่องระบบระบายอากาศ ระบบไฟฟ้า และระบบป้องกันเพลิงไหม้ ออกตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ได้กำหนดแนวทางป้องกันเหตุอัคคีภัยสำหรับตึกสูงไว้อย่างชัดเจน สาระสำคัญมีดังนี้

อาคารสูงต้องมีพื้นที่โดยรอบห่างจากตัวอาคารไม่น้อยกว่า 6 เมตร เพื่อให้รถดับเพลิงสามารถเข้าระงับเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีลิฟท์ดับเพลิงที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถปฏิบัติงานได้ยามเกิดเพลิงไหม้ มีบันไดหนีไฟ ซึ่งบันไดหนีไฟนั้นต้องมีประตูทำจากวัสดุทนไฟระบบแสงสว่างและระบบอัดลมความดันขณะใช้งานไม่น้อยกว่า 3.86 ปาสกาลเมตร และต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา มีแผนผังอาคารแต่ละชั้นติดไว้บริเวณโถงลิฟท์ทุกแห่งของแต่ละชั้นที่เห็นได้ชัดเจน มีวิธีระบายอากาศอย่างเพียงพอในแต่ละห้อง เช่น ช่องระบายอากาศ หรือเครื่องระบายอากาศ มีดาดฟ้าที่มีพื้นที่กว้าง โล่ง เพื่อใช้เป็นทางหนีไฟทางอากาศได้ รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องช่วยในการหนีไฟจากอาคาคลงสู่พื้นดินโดยปลอดภัย

มีอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ทั้งระบบอัตโนมัติและระบบแจ้งเหตุที่ใช้มือ มีระบบท่อยืนทาสีน้ำมันแดงตั้งแต่ชั้นล่างสุดไปยังชั้นสูงสุดของอาคาร ทุกชั้นต้องมีตู้ฉีดหัวดับเพลิง พร้อมสายฉีด และมีอุปกรณ์ดับเพลิงแบบมือถือ พร้อมคู่มือคำแนะนำใช้สอยสะดวก มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เช่น ระบบสปริงเกอร์ มีระบบการเก็บกักน้ำไว้เพื่อการดับไฟ มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) ซึ่งได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดี เพื่อทำการช่วยเหลือเจ้าพนักงานดับเพลิงในยามเกิดเหตุเพลิงไหม้

พ.ต.อ.เทวานุวัฒน์ อนิรุทธเทวา รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม. กล่าวว่า ถ้าเจ้าของอาคารปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีระบบป้องกันดี เวลาเกิดเหตุเพลิงไหม้ก็จะดูแลตัวเองได้ อาจดับไฟได้ก่อนรถดับเพลิงไปถึง แต่นิสัยคนไทยชอบปรับเปลี่ยนอะไรตามใจชอบ เช่น ไปกั้นห้องเพิ่มจนปิดบังรัศมีการทำงานของระบบสปริงเกอร์จากวงกลมเหลือแค่ครึ่งวงกลม

"สมัยก่อนเราเคยมีพ.ร.บ.ป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ.2542 ซึ่งกำหนดให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงทำหน้าที่เป็น 'นายตรวจสอบอาคาร' สามารถเข้าไปตรวจเช็คอาคารได้ทุกที่ทุกเวลา มีอำนาจให้ย้าย เปลี่ยน รื้อถอนได้หมด แต่ภายหลังกฎหมายฉบับนี้ถูกยกเลิกหลังจากกระทรวงมหาดไทยออกพ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 โดยแก้ไขให้บุคคลที่สามนั่นคือบริษัทเอกชนที่เป็นจดทะเบียนนิติบุคคล ส่งคนมีวุฒิสถาปัตย์หรือวิศวะไปสอบเรื่องการตรวจอาคารกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เท่านี้ก็สามารถเป็นนายตรวจอาคารได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย บางแห่งก็เข้มงวดกวดขัน บางแห่งปล่อยปะละเลย หรือฮั้วกันก็มี เช่น วันไหนนายตรวจจะมา ก็ไปเช่าถังดับเพลิงมาวางไว้หลอกๆ ตรงนี้ขึ้นอยู่กับเจ้าของอาคารด้วยว่ามีจิตสำนึกด้านความปลอดภัยแค่ไหน"

ยิ่งไม่ติดดินยิ่งอันตราย

พ.ต.อ.เทวานุวัฒน์ เผยข้อมูลอันน่าตกใจว่า อาคารที่มีความสูงไม่ถึง 23 เมตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอพาร์ทเมนท์ หอพัก มากกว่า 70 % ไม่มีระบบป้องกันอัคคีภัยที่ได้มาตรฐาน

"หอพักหลายแห่งที่นิยมสร้างไม่เกิน 5-8 ชั่้น กว่า 70 % ไม่มีระบบป้องกันอะไรสักอย่าง อันตรายมาก อย่างน้อยขอแค่มีกริ่งเตือนภัย มีถังดับเพลิงแบบหูหิ้ว มีบันไดหนีไฟก็ยังดี แถมพฤติกรรมของผู้เช่าอาศัยซึ่งเป็นวัยรุ่นก็มีส่วนเสี่ยงทำให้เกิดเพลิงไหม้ เล่นเกมทั้งวันทั้งคืน ใช้ปลั๊กพ่วงไม่ได้คุณภาพ บางคนเห็นรูเสียบคนละแบบก็ไม่สน ยัดจนพัง บางคนเสียบพร้อมกันทีเดียวทั้งสายไวไฟ คอมพิวเตอร์ ปริ้นเตอร์ ทีวี พัดลม ชาร์ตโทรศัพท์ มันก็ทำงานเกินกำลัง ทำแบบนี้ไม่ต่างจากกำลังจุดไฟเผาตัวเอง

เมืองนอกยิ่งอยู่สูงยิ่งราคาถูก เพราะเขารู้ว่ายิ่งเท้าไม่ติดดินยิ่งอันตราย ส่วนไทยยิ่งสูงยิ่งแพง เพราะอยากได้วิวดีๆ ลมดีๆ อย่าพิจารณาแค่ราคาถูก ทำเลดี หรือความหรูหราสะดวกสบาย แต่ควรเช็คให้แน่ใจว่าอาคารที่เราจะเข้าไปอยู่มีระบบความปลอดภัยดีแค่ไหน เจ้าของหอพักใส่ใจเรื่องอัคคีภัยหรือไม่ มีระบบแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ไหม เช่น ระบบสปริงเกอร์ แผนผังอาคาร ทางหนีไฟ กริ่งสัญญาณแจ้งเตือน ถังดับเพลิง ถ้าไม่มีก็อย่าไปเสี่ยง สำหรับการป้องกันตัวเองเบื้องต้นควรมีชุดความปลอดภัย(Safety Kit)ติดห้องไว้ ภายในประกอบด้วยไฟฉายเวลากลางคืน เชือกขนาด 10 เมตรไว้ผูกเงื่อนโรยตัวจากอาคาร นกหวีดเป่าขอความช่วยเหลือ ถังดับเพลิงแบบหูหิ้ว ควรศึกษาวิธีใช้เบื้องต้นให้เข้าใจเผื่อยามฉุกเฉิน"

ถอดบทเรียนไฟไหม้ตึกสูง..\"ยิ่งไม่ติดดินยิ่งอันตราย\"

สอดคล้องกับคำแนะนำของอดีตครูฝึกหลักสูตรการช่วยชีวิตขั้นสูงรายหนึ่ง บอกว่า อันดับแรกที่ต้องดูเมื่ออาศัยอยู่บนตึกสูงคือ ทางหนีทีไล่

"จะอยู่ตึกสูงประเภทไหนก็แล้วแต่ ดูว่าทางเข้าออกอยู่ตรงไหน ลิฟท์มีกี่ตัว มีบันไดหนีไฟตรงไหนบ้าง หลายคนอยู่มาหลายปีไม่เคยใช้บันไดหนีไฟเลยด้วยซ้ำ ลองทดสอบประตูเข้าออกทางหนีไฟดูว่าใช้การได้ไหม ถ้าใช้ไม่ได้ ไม่พร้อม ก็ให้แจ้งนิติบุคคล อย่าลืมว่าเราเสียเงินให้เขาทุกปี ดังนั้นเป็นหน้าที่ที่เจ้าของโครงการต้องดูแลให้ความปลอดภัยเรา ตึกใหญ่อย่างคอนโดมิเนียม หรืออาคารสำนักงาน ตามกฎหมายจะให้จัดทำแผนซ้อมอพยพเป็นประจำทุกปี แต่คนกลับไม่ให้ความสำคัญ พอไปฝึกจริงก็ทำเป็นเหยาะๆแหยะๆ ผมกล้าพูดได้เลยว่าร้อยทั้งร้อยไม่รู้ว่าอุปกรณ์ดับเพลิงใช้ยังไง ไม่รู้วิธีดับไฟง่ายๆ เวลาเกิดเหตุก็แจ้งเหตุไม่เป็น ไฟไหม้แทนที่จะโทรเข้าสายด่วน 199 ระบุสถานที่เกิดเหตุ แจ้งชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรที่สามารถโทรติดต่อได้ กลับโทรหาแฟน หาเพื่อน แทนที่จะโทรหาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งมาให้การช่วยเหลือ"

10วิธีเอาตัวรอดจากเหตุไฟไหม้บนตึกสูง

ต่อไปนี้คือ 10 คำแนะนำการหนีเอาตัวรอดจากเหตุเพลิงไหม้บนอาคารสูง โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.)

1.โดยปกติ อาคารสูง คอนโดมิเนียม โรงแรม ได้ติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยจากเพลิงไหม้ ก่อนเข้าไปพักอาศัย หรือจองห้องพักโรงแรม ให้สอบถามว่ามีเครื่องป้องกันควันไฟ และอุปกรณ์น้ำฉีดอัตโนมัติบนเพดานหรือไม่ เมื่อเข้าอยู่อาศัย ให้อ่านคำแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยจากเพลิงไหม้ และการหนีเพลิงไหม้

2.หาทางออกฉุกเฉินสองทางที่ใกล้ห้องพัก ตรวจสอบดูว่าทางหนีฉุกเฉิน ปิดล็อคตายหรือมีสิ่งกีดขวางหรือไม่ ให้นับจำนวนประตูห้อง โดยเริ่มจากห้องที่เราพักอาศัยสู่ทางหนีฉุกเฉินทั้งสองทาง เมื่อทำเช่นนั้นก็จะสามารถไปถึงทางหนีฉุกเฉินได้ ถึงแม้ว่าไฟจะดับ หรือปกคลุมไปด้วยควัน

3.เรียนรู้ และฝึกการเดินภายในห้องพักเข้าหาประตู และเปิดประตูได้ภายในความมืด วางกุญแจห้องพัก และไฟฉายไว้ใกล้กับเตียงนอน ในกรณีเกิดเพลิงไหม้ จะได้นำกุญแจห้องและไฟฉายไปด้วย อย่าเสียเวลากับการเก็บสิ่งของ

4.หาตำแหน่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ เปิดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้หากหาพบ จากนั้นหนีลงจากอาคาร แล้วโทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิง

5.หากได้ยินสัญญาณเพลิงไหม้ ให้หนีลงจากอาคารทันที อย่าเสียเวลาตรวจสอบว่าเพลิงไหม้ที่ใด

6. ถ้าเพลิงไหม้ในห้องพักของท่าน ให้หนีออกมา แล้วปิดประตูห้องทันที เมื่อหนีออกมาแล้วให้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ดูแลอาคาร และโทรศัพท์แจ้งเพลิงไหม้

7. ถ้าไฟไม่ได้เกิดขึ้นในห้องพักของเรา ให้หนีออกจากห้อง ก่อนอื่นให้วางมือบนประตู หากประตูมีความเย็นอยู่ ค่อยๆเปิดประตู แล้วหนีไปยังทางหนีไฟฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด

8.หากประตูมีความร้อน อย่าเปิดประตู ในห้องของเราอาจจะเป็นที่ปลอดภัยที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ โทรศัพท์เรียกหน่วยดับเพลิง แจ้งให้ทราบว่าท่านอยู่ที่ใด และกำลังตกอยู่ในวงล้อมของเพลิงไหม้ หาผ้าเช็ดตัวเปียก ๆ ปิดทางเข้าของควัน ปิดพัดลม และเครื่องปรับอากาศ ส่งสัญญาณของความช่วยเหลือที่หน้าต่าง หรือชานอาคาร คอยความช่วยเหลือ

9. คลานให้ต่ำ เมื่อควันปกคลุม อากาศบริสุทธิ์จะอยู่ด้านต่ำของพื้นห้อง หากต้องเผชิญหน้ากับควันไฟ ให้ใช้วิธีคลานหนีไปทางหนีฉุกเฉิน ให้นำกุญแจห้องไปด้วย หากหมดหนทางหนีจะได้สามารถกลับเข้าห้องพักได้

10.อย่าใช้ลิฟท์ขณะเกิดเพลิงไหม้ ลิฟท์อาจหยุดทำงานที่ชั้นเพลิงไหม้ ให้ใช้บันใดภายในอาคาร

ถอดบทเรียนไฟไหม้ตึกสูง..\"ยิ่งไม่ติดดินยิ่งอันตราย\"