ร่วมใจทำที่วัดธนบัตร สำหรับคนตาบอด
การมองเห็นและแยกชนิดของธนบัตรในคนปกติไม่ใช่เรื่องยาก แต่สำหรับผู้พิการทางสายตาแล้วกลับเป็นเรื่องไม่ง่าย
โดย...มีนา
การมองเห็นและแยกชนิดของธนบัตรในคนปกติไม่ใช่เรื่องยาก แต่สำหรับผู้พิการทางสายตาแล้วกลับเป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับพวกเขา ดร.เมธี ธรรมวัฒนา อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงตั้งกลุ่มเฉพาะกิจกับเพื่อนๆ อาจารย์ และนักศึกษาชักชวนกันมาทำที่วัดธนบัตรเพื่อผู้พิการทางสายตาโดยเฉพาะ
“ผมชอบทำกิจกรรมอยู่แล้ว ครั้งแรกผมไปร่วมเป็นจิตอาสากับกลุ่มอื่นได้รับรู้ถึงความสุขที่ได้รับ แต่ก่อนเราทำอะไรเพื่อตัวเอง หาเงินเพื่อไปหาความสุขเช่นกินและท่องเที่ยวเมื่อทำงานจิตอาสาทำให้ได้รู้สึกถึงจิตที่มีความสุข ผมจึงคิดทำจิตอาสาครั้งที่ 2 และเป็นผู้จัดกิจกรรมเอง ผมทำกิจกรรมจิตอาสามาเรื่อยๆ และด้วยผมเป็นคนช่างคิดจึงไม่หยุดนิ่งที่จะทำกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมของผมใช้ชื่อว่า กลุ่มยางยืด ซึ่งทำได้ 3 ปีแล้ว ด้วยผมเป็นคนไม่ชอบหยุดนิ่งจึงคิดทำกิจกรรมเพิ่มคือ ที่วัดธนบัตรเพื่อคนตาบอด” แรงบันดาลใจที่ ดร.เมธี คิดทำที่วัดธนบัตรขึ้น เพราะขณะที่เขาไปแจกยางยืดเพื่อพัฒนาทักษะมือให้ผู้พิการทางสายตาอยู่นั้น เขาได้พบเห็นว่าผู้พิการทางสายตามีปัญหาเรื่องการจ่ายสตางค์ด้วยการใช้ธนบัตรมากๆ โดยไม่มีเครื่องมือช่วยเหลือ ต้องให้วินมอเตอร์ไซค์ละแวกนั้นช่วยแยกชนิดของธนบัตรให้
“ที่วัดธนบัตรจำเป็นต่อคนตาบอดมาก เพราะคือสิ่งที่ใช้จำแนกขนาดมูลค่าของแบงก์ชนิดต่างๆ ปกติแล้วไม่เคยมีใครทำสิ่งประดิษฐ์แบบนี้ไปแจกมาก่อน มีแต่ทำแล้วซื้อขายกันราคาประมาณ 200 บาทผมไปถามคนตาบอดแล้วไม่เห็นมีกันเลย เดิมทีพี่ๆ เขาใช้วิธีวัดขนาดแบงก์จากการวัดทาบด้วยมือ หรือพับแบงก์แล้วเสียบตามง้ามนิ้ว หรือพับเป็นสามเหลี่ยม ซึ่งวิธีวัดทั้งสามแบบเสียเวลาและไม่ได้มาตรฐาน เพราะง้ามนิ้วของคนเราก็ลึกไม่เท่ากัน ซึ่งแบงก์ 50 กับ 20 มีขนาดที่ใกล้เคียงกันมาก ห่างกันหลักมิลลิเมตรเท่านั้น ทำให้เกิดการวัดกะขนาดที่ผิดพลาด”
ปัญหาจำแนกแบงก์ผิดพบเห็นได้บ่อยมาก และคิดว่าเขาน่าจะทำอะไรที่ช่วยคนตาบอดได้ ดร.เมธี จึงลงมือคิด มองหาวัสดุอะไรที่จะมาประดิษฐ์เป็นที่วัดขนาดธนบัตรได้บ้าง
ขณะนั้นเขานั่งคิดอยู่ในห้องพักครูมองไปเห็นสันปกรายงานของนักศึกษาที่ใช้ส่งอาจารย์ตั้งเป็นกองๆ เต็มไปหมด เขาจึงเกิดไอเดียว่าสันปกรายงานน่าจะใช้ได้ เพราะเมื่อไม่ใช้แล้วปกรายงานเหล่านี้ก็กลายเป็นขยะ ดร.เมธี จึงนำสันปกรายงานมาวัดขนาดทำตำหนิเป็น 5 ระดับ เพื่อใช้จำแนกธนบัตร 20 50 100 500 และ 1,000 บาท และใช้คัตเตอร์ตัดไล่เป็นขั้นบันได เสร็จแล้วลองเอาแบงก์รูดหรือสอดเข้าไปในราง ปรากฏว่าสามารถแยกชนิดธนบัตรได้จริง ใช้ได้รวดเร็ว ได้มาตรฐานโดยไม่ต้องใช้ร่องนิ้ววัดอีกต่อไป
“พอคิดออกแบบที่วัดธนบัตรได้ ผมก็ชักชวนเพื่อนอาจารย์ให้ช่วยกันบริจาคสันพลาสติกปกรายงานที่ไม่ใช้แล้วซึ่งเพื่อนอาจารย์ก็ช่วยกันบริจาคมากมาย แล้วผมก็ชักชวนนิสิตที่ผมรู้จักและให้เขาชวนเพื่อนคนอื่นๆ มาช่วยกันนั่งทำโดยครั้งแรกทำและรวบรวมได้ 200 ชิ้น ช่วยกันทำประมาณ 20 คน โดยบอกเขาว่าเรามาช่วยกันทำที่วัดธนบัตรให้สมาคมคนตาบอดฯ กันเถอะ เขาก็มาช่วยกันทำ พอรวบรวมได้200 ชิ้น เรานำไปแจกถึง 3 ครั้งแล้ว ซึ่งฟีดแบ็กหลังจากเรานำไปแจกที่สมาคมคนตาบอดฯ แล้วเขาบอกว่า ดีมากๆ เลยเขาไม่เคยมีอุปกรณ์แบบนี้ใช้ พอได้ปุ๊บทำให้เขานับธนบัตรได้รวดเร็วและง่าย เสียบปุ๊บรู้แล้วว่าแบงก์อะไร เราได้ฟังก็ดีใจ”
สำหรับบุคคลทั่วไป หากต้องการทำที่วัดธนบัตรเพื่อแจกจ่ายให้ผู้พิการทางสายตาก็สามารถทำได้ หากทำไม่เป็นก็สามารถสอบถาม ดร.เมธี ผ่านเฟซบุ๊ก maytee tham ได้เลยดร.เมธี จะช่วยแนะนำวิธีการทำให้แบบไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และเมื่อทำเสร็จแล้วไม่รู้จะนำไปบริจาคที่ไหนก็สามารถปรึกษา ดร.เมธี ได้ที่เบอร์ 08-1929-8454 อาจารย์บอกว่ายังมีผู้พิการทางสายตาต้องการที่วัดธนบัตรอีกมาก เช่น สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม นักเรียนพิเศษตามโรงเรียนต่างๆ เช่น โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ เป็นต้น
“ที่วัดธนบัตรทำได้ง่ายมาก แต่ยากตรงหาวัสดุสันปกพลาสติก เพราะผมอยากได้ที่ใช้แล้วจริงๆ จะได้ไม่ต้องมีต้นทุน หรือใครอยากบริจาคติดต่อผมผ่านเฟซบุ๊กได้เลย”