เทคโนเวิลด์
นักวิจัยจากสถาบันโรคติดเชื้อในเมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย เสนอว่า ควรที่จะจำกัดโคอาลาที่ติดเชื้อ
ออสซี่เสนอฆ่าโคอาลาลดการแพร่เชื้อ
นักวิจัยจากสถาบันโรคติดเชื้อในเมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย เสนอว่า ควรที่จะจำกัดโคอาลาที่ติดเชื้อหนองในเทียมบางส่วนทิ้ง เพื่อควบคุมโรคดังกล่าวที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในหมู่โคอาลา สาเหตุหลักที่ทำให้ประชากรโคอาลาลดลงถึง 40% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และเสี่ยงใกล้ที่จะสูญพันธุ์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การฆ่าโคอาลาเพื่อยับยั้งโรคระบาดและรักษาจำนวนประชากรนี้ ยังเป็นข้อถกเถียงว่าสมควรหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันมีนักวิจัยบางส่วนกำลังคิดค้นวัคซีนและถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อทำความเข้าใจระบบภูมิคุ้มกันของโคอาลา แต่ยังต้องใช้เวลาพัฒนาอีกอย่างน้อยกว่า 3 ปี จึงจะนำวัคซีนมาใช้จริงได้ ทั้งนี้ เชื้อหนองในเทียมในโคอาลาเป็นคนละชนิดกับหนองในเทียมที่พบในมนุษย์ แต่สามารถติดต่อมายังคนผ่านการสัมผัสปัสสาวะของโคอาลาได้
ปินส์มุ่งคิดค้นพันธุ์ข้าวทนทานสภาพอากาศ
สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (ไออาร์อาร์ไอ) ในเมืองลอส บานอส ฟิลิปปินส์ กำลังพัฒนาเทคนิคพันธุวิศวกรรมเพื่อผลิตข้าวสายพันธุ์ที่ทนทานต่อสภาพอากาศที่รุนแรงเนื่องจากฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากพายุไต้ฝุ่นเฉลี่ยปีละ 20 ลูก ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายอย่างมาก อีกทั้งส่งผลให้ฟิลิปปินส์จากที่เคยเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ต้องนำข้าวเข้าจากหลายประเทศในหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ไออาร์อาร์ไอ ยังระบุว่า จะใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมเพื่อทำความเข้าใจและติดตามทำแผนที่ผลกระทบของสภาพอากาศต่อข้าวที่เปลี่ยนแปลงตามเวลาจริงด้วย ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์มุ่งหวังว่า การผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีระดับโมเลกุลและภาพถ่ายทางดาวเทียม จะช่วยให้ชาวนาปลูกข้าวที่มีสายพันธุ์ทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่รุนแรงและเป็นหลักประกันว่าชาวนาจะมีพืชผลที่เก็บเกี่ยว
นักวิทยาศาสตร์พบสมองส่วนซึมเศร้าในหนู
นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐ เปิดเผยผลวิจัยว่า ค้นพบสมองส่วนที่ทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวบริเวณสมองส่วนหลังของหนูเป็นครั้งแรก ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นสมองส่วนที่กระตุ้นให้สัตว์สังคมต้องการเพื่อนเมื่อเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวขึ้น โดยเคย์ เทย์ นักประสาทวิทยา จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) ระบุว่า การค้นพบในหนูดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของศึกษาการทำงานของสมองมนุษย์ในส่วนที่ควบคุมความรู้สึกโดดเดี่ยว ว่ากระตุ้นพฤติกรรมการเข้าสังคมอย่างไร นอกจากนี้ อัลซิโน ซิลว่า นักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส ระบุว่า การศึกษาต่อยอดจากการค้นพบดังกล่าวอาจช่วยให้มนุษย์มีความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่มีพฤติกรรมการเข้าสังคมผิดปกติมากขึ้น รวมถึงโรคออทิสติกและโรคความกังวลทางสังคมอื่น
ออสเตรเลียเจอลูกเต่าตนุเผือกหายาก
อาสาสมัครจากหน่วยงานดูแลชายฝั่งของออสเตรเลีย พบลูกเต่าตนุเผือกหายาก และตั้งชื่อว่า “อัลบี้” บนชายหาดคาสต์อะเวย์ ในรัฐควีนส์แลนด์เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา
และทางอาสาสมัครได้ปล่อยลูกเต่าดังกล่าวลงสู่ทะเลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยอาสามัครและชาวบ้านที่อาศัยในละแวกดังกล่าว ระบุว่า ลูกเต่าเผือกตัวดังกล่าวมีความกระปรี้กระเปร่าและแข็งแรงดี และยังมีผู้เชี่ยวชาญระบุอีกว่า อัตราการเกิดของเต่าตนุเผือกนั้นอยู่ที่ราว 1 ใน 100,000 เท่านั้น อีกทั้งอัตรารอดชีวิตถึงวัยเจริญพันธ์ุเพียง 1 ใน 1,000 เท่านั้น