เจาะลึก "รถตู้โดยสารสาธารณะ" ภัยหมายเลขหนึ่งของคนเดินทาง
ชำแหละความปลอดภัยของ "รถตู้" รถโดยสารสาธารณะที่ได้ชื่อว่าเสี่ยงอันตรายที่สุด
โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด
เมืองไทยในรอบสิบปีที่ผ่านมา "รถตู้" ถูกจัดให้เป็นรถโดยสารสาธารณะยอดนิยม จุดเด่นอยู่ตรงความเร็ว (ซิกแซก แซง ไม่ต้องจอดทุกป้าย) ความสะดวกสบาย (ไม่ต้องยืน ได้นั่งแน่นอน) รวมทั้งการขนส่งในลักษณะที่เรียกว่า Door-To-Door หมายถึงรับ-ส่งตั้งแต่หน้าประตูบ้านจนถึงจุดหมาย ตอบโจทย์วิถีชีวิตอันเร่งรีบของคนยุคใหม่ได้อย่างลงตัว
แต่เมื่อความต้องการเพิ่มขึ้น การตอบรับจึงต้องปรับเปลี่ยนตามให้ทัน เกิดการดัดแปลงรถตู้จนผิดจากเดิม ผิดกฎหมาย ที่สำคัญเสี่ยงอันตรายยิ่ง
มหันตภัยหมายเลขหนึ่ง
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เผยข้อมูลอันน่าตกใจว่า ทุกสัปดาห์จะต้องมีคนตายจากรถตู้อย่างน้อย 2 ราย บาดเจ็บอีก 10 ราย
"ปี 2558 มีรถตู้ประสบอุบัติเหตุทั้งหมด 98 ครั้ง ตาย 104 คน บาดเจ็บ 847 คน เฉลี่ยแล้วสัปดาห์หนึ่งจะมีคนตาย 2 คน เจ็บอีกเกือบ 10 ราย อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแบ่งเป็นรถตู้ส่วนบุคคลหรือรถทัศนาจร 68 ครั้ง เสียชีวิต 77 ราย บาดเจ็บกว่า 596 ราย เป็น รถตู้ประจำทางวิ่งต่างจังหวัด (ร่วม บขส.) 26 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 19 ราย บาดเจ็บ 220 ราย และเป็นรถตู้ประจำทางในกรุงเทพ (ร่วม ขสมก.) จำนวน 4 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บ 31 ราย"
สำหรับสถานการณ์อุบัติเหตุรถตู้สาธารณะในปี พ.ศ. 2559 ระหว่างเดือนมกราคม – 8 มีนาคม เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 16 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 14 ราย บาดเจ็บ 153 ราย เป็นรถตู้ส่วนบุคคลหรือรถทัศนาจร จำนวน10 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บอีก 102 ราย เป็นรถตู้ประจำทางวิ่งต่างจังหวัด ร่วม บขส. จำนวน 6 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บกว่า 51 ราย
ตัวเลขทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า ประชาชนคนไทยตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน
“คน-รถ-ถนน” ปัจจัยหลักการเกิดอุบัติเหตุ
นพ.ธนะพงศ์ วิเคราะห์สาเหตุปัจจัยของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนของรถตู้โดยสาร โดยระบุว่า มาจาก 3 ปัจจัยหลักคือ คน รถ และถนน
ตัวรถโดยสาร
เสถียรภาพของตัวรถตู้โดยสารสาธารณะเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เมื่อมีการดัดแปลงสภาพรถ ทำให้ตัวรถรับน้ำหนักมากและวิ่งในระยะทางไกล
“รถตู้โดยสารทำการดัดแปลงสภาพจาก 9-10 ที่นั่งเป็น 14-15 ที่นั่ง พร้อมทั้งการติดตั้งถังแก๊ส (NGV หรือ LPG) อีก 2 ถัง ทำให้มีน้ำหนักของรถถึง 3,350 กิโลกรัม เพิ่มจากประเภทปกติมาประมาณ 400 กิโลกรัม ยังไม่รวมน้ำหนักสัมภาระของผู้โดยสาร ทำให้สัดส่วนการกระจายน้ำหนักหรือแรงกดของเพลาหน้าและเพลาท้ายของรถตู้แตกต่างจากสภาพเดิมของรถ ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัย รวมถึงสมรรถนะของรถในการออกตัว การเร่ง การเปลี่ยนช่องทาง หรือการเบรก ทั้งทางตรงและทางโค้ง โดยเฉพาะช่วงจังหวะกระทันหัน
นอกจากนี้การใช้งานหนักโดยละเลยการตรวจสภาพ เสี่ยงมากที่จะก่อให้เกิดปัญหายางระเบิด ขณะเดียวกันหากไปถึงการออกแบบ ให้มีทางเข้า - ออกเพียงทางเดียว ยังถือเป็นอุปสรรคในการหลบหนีหรือเข้าช่วยเหลือหากเกิดเหตุฉุกเฉินด้วย”
คนขับ ผู้ประกอบการเจ้าของวิน
หลายรายมีพฤติกรรมการขับขี่ไม่เคารพกฎจราจรและตระหนักถึงความปลอดภัย เช่น ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด บรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าที่นั่ง หลับใน ขับเร็ว-ปาดซ้ายปาดขวาเพื่อเร่งเวลา เร่งเข้าป้ายรับผู้โดยสารเพื่อสร้างรายได้ให้มากที่สุด ส่วนผู้ประกอบการนั้นพบว่า ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย มีงบการลงทุนจำกัด จนละเลยกระบวนการดูแลรักษา ตรวจสอบสภาพรถ ขณะเดียวกันยังพยายามเร่งให้ผู้ขับขี่ทำรอบให้มากที่สุด เพื่อผลตอบแทนที่คุ้มค่า
ถนน
ปัจจุบันมีเส้นทางการวิ่งและจุดจอดที่ทับซ้อนกันเองหลายจุด นำไปสู่ปัญหาการทำความเร็วเร่งเข้าป้ายเพื่อแย่งรับผู้โดยสารกัน
ระบบกำกับดูแลจากภาครัฐ
ใบอนุญาตประกอบการที่ไม่เข้มงวด เปิดช่องให้มี “รายย่อย” จำนวนมาก หลายคนมีรถตู้เพียง 1-2 คันก็สามารถมาขอร่วมบริการได้แล้ว ขณะการบังคับใช้ใบอนุญาตและควบคุมกำกับยังไม่ทั่วถึง ไม่สอดคล้องกับจำนวนรถตู้ที่เพิ่มขึ้น แนวทางการใช้เทคโนโลยี เช่น GPS ก็ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ปัจจัยด้านนโยบายที่เอื้อให้มีรถตู้เพิ่มขึ้น ตามระเบียบของคณะกรรมการขนส่งทางบกกลางที่เปิดช่องให้เจ้าของรถบัสนำทะเบียนรถโดยสารประจำทางรถ 1 คันมาแลกเป็นทะเบียนรถตู้ได้ 3 คัน ส่งผลให้รถบัสสาธารณะประจำทางใกล้สูญพันธุ์ นับเป็นระเบียบที่ควรให้มีการยกเลิก
อย่าโทษรถตู้เพียงฝ่ายเดียว
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ระบุว่าอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับประเภทรถโดยสารสาธารณะ 3 ประเภท ได้แก่ รถตู้ รถบัสชั้นเดียว และรถบัสสองชั้น โดยรถตู้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงกว่ารถบัสชั้นเดียวถึงสองเท่า ส่วนอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถตู้สาธารณะ นั้นสูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถบัสชั้นเดียวถึงสองเท่าเช่นกัน
สรุปง่ายๆ ว่า การเดินทางด้วยรถตู้โดยสารสาธารณะ มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตมากกว่ารถบัสชั้นเดียว ถึงสองเท่า
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสถิติตัวเลขออกมา แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่า ผู้โดยสารหลายรายยังไม่มีทางเลือกที่ดีหรือเหมาะสมกว่ารถตู้
กรวิทญ์ มั่งคั่ง วัย 33 ปี ผู้ใช้รถตู้โดยสารสาธารณะเป็นประจำทุกสัปดาห์ เดินทางไปกลับระหว่าง กรุงเทพฯ – จันทบุรี ระยะทางต่อเที่ยวรวม 250 กิโลเมตร
“เลือกรถตู้เพราะสะดวก รวดเร็ว ทำเวลาได้ดี จนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องที่พักได้ เมื่อก่อนนั่งแต่รถทัวร์ใช้เวลานานมาก มาถึงกรุงเทพกว่าจะทำธุระเสร็จก็ค่ำแล้ว ต้องเสียเงินหาที่พักอีก แต่ถ้าเป็นรถตู้ ทำธุระเสร็จก็นั่งกลับบ้านที่เมืองจันทน์ได้เลย ประหยัดทั้งเวลาและเงิน เรื่องอุบัติเหตุ ทุกคนไม่อยากให้เกิดอยู่แล้ว อยู่บนถนนแล้วมันเสี่ยงอันตรายทั้งนั้นแหละ ไม่ว่ารถประเภทไหน ส่วนตัวพยายามลดความเสี่ยงด้วยการคาดเข็มขัดนิรภัยเสมอ อยากฝากว่าภาครัฐจะมีเกณฑ์คัดสรรคนขับที่ดี เเละตรวจสอบสภาพรถอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารทุกคนเบาใจและอุบัติเหตุลดน้อยลงได้”
ภวัต คนขับรถตู้สาธารณะสายกรุงเทพ-สุพรรณบุรี อดีตคนขับรถทัวร์ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการเดินรถมานานกว่า 20 ปี มองว่า ยากที่รถตู้จะให้ความปลอดภัยได้เทียบเท่ารถทัวร์ เนื่องจากจุดเด่นอยู่ตรงความสะดวกสบาย รวดเร็วทันใจ
“ถ้าพูดถึงความปลอดภัยแล้ว ยังไงก็สู้รถทัวร์ไม่ได้ แต่ประเด็นคือผู้โดยสารชอบความสะดวก รวดเร็ว พวกรถทัวร์ระยะสั้นเลยอยู่กันไม่ได้ ล้มหายตายจากกันไป บวกกับภาครัฐเองเปิดช่องให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนรถบัสเป็นรถตู้ด้วยเลยไปกันใหญ่ รถตู้เลยเพิ่มขึ้นเยอะมาก”
ภวัต บอกว่า สาเหตุอันดับหนึ่งของอุบัติเหตุคือ ความเร็ว
“วันหนึ่งเขาวิ่งกันคนละ 2 รอบ หรือ 4 เที่ยวไปกลับ ใช้เวลาเที่ยวละ 1 ชั่วโมง 45 นาทีถึง 2 ชั่วโมง เรื่องเวลาพักแต่ละรอบมีเยอะจึงไม่มีปัญหาเรื่องความอ่อนล้า แต่ความเสี่ยงอยู่ที่ความเร็ว บางคนต้องใช้ความเร็วกัน 130 -140 กม.ต่อชั่วโมง เพราะไปเสียเวลาเติมก๊าซและรอคิวรวมกว่า 40 นาที มันทำรอบไม่ทัน ต้องเร่ง โอกาสพลาดเลยเยอะ”
สัมฤทธิ์ ทองอ่อน วัย 48 ปี โชเฟอร์รถตู้สาย กรุงเทพ - ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 250 กม. ให้ความเห็นว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนนั้นเกิดขึ้นได้กับรถทุกประเภท ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รถ เเต่อยู่ที่วินัยของคนขับเเละผู้โดยสารมากกว่า
"โครงสร้างตัวรถมันไม่มีปัญหาหรอก เพราะตรวจสภาพกันตามระเบียบของกรมขนส่งทางบกปีละ 2 ครั้ง ติดตั้งก๊าซก็ไม่ได้ทำให้สมรรถนะเสีย เอาจริงๆ 1,000 กม.ก็วิ่งกันได้ ขอเพียงมีคนขับที่พร้อม มีผู้โดยสารที่รักษาวินัย รัดเข็มขัดอย่างเคร่งครัด ทุกวันนี้พวกเราพยายามวิ่งกันไม่เกิน 110 กม.ต่อชั่วโมงอยู่แล้ว มีบ้างที่พวกโชเฟอร์วัยรุ่นวุฒิภาวะน้อย ซ่า คึกคะนอง ทำความเร็วกัน 130 – 140 แต่น้อยมาก”
โชเฟอร์รุ่นเก๋า บอกว่า ไม่อยากให้สังคมมองรถตู้เป็นต้นตอของอุบัติเหตุ เนื่องจากชีวิตจริงบนท้องถนนนั้นเต็มไปด้วยผู้ใช้รถใช้ถนนที่มีประสบการณ์น้อยเป็นจำนวนมาก หลายรายมักละเลยวินัยจราจรไม่น้อยหน้าไปกว่ารถสาธารณะ
“รถทุกประเภทเป็นมีส่วนทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ทั้งนั้น มือใหม่เยอะแยะบนท้องถนน บางคนเล่นไลน์ เล่นเฟซบุ๊กไปด้วย เพียงเเต่เวลาเกิดเหตุ รถตู้ที่บรรทุกคนมาเยอะ คนเจ็บเเละเสียชีวิตก็ต้องมีมากกว่า จนถูกคาดโทษโจมตีแรงกว่าคู่กรณี เอะอะโทษรถตู้ ทำไมไม่คิดว่ารถอื่นไม่ดีบ้าง ผมเคยเจอแถว เเยกบ้านแพ้ว สมุทรสาคร วิ่งมา 100 กม.ต่อชม. เจอรถคันหนึ่งพุ่งออกขวางถนนจะเข้ายูเทิร์น ขวางเต็มๆ ดีหลบทัน ไม่งั้นตายคาที่ รถตู้โดนด่าอีกเเน่”
เขาเสนอว่า การแก้ปัญหาอุบัติเหตุ ควรมีการคัดเลือกคนขับที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป มีประสบการณ์ในการขับรถและวุฒิภาวะในการรับผิดชอบผู้โดยสาร มากกว่าแก้ปัญหาด้วยการยกเลิกรถตู้วิ่งข้ามจังหวัด แล้วนำรถมินิบัสมาวิ่งแทน
นั่งตรงไหน โอกาสรอดสูง
ณัฐสิทธิ์ พัฒนะอิ่ม อาจารย์ปประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้คนเสียชีวิตจากรถสาธารณะจำนวนมากคือ ความไร้วินัยและความประมาทของผู้ขับขี่ รวมทั้งผู้โดยสาร ซึ่งมักละเลยเรื่องคาดเข็มขัดนิรภัยและขับรถด้วยความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด
“รถตู้โดยสารสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมายผ่านกระบวนการตรวจสอบจากกรมการขนส่งบางบกอยู่แล้ว แต่ผู้ใช้งานจำนวนมากไม่ตระหนักถึงความปลอดภัย อย่างเช่น เข็มขัดนิรภัย ซึ่งเป็นตัวช่วยลดความเสี่ยงที่ทำได้ง่ายที่สุด มักถูกละเลย คิดง่ายๆว่าเดี๋ยวเราก็ลงแล้ว ทั้งที่อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากคาดเข็มขัด โอกาสที่ร่างกายจะกระเด็นออกจากเบาะนั่งไปกระแทกกับของแข็งอย่างอื่นจนคอหัก อวัยวะฉีกขาด กระทั่งบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตก็น้อยลง ลองคิดดูสิ เราไม่เคยเห็นเบาะหลุดออกจากตัวรถเวลาเกิดอุบัติเหตุเลย”
สำหรับผู้ขับขี่ หลายรายมักทำความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด หากเป็นไปได้ อาจมีการกำหนดความเร็วเหมือนรถบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เช่น รถขนก๊าซหรือรถขนวัตถุอันตราย ซึ่งจำกัดความเร็วของเครื่องยนต์ จนเร่งเครื่องได้ไม่เกินความเร็วที่กำหนด โอกาสเกิดอุบัติเหตุก็ลดน้อยลง
ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์ยานยนต์รายนี้ ทิ้งท้ายว่า ตำแหน่งที่นั่งในห้องโดยสารนั้นแทบไม่มีผลแตกต่างกันในเรื่องความปลอดภัย แต่จะได้รับอันตรายมากเป็นพิเศษใน"ตำแหน่งข้างคนขับ" เนื่องจากหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ตามสัญชาตญาณคนขับต้องหักหลบ ทำให้คนข้างๆ มีโอกาสสูงที่จะได้รับอันตรายมากกว่าตำแหน่งอื่น ฉะนั้นถ้าเลือกได้ไม่ควรนั่งที่นั่งข้างคนขับ
สอดคล้องกับข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้ข้อมูลถึงแนวทางการนั่งรถตู้อย่างปลอดภัยไว้ดังนี้
- เลือกนั่งรถตู้ที่มีแผ่นป้ายทะเบียนรถสีเหลืองเท่านั้น
- เลือกที่นั่งกลางๆ หรือด้านขวาของรถ เพราะตามสัญชาตญาณของคนขับจะไม่นำตัวเองเข้าสู่ความเสี่ยง
- เลี่ยงนั่งใกล้ประตู เพราะเป็นส่วนที่เปราะบาง สามารถยุบมาหาตัวได้เมื่อเกิดแรงกระแทก
- หากจำเป็นต้องนั่งริมประตูรถ ควรล็อกประตู+คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง เพราะเข็มขัดจะยึดตัวเราไว้กับเบาะหากรถหยุดกระทันหัน ช่วยลดความรุนแรงจากการบาดเจ็บเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
- ไม่ควรหลับขณะเดินทาง หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้มีสติ และช่วยเหลือตนเองได้
- ถ้าเจอรถตู้ตีนผี หรือคุยโทรศัพท์ขณะขับ ให้เตือน ถ้าไม่ฟัง แนะว่าอย่าทน ควรลงไปต่อรถใหม่
- กรมการขนส่งทางบกอนุญาตให้รถตู้โดยสารให้บริการได้ในระยะทางไม่เกิน 300 กม. ถ้าเกินกว่านี้ไม่แนะนำให้นั่ง เพราะอาจทำให้พนักงานขับรถอ่อนเพลียจนเกิดอุบัติเหตุและยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทำผิดกฎหมายด้วย
สำหรับหมายเลขโทรศัพท์สายด่วนที่ควรจำไว้คือ 1584 สายด่วนร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ กรมการขนส่งทางบก 1193 ตำรวจทางหลวง และ 191 สายด่วนตำรวจ
"ยกเลิกรถตู้วิ่งไกล" ข้อเสนอที่ยังต้องถกเถียง
เมื่อเร็วๆนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการยกเลิกรถตู้ประจำทางวิ่งระหว่างต่างจังหวัด โดยกำหนดให้วิ่งในระยะทางใกล้กทม.-ปริมณฑล ไม่เกิน 100 กิโลเมตรเท่านั้น
นพ.ธนะพงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน บอกว่าแนวทางดังกล่าวของ คสช. มีผลกับรถตู้ที่วิ่งข้ามจังหวัดจำนวน 2,149 คันเท่านั้น ซึ่งสัญญาใบอนุญาตขนส่งรถตู้จะหมดลงภายในปี 2564 นับว่าเป็นแนวทางที่ดี แต่หากมีการยกเลิกรถตู้ที่วิ่งระหว่างจังหวัดจริง สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไป มีดังนี้
1.ผลกระทบอันจะเกิดกับผู้โดยสารที่ไม่มีรถเข้าถึงในพื้นที่ เพราะรถตู้มีความคล่องตัวและเข้าถึงระดับอำเภอ ซึ่งต้องเพิ่มภาระให้กับผู้โดยสารที่ต้องนั่งรถหลายต่อ ไม่มีหลักประกันว่าจะมีสามารถตอบสนองความต้องการได้เท่ารถตู้
2.พื้นที่การให้บริการและจอดรถโดยสารต้องขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องเพิ่มจำนวนรถบัสและมินิบัส ย่อมส่งผลต่อการบริหารจัดการพื้นที่ของสถานีขนส่งทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด อีกทั้งประชาชนก็เข้าถึงจุดจอดรถได้ยากมากขึ้น
3.แนวทางการบริหาร รถตู้กว่า 2,149 คัน ที่จะไม่ได้รับการต่อใบอนุญาต ซึ่งอาจกลับไปเป็นรถตู้เถื่อนที่ไม่มีการควบคุม รับส่งคนต่อจากรถตู้ถูกกฎหมายที่วิ่งได้แค่ระยะ 100 กิโลเมตร วิ่งออกต่างจังหวัดหรือวิ่งในเขตกรุงเทพ ควรต้องมีมาตรการมาควบคุม
4.มาตรการชดเชยเยียวยาผู้ประกอบการรถตู้ ที่เป็นธรรม เพราะต้องลงทุนไปกับการติดตั้งจีพีเอส และการดัดแปลงรถเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งอาจไม่คุ้มทุนถ้าเหลือเวลาต่ออายุใบอนุญาตไม่กี่ปี
5.ผลจากการบริการรถตู้ ต่างจังหวัด ทำให้รถโดยสารที่บริการในพื้นที่หมดไป เช่น รถบัสที่วิ่งระหว่างจังหวัด หรือ รถสองแถวที่วิ่งเข้าในระดับอำเภอ ซึ่งถ้ายกเลิกรถตู้แล้วจะมีแนวทางทำให้เกิดรถโดยสารสาธารณะในท้องถิ่นอย่างไร ใครจะเป็นผู้บริหาร กำกับควบคุม ดูแลระบบความปลอดภัย
นพ.ธนะพงศ์ เสนอว่า ถึงเวลาที่ควรตั้งเป้าหมายว่า ภาพรวมของรถตู้ในระบบทั้งหมดกว่า 2 หมื่นคันจะเป็นอย่างไรต่อไป สาระสำคัญคือ ต้องทำให้รูปแบบการประกอบการและการตรวจสอบมีประสิทธิภาพเข้มแข็ง เพื่อเป็นผู้กำหนดทิศทางแทนที่จะวิ่งตามปัญหาเหมือนที่ผ่านมา
“การเดินรถที่มีประสิทธิภาพควรมีระบบควบคุมกำกับเข้มแข็ง โดยเฉพาะการสกัดรายย่อย หากผู้ประกอบการไม่พร้อมจริงที่จะพัฒนาและดูแลความปลอดภัยให้กับผู้โดยสาร ไม่ควรปล่อยให้เข้ามา มีระบบกำกับอันตราย เช่น ติดตั้งจีพีเอส ตรวจสอบการทำรอบ ชั่วโมงขับรถ มีการตรวจสอบกรณีกระทำผิด หรือเกิดอุบัติเหตุ มีทะเบียนประวัติประวัติผู้ประกอบการ และ กำหนดมาตรการชัดเจน เช่น หยุดให้บริการชั่วคราวหรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการ มีการชดเชย รถตู้ที่ถูกยกเลิก เพื่อป้องกันไม่ให้ กลับไปเป็น "รถเถื่อน" รวมทั้งส่งเสริม "ผู้โดยสาร" ให้มีส่วนร่วม ช่วยกำกับติดตาม "พฤติกรรมเสี่ยงคนขับด้วย"
ทั้งหมดนี้คือสถานการณ์ล่าสุดของรถตู้โดยสารสาธารณะ ขนส่งมวลชนยอดนิยมของคนไทย ซึ่งต้องติดตามกันว่า ภาครัฐจะใช้มาตรการใดในการแก้ปัญหาอุบัติเหตุต่อไปในอนาคต