posttoday

4 วันสงกรานต์ เสียชีวิต 259 คน

15 เมษายน 2559

ศปถ. สรุป ยอดรวมอุบัติเหตุ 4 วันช่วงสงกรานต์ บาดเจ็บ 2,378 คน เสียชีวิต รวม 259 ราย กทม.มากที่สุด 9 ราย จากสาเหตุเมาแล้วขับ

ศปถ. สรุป ยอดรวมอุบัติเหตุ 4 วันช่วงสงกรานต์ บาดเจ็บ  2,378 คน  เสียชีวิต รวม 259 ราย กทม.มากที่สุด 9 ราย จากสาเหตุเมาแล้วขับ

วันที่ 15 เม.ย. พล.ท.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ส่วนงานการรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักเลขาธิการ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ แถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559 ว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เมษายน 2559ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์"สงกรานต์ปลอดภัยส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สร้างวินัยจราจร"พบว่าเกิดอุบัติเหตุ 555ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 78 ราย ผู้บาดเจ็บ 601คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ เชียงใหม่ 26 ครั้ง ส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 9 ราย และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด คือ นครราชสีมา 26 คน

ขณะที่ยอดอุบัติเหตุรวม 4 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-14 เม.ย. 2559 พบว่า เกิดอุบัติเหตุ 2,216 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 259รายผู้บาดเจ็บ 2,378 คน จังหวัดที่มีอุบัติสูงสุด คือ เชียงใหม่ 100ครั้งส่วนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 14 ราย และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด คือ เชียงใหม่ 104 คน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือการเมาสุรา ร้อยละ 39.82 รองมาการขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 32.07 ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือรถจักรยานยนต์ร้อยละ 78.83 รองลงมารถกระบะ ร้อยละ 10.84 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.32 บนถนนในอบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 38.74 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.58 ซึ่งผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 54.59

นอกจากนั้น ศปถ.ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,128 จุด มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,810 คนเรียกตรวจยานพาหนะ 673,762 คันมีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 112,617 รายไม่สวมหมวกนิรภัย 33,381 ราย และมีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 30,701 ราย

พล.ท.ธีรวัฒน์ เปิดเผยสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุหลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการป้องกันว่าเนื่องจากมีการใช้รถสูงขึ้นร้อยละ12 อีกทั้งมีการหลีกเลี่ยงเส้นทางหลักโดยใช้เส้นทางสายรองมากขึ้นจึงได้เน้นให้มีการตั้งด่านในเส้นทางสายรองและพื้นที่ชุมชนมากขึ้นโดยมีการตั้งด่านในพื้นที่ชุมชน 7 หมื่นหมู่บ้านใช้เจ้าหน้าที่กว่า 1 แสนคน เพื่อดูแลความปลอดภัย และลดอุบัติเหตุ

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งจุดบริการตามเส้นทาง ทั้งจุดพักรถ ซ่อมรถ และบริการน่ำดื่ม ขณะเดียวกันขอให้สื่อมวลชน และทุกคนช่วยกันรณรงค์ให้ผู้ขับขี่ เมาไม่ขับ มีน้ำใจ ปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่ขับรถเร็วเกินกำหนด