posttoday

แรงงานอาเซียนไม่ง่าย

01 พฤษภาคม 2559

ข้อตกลงเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือไปทำงานในประเทศกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศได้อย่างเสรี

โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

ข้อตกลงเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือไปทำงานในประเทศกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศได้อย่างเสรี ได้กำหนดครอบคลุม 8 อาชีพ และก็มีข่าวว่าอาจจะมีการเพิ่มจำนวนอาชีพขึ้นมาอีกในลำดับถัดไป สำหรับ 8 อาชีพที่มีข้อตกลงกันแล้วให้สามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานได้อย่างเสรี ได้แก่ วิศวกร (Engineering Services) พยาบาล (Nursing Services) สถาปนิก (Architectural Services) การสำรวจ (Surveying Qualifications) นักบัญชี (Accountancy Services) ทันตแพทย์ (Dental Practitioners) แพทย์ (Medical Practitioners) และอาชีพการบริการ/การท่องเที่ยว (Tourism)

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีทำได้ไม่ง่าย ปัจจัยสำคัญ คือ มาตรฐานของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกยังขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในขณะนี้

ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือระหว่างกันในอาเซียนจะสามารถทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะแรงงานฝีมือใน 7 วิชาชีพ ทว่าที่ผ่านมายังไม่เห็นการเคลื่อนย้ายของแรงงานกลุ่มนี้ชัดเจนนัก แต่เชื่อว่าในอนาคตจะเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานกลุ่มนี้มากขึ้นตามการขยายการลงทุนเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน

“เหตุผลที่ยังไม่เห็นการเคลื่อนย้ายแรงงานกลุ่มนี้ เพราะการย้ายของแรงงานกลุ่มนี้เข้าไปในแต่ละประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังมีข้อจำกัดที่แต่ละประเทศตั้งไว้อยู่ อีกทั้งแรงงานในกลุ่มวิชาชีพในประเทศอาเซียนเองก็ยังขาดแคลน แต่อนาคตอาจจะเห็นการเคลื่อนย้ายง่ายขึ้น โดยเฉพาะการย้ายเข้าไปยังประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวี” ธนวรรธน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ในอนาคตจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างถูกกฎหมายมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในส่วนของแรงงานไร้ฝีมือ เพราะจะมีการเคลื่อนย้ายระหว่างกันตามกฎกติกาและโควตาที่ตกลงกัน ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างผิดกฎหมายก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม แต่ก็จะมีสัดส่วนปริมาณที่ลดน้อยลง

อย่างไรก็ตาม อนาคตของแรงงานอาเซียนจะมีการไหลออกจากประเทศลดลง ขณะเดียวกันแรงงานต่างด้าวจะกลับถิ่นฐานเพิ่มมากขึ้น ภายหลังจากประเทศบ้านเกิดพัฒนาเศรษฐกิจจนเกิดการจ้างงานอย่างทั่วถึงผ่านโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและโครงการขยายเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งมีแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจมากกว่าประเทศไทยเกือบ 3 เท่า จนมีแนวโน้มที่จะเป็นกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจโตสุดในอาเซียน

สิ่งที่เกิดขึ้นอาจทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานพื้นฐาน โดยเฉพาะภาคก่อสร้างที่แบกรับภาระตามโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มากกว่า 20 โครงการ บนระยะเวลาแค่ 5 ปี  ในขณะที่แรงงานทักษะของอาเซียนจะกระจายตัวกันไปอยู่ตามประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ ในภูมิภาค แบ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมต้นน้ำอย่าง เมียนมา ลาว กัมพูชา และอุตสาหกรรมกลางน้ำอย่าง ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ ต้องระวังดูแลในเรื่องมาตรฐานของคนจากประเทศต่างๆ ในอาเซียนที่เข้ามาประกอบอาชีพทั้ง 8 อาชีพในไทยด้วยเช่นกัน เพราะอาจจะมีผู้มาจากประเทศอื่นที่มาประกอบอาชีพในไทยมีปัญหาความอ่อนด้อยในเรื่องมาตรฐาน ซึ่งถ้าดูแลไม่รอบคอบรัดกุมอาจก่อให้เกิดผลกระทบกับสังคมไทยในทางลบ และส่งผลต่อการประกอบอาชีพของคนไทยเอง