posttoday

พระพุทธศาสนาคือทุนอันยิ่งใหญ่ เพื่อพัฒนาประเทศไทย

01 พฤษภาคม 2559

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ศ.ดร.สมศักดิ์ ป.ธ.9) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง อ่านบทความ พระพุทธศาสนาอันยิ่งใหญ่

โดย...สมาน สุดโต

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ศ.ดร.สมศักดิ์ ป.ธ.9) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง อ่านบทความ พระพุทธศาสนาอันยิ่งใหญ่เพื่อพัฒนาประเทศไทย เรื่องพระสงฆ์ 4 ประเภท และปฏิปทา เขียนโดย นพ.ประเวศ วะสี รู้สึกพอใจที่เป็นเรื่องสร้างสรรค์ สรุปงานคณะสงฆ์ได้ครบทุกมิติ ขอให้นำมาเผยแพร่เพื่อให้ผู้ที่คิดในแง่ลบต่อคณะสงฆ์จะได้คิดทางบวก ผมจึงสรุปเพื่อความเหมาะสมของหน้ากระดาษ ดังนี้

นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส แบ่งพระสงฆ์ไทยเป็น 4 ประเภท ตามปฏิปทาและการบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ กัน ดังนี้

1.พระสงฆ์เชิงวัฒนธรรมแบบชาวบ้าน

หมายถึง พระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่เป็นลูกชาวบ้าน มีวิถีชีวิตแบบชาวบ้าน ในสายตาของคนสมัยใหม่ อาจจะเห็นว่าท่านมีความรู้น้อยไม่ทันสมัย แต่ถ้าเข้าใจหน้าที่เชิงวัฒนธรรมของวัดและพระสงฆ์ จะรู้ว่าท่านทำประโยชน์มหาศาล

นพ.ประเวศ อธิบายว่า คนสมัยใหม่ไม่เข้าใจความหมายและความสำคัญของคำว่า “วัฒนธรรม” คิดแต่ว่าเป็นศิลปวัตถุ หรือร้องรำทำเพลง แท้ที่จริง วัฒนธรรม หมายถึง วิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมที่กลุ่มชนนั้นอยู่ เป็นความผูกพันที่ยั่งยืน อบอุ่น มีพลัง มีปัญญาร่วม ที่เรียกว่า ภูมิปัญญา เพื่อจัดการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล วิถีชีวิตชุมชนหรือวิถีเชิงวัฒนธรรมจึงยั่งยืนมาได้ประมาณ 1 หมื่นปี

เนื่องด้วยไม่เข้าใจบทบาทเชิงวัฒนธรรมของวัด สังคมสมัยใหม่จึงเน้นความเป็นปัจเจกอย่างสุดโต่ง ชีวิตจึงว้าเหว่ มีความทุกข์ เครียด ผลคือฆ่าตัวตายมาก ในขณะเดียวกันความเสื่อมเสียทางศีลธรรมก็มีมาก ความยุติธรรมก็มีต่ำ คดีความเกี่ยวกับความยุติธรรมก็ล้นโรงล้นศาล จนระบบความยุติธรรมกลายเป็นระบบที่ไม่ยุติธรรม เทียบกับอดีตไม่ได้ที่ยังมีคนเฒ่าคนแก่ พระครู ปราชญ์ ชาวบ้าน ได้เข้ามาช่วยดูแล จึงอยู่ด้วยกันอย่างเป็นธรรมมีความสุข

นพ.ประเวศ จึงชี้ชวนให้ดูบทบาทวัดของชาวบ้านหรือของชุมชนในอดีตว่าเป็นศูนย์รวมที่ชาวบ้านมาพบปะหารือกัน มีงานในวัดก็ช่วยกันทั้งงานมงคลและอวมงคล บางวัดยังเป็นหอพักให้นักศึกษายากจนไม่ต้องจ่ายค่าหอพักแพง บางวัดรับเด็กยากจนมาบวชเณร ให้มีอาหารกิน มีโอกาสเล่าเรียนหนังสือ ส่วนเจ้าอาวาสบางรูปทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเหมือนจิตแพทย์ด้วย บทบาทของวัดและพระเป็นตาข่ายซ้อนคนที่จนสุดๆ ไว้ไม่ให้ย่ำแย่เกินไป เป็น Safety Net แค่นี้ก็จะเห็นว่าวัดและพระสงฆ์ทำประโยชน์มหาศาลเพียงใด

จึงอยากเห็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถเชิงบริหาร มาช่วยบริหารวัด แบ่งเบาภาระสมภาร เหมือนอนาถบิณฑิกเศรษฐีบริหารวัดเชตวัน นางวิสาขามหาอุบาสิกาบริหารวัดบุพพาราม พระเจ้าพิมพิสารบริหารวัดเวฬุวัน ซึ่งจะทำให้วัดเป็นสัปปายสถานและโบราณสถานอันอนุรักษ์ไว้ได้อย่างงดงาม ต่อไป

2.พระสงฆ์เชี่ยวชาญวิปัสสนากรรมฐาน

ขณะนี้ประชาชนสนใจการเจริญวิปัสสนากรรมฐานกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ พระสงฆ์ที่เชี่ยวชาญในวิปัสสนากรรมฐานจึงมีประโยชน์ยิ่งนัก ทั้งพระวิปัสสนากรรมฐานที่ฝึกกันเองตามสำนักต่างๆ และที่คณะสงฆ์จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ เช่น ที่เจ้าคณะใหญ่หนกลาง (หมายถึง สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม) เป็นประธานจัดอบรมรุ่นละ 1,000 รูป โดยมีทุนเล่าเรียนหลวงสนับสนุน ส่วนฆราวาสที่สอนวิปัสสนากรรมฐานก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องนี้ล้วนแต่เป็นสิ่งน่าสนับสนุน เพราะเป็นเรื่องที่ดี แนวโน้มใหญ่ขณะนี้คือมนุษย์และองค์กรต่างๆ จะเจริญสติกันมากขึ้นๆ จนพยากรณ์ได้ว่าโลกในอนาคตจะเป็นโลกแห่งการเจริญสติ

องค์กรต่างๆ จะประกาศตัวเป็นองค์กรเจริญสติ เช่น มหาวิทยาลัยแห่งการเจริญสติ บริษัท แห่งการเจริญสติ ฯลฯ การที่พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบการเจริญสติและนำมาทรงสอนไว้อย่างพิสดาร จึงเป็นเทคโนโลยีที่มีคุณมหาศาลต่อมนุษยชาติ ฉะนั้นพระสงฆ์ผู้เชี่ยวชาญวิปัสสนากรรมฐานยิ่งมีมากทั้งจำนวนและคุณธรรมยิ่งดีนัก

3.พระสงฆ์นักวิชาการและพัฒนา

นพ.ประเวศ ชื่นชมและตั้งความหวังกับพระสงฆ์ในประเภทที่ 3 คือพระสงฆ์นักวิชาการและพัฒนา ที่มีฐานความรู้สูง มีประสบการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะพระสงฆ์นักวิชาการและพัฒนานี้ เข้าใจความสำคัญของพระสงฆ์ประเภทที่ 1 ประเภทที่ 2 และประเภทที่ 4 ซึ่งจะกล่าวต่อไป ที่ท่านเชื่อมโยงทั้งคณะสงฆ์และฆราวาสเพื่อการพัฒนา โดยมีหลักธรรมเป็นฐาน ทำได้แบบนี้ทุกท่านจะเป็นทุนอันยิ่งใหญ่ทางพระพุทธศาสนาเพื่อพัฒนาประเทศไทย และต่อโลกด้วย

4.พระผู้ใหญ่ หรือพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์สูง

พระผู้ใหญ่มีอาวุโสมีประสบการณ์สูง มีลูกศิษย์ลูกหาที่เคารพนับถือมาก ดำรงตำแหน่งบริหาร เช่น เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ถ้าท่านให้การสนับสนุนกิจการใด กิจการนั้นจะมีพลังขับเคลื่อนมากขึ้น

นพ.ประเวศ กล่าวว่า ถ้าพระสงฆ์ทั้ง 4 ประเภท ทำหน้าที่อย่างเชี่อมโยงสร้างสรรค์ และเชื่อมโยงกับชุมชุนและสังคม บนพื้นฐานเข้าใจความเป็นจริงของสังคม พระพุทธศาสนาก็จะเป็นทุนอันยิ่งใหญ่เพื่อพัฒนาประเทศไทย ขอแต่มีกลไกการเชื่อมโยงสร้างสรรค์ เข้ามาช่วยเท่านั้น

( สรุปจากบทความพระสงฆ์ 4 ประเภท และปฏิปทา โดย นพ.ประเวศ วะสี จากหนังสือ พระพุทธศาสนาทุนอันยิ่งใหญ่เพื่อพัฒนาประเทศไทย)