ไฟไหม้ป่าพรุโต๊ะแดงยังน่าห่วง เตรียมขอฮ.ช่วยดับเพิ่ม
นราธิวาส - เจ้าหน้าที่ยังระดมกำลังดับไฟป่าพรุโต๊ะแดงต่อเนื่อง เตรียมประสานขอเฮลิคอปเตอร์ช่วยดับเพิ่ม
นราธิวาส - เจ้าหน้าที่ยังระดมกำลังดับไฟป่าพรุโต๊ะแดงต่อเนื่อง เตรียมประสานขอเฮลิคอปเตอร์ช่วยดับเพิ่ม
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. นายเถกิงศักดิ์ ยกศิริ รอง ผวจ.นราธิวาส นายสุพจน์ เพลิดพริ้ง ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่6 จ.สงขลา นายณรงค์พล หมึกทอง ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่6สาขาปัตตานี นายปรีชา นวลน้อย นายอำเภอสุไหงโกลกและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมประชุมเพื่อปรับแผนการทำงานในการดับไฟป่าที่ป่าพรุโต๊ะแดง เขตรอยต่อระหว่าง อ.สุไหงปาดีกับ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส โดยนำบทเรียนการดับไฟไหม้ป่าที่มีช่องโหว่ จนเจ้าหน้าที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไฟไหม้ป่าได้ โดยเฉพาะจุดด้านทิศใต้ของมัสยิดบ้านบาโงซรายอ ม.1 ต.ปาเสมัส ที่ปัจจุบันถือว่ามีสถานการณ์ที่เกิดไฟไหม้ป่ารุนแรงที่สุด และมีแนวโน้มต้นเพลิงที่คุกรุ่นชั้นใต้ดินจะขยายวงกว้าง ซึ่งในแต่ละวันจะเกิดไฟลุกลามขยายวงกว้าง ประมาณ 50 ถึง 60 เมตร
ทั้งนี้จะมีการปรับแผนโยกเครื่องสูบน้ำระยะไกล มาทำการสูบน้ำเข้าไปยังจุดที่เพลิงไหม้ เพื่อให้ผืนป่ามีความชุ่มชื้นก่อนที่จะส่งชุดเสือไฟ นำเครื่องสูบน้ำแบบหาบหามทำการสูบน้ำจากแหล่งน้ำที่รถแบคโฮได้ขุดไว้ เพื่อเข้าดับไฟที่ต้นตอจุดเพลิงไหม้ซ้ำ
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ได้ขอสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์แบบ เอ็ม.17 จาก จ.ลพบุรี อีก1 ลำ ที่มีสมรรถนะในการตักน้ำดับไฟครั้งละ 3,500 ลิตร มาร่วมดับไฟไหม้ป่ากับเฮลิคอปเตอร์อีก 3 ลำ ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถยับยั้งต้นเพลิงที่ลุกลามอยู่ในป่าได้
อย่างไรก็ตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ยังคงพบกับอุปสรรคที่สำคัญคือ เรื่องของกระแสลมที่พัดแรง รวมทั้งการเร่งใช้รถแบคโฮในการทำแนวกันไฟ ซึ่งมีระยะทางยาว ประมาณ 5 ก.ม. เริ่มต้นจากบ้านคลองช้าง ม.7 ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จรดบ้านบาโงซรายอ ม.1 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโกลก ซึ่งแล้วเสร็จไปแล้วประมาณ 3 ก.ม. จึงจะมาบรรจบกันเป็นแนวกันไฟ เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟได้ลุกลามเข้าพื้นที่ป่าพรุชั้นใน แต่ต้องพบกับอุปสรรคที่ทำให้งานต้องล่าช้าลงไปอีก คือ รถแบคโฮของเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังเร่งขุดแนวกันไฟเกิดติดหล่มในป่าพรุบ้านบาโงซรายอ เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้รถแบคโฮอีก 1 คัน ในการกู้รถแบคโฮขึ้นจากหลุม
ในส่วนของการทำฝนหลวงของศูนย์ฝนหลวงภาคใต้ ก็ยังคงมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยในแต่ละวันเจ้าหน้าที่ต้องมีการต้อนก้อนเมฆจากพื้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อทำการโจมตีให้ฝนมาตกในพื้นที่จุดเกิดเหตุเพลิงไหม้ป่า แต่ฝนก็ไม่สามารถตกลงตามเป้าหมาย เนื่องจากกระแสลมที่พัดได้เปลี่ยนทิศทางฝนไปตกในพื้นที่อำเภอใกล้เคียง