posttoday

ปลูกป่า ปลูกรักในใจคน

05 มิถุนายน 2559

พอผ่านพ้นหน้าร้อนและก้าวเข้าสู่หน้าฝน กิจกรรมสุดฮิตสำหรับคนมีจิตอาสาคือการปลูกป่า ช่วงนี้มีกิจกรรมปลูกป่า

โดย...ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ เครือข่ายพุทธิกา http://www.budnet.org

พอผ่านพ้นหน้าร้อนและก้าวเข้าสู่หน้าฝน กิจกรรมสุดฮิตสำหรับคนมีจิตอาสาคือการปลูกป่า ช่วงนี้มีกิจกรรมปลูกป่าที่โดดเด่นหลายพื้นที่ เช่น การฟื้นฟูพื้นที่ที่ถูกไฟป่าทำลายที่ภูหลง อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ และ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ หรือการฟื้นฟูเขาหัวโล้นจากการแผ้วถางป่าเพื่อปลูกพืชเกษตรที่ จ.น่าน

นอกเหนือจากความโด่งดังอันเนื่องมาจากลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ เช่น ที่ภูหลง ชัยภูมิ เป็นที่รู้จักในฐานะวัดและป่าที่มีผู้นำอย่างพระไพศาล วิสาโล เป็นตัวตั้งตัวตีดับไฟป่าและฟื้นฟูป่า ดอยหลวงเชียงดาวเป็นพื้นที่ที่มีชาวบ้านร่วมกันดับไฟป่าจนมีคนเสียชีวิต หรือที่ จ.น่าน ที่มีนักร้องชื่อดังประกาศตัวเป็นผู้นำการปลูกป่า สิ่งที่โด่งดังพอกันคือเสียงวิพากษ์วิจารณ์วิธีการปลูกป่าจนกลายเป็น “ดราม่าปลูกป่า” บ้างว่าไม่ควรปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง บ้างว่าควรปลูกแต่ต้องให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เป็นต้น

ในที่นี้ผู้เขียนจะขอพักเรื่องดราม่าปลูกป่าไปสู่ประสบการณ์ตรงจากการลงพื้นที่ปลูกป่าด้วยตัวเอง เนื่องด้วยเมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมกิจกรรม “หยอดถั่วทั่วภู ฟื้นฟูป่าภูหลง” ซึ่งตีความจากชื่อการหยอดถั่ว แต่เมื่อไปร่วมกิจกรรมจึงรู้ว่าการหยอดถั่วเป็นแค่กิจกรรมเริ่มแรกที่ผู้จัดตั้งชื่อเพื่อให้จำง่ายและคล้องจอง แท้จริงมีการหยอดเมล็ดพันธุ์ไม้ป่ายืนต้นด้วย และนอกจากนี้ยังจะมีกิจกรรมฟื้นฟูอื่นๆ ตามมาเป็นซีรี่ส์ประจำเดือน เช่น การปลูกกล้วยเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดิน และการปลูกไม้ป่ายืนต้นอื่นๆ

ผู้เขียนเลือกไปที่นี่เพราะเคยไปรับความสงบร่มเย็นจากป่าผืนนี้เมื่อครั้งไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่ามหาวัน เมื่อป่าแห่งนี้ถูกไฟป่าเผาผลาญ ก็อยากไปดูสภาพความจริงให้เห็นกับตา และเมื่อเห็นก็ตกใจและสะเทือนใจยิ่งกว่าการเห็นภาพทางสื่อ...ป่าสีเขียวทึบที่เคยเห็นกลายเป็นภูเขาหัวโล้นต้นไม้และเถ้าถ่านสีเทาดำสุดหูสุดตา

การมาครั้งนี้ยังเห็นถึงพลังอันยิ่งใหญ่และมรรคผลที่เกิดขึ้นที่นอกเหนือจากการปลูกป่าเพื่อให้ได้ป่ากลับคืนมา นั่นคือเห็นถึงความตั้งใจของคนตัวเล็กๆ ที่มีจุดเริ่มต้นจากการเห็นข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียและสารคดีพระดับไฟป่า ที่เผยแพร่ออกมาเป็นระยะและทันทีทันใด ส่งผลให้ผู้คนมากมายจากทั่วสารทิศสมัครมาร่วมกิจกรรมเกินความคาดหมาย ทั้งๆ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเองและพบกับความยากลำบากสารพัด

ในวันปลูกป่าผู้เขียนได้พบปะและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้คนหลากหลาย เมื่อเห็นข่าวไฟป่าและพระช่วยกันดับไฟ “หนุ่ย” หญิงสาวที่ยังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นขอให้ผู้เป็นพ่อขับรถระยะทางนับร้อยกิโลเมตรมาส่งแล้วกลับไป ส่วนเธอกางเต็นท์นอนคนเดียวในพื้นที่ที่จัดให้ เธอบอกว่าเมื่อเห็นป่าที่ถูกไฟเผากลายเป็นเถ้าถ่านสีเทาและสีดำทำให้รู้สึกเศร้าใจยิ่งกว่าเห็นตามสื่อต่างๆ ยิ่งเมื่อได้ลงมือหยอดถั่วและเห็นความตั้งใจจริงและมิตรภาพของผู้คนนับร้อยนับพัน เธอรู้สึกถึงความประทับใจและคิดว่าจะทุ่มเทช่วยฟื้นฟูป่าที่นี่และที่อื่นๆ ต่อไปหากมีโอกาส

หนุ่มสาวอีกคู่หนึ่งชวนกันขับรถมาจาก จ.สิงห์บุรี เพราะเคยมาปฏิบัติธรรมที่วัดป่าสุคะโต จึงอยากมาช่วยปลูกป่า เมื่อถึงก็พบเรื่องน่าประหลาดใจ พวกเขาพบเด็กหนุ่มที่อยู่หมู่บ้านเดียวกันที่ขับรถมอเตอร์ไซค์มาโดยลำพังระยะทางหลายร้อยกิโลด้วยเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อฟื้นฟูป่า

ส่วนชายหนุ่มเจ้าของรถโฟร์วีลเล่าให้ฟังขณะพาคนปลูกป่าลงจากแปลงปลูกกลับสู่ที่พักว่าเขาและเพื่อนๆ จากกลุ่มออฟโรด 22 น. นำรถมาร่วม 8 คัน โดยวางแผนว่าเมื่อขนคนเสร็จก็จะขนน้ำดื่มเย็นๆ ไปบริการคนปลูกป่าถึงจุดพักตามแปลงปลูกต่างๆ แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องสภาพถนนที่ไม่สามารถขับรถสวนทางได้ และคนปลูกป่าจำนวนมากมหาศาลทำให้ไม่สามารถขับรถไป-กลับเพื่อส่งเครื่องดื่มได้ ทำให้เขารู้สึกว่ายังทำได้ไม่เต็มที่ และหากมีกิจกรรมปลูกป่าลักษณะนี้อีกก็จะกลับมาอีก

ขณะนั่งรอรถโฟร์วีลขึ้นมารับบนแปลงปลูกสูงสุดและไกลสุด ผู้เขียนยังได้คุยกับคุณป้าชาวบ้านในพื้นที่สองคนที่แต่งตัวทะมัดทะแมงมือถือเสียมด้ามใหญ่ ขณะที่คนหยอดถั่วคนอื่นๆ จะถือไม้ไผ่ปลายแหลม คุณป้าบอกว่าหากรถขึ้นมารับไม่ได้ก็เดินกลับได้ เพราะขึ้นมาที่นี่บ่อย ตอนไฟไหม้ป่าก็มาช่วยกันดับ “ไม่เหนื่อยเลย” แน่นอนว่าจากกรณีนี้คนในพื้นที่ที่รู้เห็นและมีส่วนร่วมต้านภัยจากไฟป่า ย่อมจะเกิดจิตสำนึกรักและหวงแหนป่าโดยไม่จำเป็นต้องให้มีคนนอกมาบอก

ไม่มีประโยชน์ที่จะก่นด่าคนจุดไฟหรือร่ำร้องถึงความอุดมสมบูรณ์ในอดีต เพราะสิ่งนี้ได้เกิดขึ้นและผ่านไปแล้ว สิ่งที่พวกเราสามารถทำได้ในวันนี้คือการฟื้นฟูดูแลให้ป่าผืนนี้กลับมาให้ร่มเงาและประโยชน์กับผู้คนอีกครั้ง ท่ามกลางหายนะภัย สิ่งดีงามมักปรากฏ ขอเพียงแค่เราพาตัวเองไปร่วมประสบการณ์ตรงและมองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าด้วยสายตาที่สร้างสรรค์และมีความหวัง ก็จะมีสิ่งที่ดีงามก่อเกิดขึ้นในใจเรา

คงเป็นดังที่พระไพศาล วิสาโล กล่าวในการต้อนรับคนปลูกป่าว่า การปลูกป่าไม่ใช่แค่การเยียวยาป่า แต่เป็นการเยียวยาจิตใจคนปลูกป่าด้วย กล่าวคือขณะปลูกป่าก็ได้เรียนรู้ใจตัวเอง ได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงของผืนป่าเทียบเคียงกับอนิจจังความไม่เที่ยงของชีวิต และเมื่อเราอยู่ใกล้ป่าที่ถูกทำร้ายและต้องการความช่วยเหลือความเมตตากรุณาจะเกิดขึ้น

สุดท้ายขอสรุปว่า สิ่งสำคัญที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากครั้งนี้คือ การนั่งดูเหตุการณ์และวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อ และการพาตัวเองไปพบกับประสบการณ์ตรงในพื้นที่ให้ความรู้สึก ความหมาย และคุณค่าต่อชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง