เทคโนเวิลด์
วารสารไซน์สตีพิมพ์ผลการวิจัย พบว่า ชั้นโอโซนบริเวณทวีปขั้วโลกใต้เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น
ผลวิจัยชี้ช่องโหว่ชั้นโอโซนเริ่มฟื้นตัว
วารสารไซน์สตีพิมพ์ผลการวิจัย พบว่า ชั้นโอโซนบริเวณทวีปขั้วโลกใต้เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น จากการสำรวจโดยบอลลูนตรวจสอบสภาพอากาศ ดาวเทียม และการสำรวจภาคพื้นดิน โดยช่องโหว่ของชั้นโอโซนในบริเวณดังกล่าวมีขนาดลดลงราว 4 ล้านตารางกิโลเมตร หรือเทียบเท่าประเทศอินเดียทั้งประเทศ ซึ่งเล็กกว่าขนาดที่เคยบันทึกไว้เมื่อปี 2000 ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ขนาดช่องโหว่ที่ลดลงเป็นผลมาจากการห้ามใช้สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (ซีเอฟซี) ซึ่งเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ดี ซูซาน โซโลมอน นักวิจัยชาวสหรัฐ ระบุว่า แม้ทั่วโลกโดยเฉพาะอินเดียและจีนจะลดการใช้สารซีเอฟซี แต่สารดังกล่าวยังคงตกค้างอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการสลายตัวนาน 50-100 ปี ยิ่งไปกว่านั้นการปะทุของภูเขาไฟยิ่งส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของชั้นโอโซน เนื่องจากสารกำมะถันจากการปะทุของภูเขาไฟจะทำให้เกิดสภาพทางเคมีที่เหมาะสมสำหรับการก่อตัวของสารซีเอฟซีในชั้นบรรยากาศ
ยุโรปตั้งเป้าอีก 15 ปี ส่งมนุษย์ไปดาวอังคาร
องค์การอวกาศยุโรป (อีเอสเอ) เปิดเผยว่า อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 ปี ในการส่งมนุษย์ไปยังดาวอังคาร แต่ยังคงมีความเป็นไปได้หากมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้ากว่าในระดับปัจจุบัน โดยการส่งมนุษย์ไปอาศัยอยู่บนดวงจันทร์อย่างถาวร ถือเป็นก้าวแรกในการสำรวจดาวอังคาร ทั้งนี้อีเอสเอกำลังพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ภาพ 3 มิติ ที่สามารถเปลี่ยนก้อนหินให้เป็นเครื่องใช้จำเป็น ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานถึง 2 ปีในการพัฒนา ด้านองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซ่า) ร่วมกับ อีลอน มัสก์ ประธานเทสลา มอเตอร์ ผู้ผลิตยานยนต์สหรัฐ และสเปซเอ็กซ์ บริษัทขนส่งอวกาศเชิงพาณิชย์ เล็งส่งนักบินอวกาศคนแรกสำรวจดาวอังคารในปี 2030 โดยจะเริ่มส่งยานอวกาศไร้คนขับไปประจำการยังดาวอังคารในปี 2018 ก่อนจะส่งมนุษย์ไปอยู่อาศัยอย่างถาวรในปี 2030 ทั้งนี้ยานอวกาศที่จะเดินทางไปยังดาวอังคารต้องสามารถสำรองเชื้อเพลิงสำหรับการเดินทางไปและกลับ อีกทั้งยังต้องมีการออกแบบชุดอวกาศใหม่เพื่อป้องกันอันตรายทางกายภาพและด้านจิตใจจากรังสีบนดาวอังคารที่มีความเข้มข้นสูง
เล็งใช้เซลล์ผิวหนังมนุษย์แทนสัตว์ทดลอง
เคธี เทย์เลอร์ ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ของศูนย์ต่อต้านการทดลองสัตว์ระหว่างประเทศ ระบุว่า โครงการ เอ็กซ์เซลล์อาร์ 8 ของ แคโรล เทรชเชอร์ นักวิทยาศาสตร์หัวหน้าโครงการ จะเป็นการพลิกโฉมหน้าการใช้สัตว์เพื่อทดลองเครื่องสำอาง โดยโครงการดังกล่าวศึกษาการใช้เนื้อเยื่อจากผิวหนังของมนุษย์ที่ได้จากการบริจาคจากคนไข้ที่เข้ารับการทำศัลยกรรม ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์และเครื่องสำอางแทนการใช้สัตว์ ซึ่งสามารถแสดงผลการทำปฏิกิริยากับสารเคมีได้ดีกว่า และครอบคลุมทุกส่วนของร่างกายทั้งแขน ขา และเท้า อย่างไรก็ดีการใช้ผิวหนังมนุษย์ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถแสดงผลที่เกิดขึ้นกับอวัยวะภายในได้ จึงยังคงต้องใช้ตับของหนูในการสะกัดเซรุ่มโรควัวบ้า ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมามีการรณรงค์งดใช้เครื่องสำอางที่มีการใช้สัตว์ทดลอง โดยเฉพาะในทวีปยุโรป ทว่าประเทศส่วนใหญ่กว่า 80% รวมถึงสหรัฐ ยังคงใช้สัตว์เป็นตัวทดลองทางวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับจีนที่มีกฎว่า เครื่องสำอางใดๆ ก็ตามที่จะวางขายในท้องตลาด ต้องมีการทดลองกับสัตว์ก่อน
ออกกำลังกายหลังเรียนรู้ 4 ชั่วโมง ฟื้นความจำ
วารสารด้านชีววิทยา เคอร์เรนท์ ไบโอโลจี ตีพิมพ์ผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ พบว่า การออกกำลังกายหลังการเรียนรู้ราว 4 ชั่วโมง จะช่วยพัฒนาสมอง ความจำ และกระบวนการคิดของสมองได้ กิลแลง เฟอร์นันเดซ ศาสตราจารย์ประจำสถาบันด้านสมอง การรับรู้ และพฤติกรรมมนุษย์ดอนเดอร์ส ในเนเธอร์แลนด์ ระบุว่า เด็กนักเรียนที่เล่นกีฬาหลังเลิกเรียนจะมีผลการเรียนและความจำที่ดีกว่า นอกจากนี้จากการทดลองกลุ่มตัวอย่าง 72 คน ด้วยการจ้องมองภาพ 90 ภาพ ที่จะปรากฏขึ้นทีละภาพ เป็นเวลานาน 40 นาที โดยผู้ร่วมทดลองต้องจำว่าแต่ละภาพปรากฏตรงบริเวณใดของหน้าจอ โดยภายหลังจากการแสดงภาพ นักวิทยาศาสตร์ได้แบ่งกลุ่มทดลองเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกจะออกกำลังกายทันที กลุ่มที่สองออกกำลังกายหลังจ้องภาพราว 4 ชั่วโมง และกลุ่มที่สามไม่ออกกำลังกาย ซึ่งจากการทดลองดังกล่าว พบว่า กลุ่มทดลองกลุ่มที่ 2 มีความจำดีขึ้นเฉลี่ย 10%