สพฉ.แนะ9ขั้นตอนใช้งานสายด่วน 1669
เลขาสพฉ.ย้ำกระบวนการทำงานสายด่วน 1669 แนะ 9 ขั้นตอนในการใช้งานประชาชนสามารถโทรขอรับบริการได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
เลขาสพฉ.ย้ำกระบวนการทำงานสายด่วน 1669 แนะ 9 ขั้นตอนในการใช้งานประชาชนสามารถโทรขอรับบริการได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ออกมาชี้แจ้งกรณีที่มีการส่งต่อข้อมูลในโลกออนไลน์ถึงการทำงานของสายด่วน 1669 ว่า ตามหลักของการทำงานของสายด่วน 1669 นั้นเมื่อมีประชาชนโทรเข้ามาเพื่อขอรับบริการผ่านสายด่วน 1669 เจ้าหน้าที่จะประเมินอาการว่าเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือไม่ และเมื่อเข้าข่ายอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินก็จะรีบประสานให้รถโรงพยาบาลหรือรถกู้ชีพที่อยู่ในพื้นที่ไปรับผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้และพร้อมรับโดยเร็วที่สุด ซึ่งการรับผู้ป่วยนั้นรถพยาบาลจะทำตามคำสั่งของศูนย์สื่อสารสั่งการเท่านั้นและจะไม่รับส่งข้ามเขตเพราะผู้ป่วยฉุกเฉินที่ถูกส่งต่อผ่านสายด่วน 1669 นั้นเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ และพร้อมรับอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันท่วงทีต่อการรักษาชีวิตผู้ป่วย ซึ่งหากส่งผู้ป่วยถึงมือแพทย์ช้าก็จะทำให้เสี่ยงต่อชีวิตของผู้ป่วยเองได้ โดยเมื่อเจ้าหน้าที่ส่งผู้ป่วยฉุกเฉินถึงโรงพยาบาลแล้วก็เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลนั้นที่จะทำการรักษาจนพ้นวิกฤตแล้วจึงจะพิจารณาส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยมีสิทธิหรือมีประวัติในการรักษาอยู่ก่อนแล้ว หรือ ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยต้องการเองได้ต่อไป
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวเพิ่มเติมถึงการทำงานของสายด่วน 1669 อีกว่า การทำงานของสายด่วน 1669 ในแต่ละจังหวัดจะมีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ ของหมายเลข 1669 โดยเมื่อประชาชนแจ้งเหตุเข้ามาไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดไหนก็จะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการของทุกจังหวัดคอยให้บริการ โดยการให้บริการเจ้าหน้าที่จะรับสายและสอบถามรายละเอียดเบื้องต้นว่าเหตุเกิดที่ใด มีจำนวนคนเจ็บเท่าไหร่ อาการเป็นอย่างไร และบอกวิธีในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จากนั้นก็จะประเมินอาการของผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยฉุกเฉินว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินประเภทไหนและจะส่งรถประเภทใดออกไปรับ ซึ่งผู้ป่วยฉุกเฉินที่จะต้องส่งรถออกไปรับอย่างเร่งด่วนคือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งมีภาวะคุกตามต่อชีวิตที่ต้องให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน มิเช่นนั้นผู้ป่วยจะเสียชีวิตหรือพิการอย่างถาวรในเวลาไม่กี่นาที อาทิผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้น หยุดหายใจ ภาวะช็อคจากการเสียเลือดรุนแรง ชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว ซึมหมดสติไม่รู้สึกตัว มีเลือดออกมากอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา เจ็บหน้าอกรุนแรงจากหลอดเลือดหัวใจตีบตันที่มีความจำเป็นต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือด หรือผู้ป่วยที่มีอาการทางสมองจากหลอดเลือดสมองตีบตัน
สำหรับขั้นตอนในการแจ้งเหตุเบื้องต้นที่ประชาชนจะต้องจำให้ขึ้นในมีดังนี้
1. เมื่อพบผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือผู้ประสบอุบัติเหตุให้ตั้งสติ และโทรแจ้งสายด่วน 1669
2.ให้ข้อมูลลักษณะเหตุการณ์ ว่าเกิดอุบัติเหตุอะไร ประเภทใด หรือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินในลักษณะใด เช่น คนถูกรถชน รถชนกัน รถคว่ำ คนตกจากที่สูง มีบาดแผลขนาดใหญ่ ลึก มีเลือดออกมาก ห้ามเลือดไม่อยู่ ไฟฟ้าช็อต ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ได้รับสารพิษ ยาพิษ สัตว์มีพิษกัดต่อย หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่น หมดสติ มีอาการของภาวะช็อค เช่น หน้าซีด เหงื่อออก ตัวเย็น ซึมลง ชักเกร็ง ชักกระตุก เป็นไข้สูง ตัวร้อนจัด หนาวสั่น ตกเลือด เจ็บท้องคลอดฉุกเฉิน มีสิ่งแปลกปลอดอุดกั้นทางเดินหายใจ เจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย ถูกทำร้ายร่างกาย มีอาการทางจิตเวช เป็นต้น
3.บอกสถานที่เกิดเหตุ จุดเกิดเหตุ หรือจุดเด่นที่สำคัญที่สามารถเห็นชัด และเส้นทางที่สามารถไปถึงที่เกิดเหตุได้
4. บอกเพศ ช่วงอายุ จำนวนผู้บาดเจ็บ อาการรุนแรงของแต่ละคน
5. บอกระดับความรู้สึกตัวของผู้บาดเจ็บ
6.บอกความเสี่ยงซ้ำ เช่น อยู่กลางถนน เพราะอาจเกิดกรณีรถเหยียบซ้ำได้
7.ชื่อผู้แจ้งหรือผู้ให้การช่วยเหลือหรือเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้
8.แจ้งอาการผู้ป่วยเพิ่มเติม และช่วยเหลือตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ตามอาการผู้ป่วยฉุกเฉิน
9.รอชุดปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินมารับผู้ป่วยเพื่อนำส่งโรงพยาบาล
"การแจ้งข้อมูลเบื้องต้นของท่าน คือการช่วยเหลือขั้นแรกที่สำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีโอกาสรอดและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งหากท่านพบเห็นผู้ป่วยฉุกเฉินก็สามารถโทรแจ้งสายด่วน1669ได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมงทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย" นพ.อนุชา กล่าว