posttoday

เผยภาพวาดสมัยอยุธยา อายุกว่า 300 ปี

14 สิงหาคม 2559

ศาสตราจารย์บาส เทอวีล จากมหาวิทยาลัยฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมนี เปิดเผยภาพวาดสมัยอยุธยา อายุกว่า 300 ปี

โดย...ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล

ศาสตราจารย์บาส เทอวีล จากมหาวิทยาลัยฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมนี เปิดเผยภาพวาดสมัยอยุธยา อายุกว่า 300 ปี ในที่ประชุมสมาคมอนุรักษ์เอกสารโบราณและเครือข่าย ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อเร็วๆ นี้

ในที่ประชุม ประกอบด้วยนักวิชาการ และนักอนุรักษ์เอกสารโบราณทั่วโลก ศาสตราจารย์บาส เทอวีล กล่าวถึงภาพนี้ในหัวข้อ ศิลปะการร่างภาพ : ศิลปะอีกหนึ่งแขนงในเอกสารโบราณ โดยนำเอกสารโบราณ ซึ่งเป็นม้วนสมุดภาพความยาว 370 เซนติเมตร อายุกว่า 300 ปี ที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีมาบรรยาย นับเป็นครั้งแรกที่ทำให้คนไทยได้ทราบถึงเนื้อหา และลักษณะของเอกสารโบราณชิ้นนี้ผ่านการศึกษาวิจัยของผู้บรรยายศาสตราจารย์บาส เล่าว่า ความเป็นมาของสมุดภาพนั้น มิสเตอร์ อานัท เคลอร์ (Aernout Cleur) หัวหน้าสถานีการค้าดัตช์ ในสมัยอยุธยา สั่งให้ช่างไทยวาดภาพนี้ขึ้นในปี พ.ศ. 2247 (ค.ศ. 1704 ) และหลังจากเคลอร์เสียชีวิต ภาพดังกล่าวถูกส่งต่อไปยังกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ และในปี ค.ศ. 1716 ก็ตกไปอยู่ในการครอบครองของ August II, Elector of Saxony นับแต่นั้นมาเอกสารโบราณม้วนนี้ ถูกเก็บรักษาเป็นอย่างดีจนเวลาล่วงผ่านไปกว่า 300 ปี

เผยภาพวาดสมัยอยุธยา อายุกว่า 300 ปี พระเมรุมาศในสมัยอยุธยา

 

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮัมบวร์ก เล่าต่อว่า ภาพชิ้นนี้เป็นภาพกระบวนพระอิสริยยศ และกระบวนการพระเมรุของพระเพทราชา ซึ่งสวรรคตในปี พ.ศ. 2247 จากการศึกษาพบว่าช่างในสมัยนั้น มีเทคนิคการวาดที่ใช้ประโยชน์จากทิศทางการมอง (Perspective) ค่อนข้างมาก ทั้งนี้เป็นเพราะรายละเอียดในกระบวนพระเมรุมีมาก การแสดงให้เห็นรายละเอียดเหล่านั้นได้อย่างครบถ้วนต้องใช้การมองในหลายๆ มุม และช่างที่วาดภาพนี้ก็มีฝีมือและทักษะสูงมากจนสามารถนำเสนอแง่มุมต่างๆ ได้อย่างละเอียด ถือเป็นเอกสารโบราณที่สำคัญอีกหนึ่งชิ้นในแง่ที่ไม่ได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ใช้ภาพวาดขาว-ดำเป็นกุญแจที่ช่วยทำให้เราเข้าใจอดีตมากขึ้นนอกเหนือจากการบรรยายความรู้เชิงประวัติศาสตร์แล้ว

ในเวทีสัมมนายังมีหัวข้อสำคัญ ที่เกี่ยวกับระบบการเก็บรักษาเอกสารโบราณ โดยผู้เชี่ยวชาญคือ ดร.พิพ วิลค๊อกซ์ หัวหน้าศูนย์ดิจิทัลทางวิชาการ หอสมุดบ๊อดเลี่ยน มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่มาให้ความรู้ เรื่อง TEI: มาตรฐานสากลในการจัดทำแคตาล็อกเอกสารโบราณและการอธิบาย

เผยภาพวาดสมัยอยุธยา อายุกว่า 300 ปี เจตคุปต์และพระยายม

 

ดร.พิพ กล่าวว่า ระบบ TEI เป็นระบบสากลในการจัดทำบัญชีหรือรายการสืบค้นของเอกสารโบราณต่างๆ TEI เริ่มมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 โดยระบบนี้เหมาะสำหรับการอธิบายข้อความทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นข้อความบนเหรียญ ข้อความที่จารบนหินหรือใบลาน และข้อความที่บันทึกอยู่ในรูปอื่นๆ ที่สำคัญระบบ TEI เปิดกว้างให้กับทุกคน ไม่จำเป็นต้องเสียค่าธรรมเนียม ไม่จำเป็นต้องเสียค่าสมาชิก

หน่วยงานรัฐของไทยที่กำกับดูแลเรื่องนี้ อย่างกรมศิลปากร ได้ให้ความสำคัญกับการจัดสัมมนาโดย อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องภาพและงานเอกสารโบราณในประเทศไทย และชื่นชมที่สมาคมอนุรักษ์เอกสารโบราณ เข้ามาช่วยทำงานคู่ขนานกับกรมศิลปากร เพราะต้องช่วยกันปกป้องคุ้มครอง ไม่ให้เอกสารโบราณสูญหาย หรือถูกทำลาย เพื่อเก็บรักษาส่งต่อมรดกให้คนรุ่นต่อไปอนาคต

เผยภาพวาดสมัยอยุธยา อายุกว่า 300 ปี ผู้คุมราชรถอยู่ในท่าพนมมือ

 

ขณะผู้เขียน (ดร.พิบูลย์ ชุมพลไพศาล) อาจารย์ประจำภาควิชาพุทธศาสตร์เถรวาท มหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ในฐานะเลขาธิการสมาคมอนุรักษ์เอกสารโบราณ กล่าวสรุปภาพรวมของการจัดงานในครั้งนี้ว่า สมาคมอนุรักษ์เอกสารโบราณได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนศูนย์กลาง ประสานงานเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศให้ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนและทำงานร่วมกัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการที่จะต่อยอดและพัฒนางานด้านนี้ต่อไปในอนาคต

ด้าน บุญเลิศ เสนานนท์ นายกสมาคมอนุรักษ์เอกสารโบราณ กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานของสมาคมว่า หลังจากนี้สมาคมอนุรักษ์เอกสารโบราณ จะพยายามลงพื้นที่ดูงานตามวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อดูว่ามีความก้าวหน้าอย่างไร และมีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องช่วยเหลือหรือไม่

เผยภาพวาดสมัยอยุธยา อายุกว่า 300 ปี ดร.พิบูลย์ เลขาฯ สมาคมฯ และผู้เขียนเรื่องนี้

 

นอกจากแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการแล้ว ยังมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างสมาคมอนุรักษ์เอกสารโบราณ กับ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และสมาคมอนุรักษ์เอกสารโบราณ กับ สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เรื่องการทำงานวิชาการด้านเอกสารโบราณร่วมกัน

ในการเปิดงานสัมมนาวิชาการที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ นั้น ดร.ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม และสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นประธาน โดยมีนักวิชาการจากหลายประเทศทั่วโลก เช่น อังกฤษ เยอรมนี อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ศรีลังกา พม่า ลาว และกัมพูชาเข้าร่วม  ทั้งนี้เพราะไทยเป็นศูนย์รวบรวมเอกสารโบราณในรูปแบบของคัมภีร์ใบลาน ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ทว่ายังไม่ได้รับการอนุรักษ์อย่างถูกวิธี ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ สมาคมฯ จะเป็นแนวหน้าทำงานนั้นต่อไป

เผยภาพวาดสมัยอยุธยา อายุกว่า 300 ปี อาจารย์บาส ผู้เปิดเผยภาพเขียน สมัยอยุธยา อายุ 300 ปี