posttoday

"มีชัย" ยกรธน.ชั่วคราว ชี้ศาลรธน.ตีความขัดแย้ง

01 กันยายน 2559

“ประธานกรธ.”เตรียมปรับการทำงานศาลหลังตีกลับเอกสารร่างรัฐธรรมนูญ ยันขัด ม.37/1

“ประธานกรธ.”เตรียมปรับการทำงานศาลหลังตีกลับเอกสารร่างรัฐธรรมนูญ ยันขัด ม.37/1

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งร่างรัฐธรรมนูญกลับมายังกรธ.ว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ส่งคำสั่งให้ กรธ.ส่งใบมอบฉันทะ และสำเนาบัตรประชาชนของตน ซึ่งทาง กรธ.จะส่งเอกสารเหล่านี้ไปในภายหลัง และกรธ.จะได้ทำคำชี้แจงและแถลงข่าวถึงกรณีนี้ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่า กรธ.นั้นบกพร่อง และขอเรียนว่า กรธ.ได้ดำเนินการเซ็นเอกสารตามระเบียบราชการทุกประการ

นายมีชัย กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่ กรธ.ต้องนำไปเป็นข้อมูล เพื่อนำไปปรับแก้เรื่องการดำเนินการของศาลต่อไป เพราะขนาดตนที่เป็นนักกฎหมายยังถูกมองว่าเข้าใจผิด ดังนั้นประชาชนที่จะไปยื่นเรื่องต่อศาลนั้นก็คงจะลำบาก เพราะต้องยื่นเอกสารไป 2 - 3 รอบ ทั้งนี้ ขอเรียนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีองค์ประกอบภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นอุปสรรคเรื่องขั้นตอนทางราชการและเรื่องเวลาเท่านั้น

“ขั้นตอนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูญนั้นยังไม่ได้เริ่มนับหนึ่ง ทางศาลรัฐธรรมนูญมีความเข้าใจว่าเขามีสิทธิ์จะรับหรือไม่รับพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ ทั้งๆรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 นั้นระบุชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าศาลนั้นมีสิทธิหรือไม่ที่จะไม่รับพิจารณา”

ส่วนถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่รับพิจารณานั้นจะทำอย่างไรนั้น นายมีชัย ระบุว่า ตอนนี้ส่วนตัวยังตอบไม่ได้ แต่วันหลังคงตอบได้  ขอเรียนว่าการตีความของทางศาลรัฐธรรมนูญที่ตีเอกสารกลับมานั้น มีความขัดแย้งกับมาตรา 37 / 1 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ.คนที่ 1 ก็เป็นอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นได้มีการประสานกันกับทางศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ก็มีการคุยกัน นายสุพจน์ก็ได้แต่ส่ายหน้า

สำหรับความเห็นของสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เสนอกำหนดบทเฉพาะกาลให้มีการซ้อมการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศนั้น ยืนยันว่าคงไม่ได้ เพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง สส.และการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นคนละฉบับ

นอกจากนี้ การพูดคุยกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นั้น กรธ.ได้มีการคุยกับ กสม.ถึงเรื่องบทบาทกสม.ว่าควรจะมีมากน้อยแค่ไหน แต่ว่ายังไม่ได้ลงไปถึงรายละเอียดตรงนี้