จุดยืนพรรคการเมือง พร้อมปฏิรูปรับเลือกตั้งใหม่
สปท.ได้มีข้อเสนอปฏิรูปพรรคการเมืองเพื่อให้เกิดความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้นกว่าจากเดิม
โดย..ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์
หลังจากร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ผ่านการลงประชามติจากประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ เพื่อประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป ทว่า จากนี้ที่ต้องจับตาต่อไป คือ โหมดการเลือกตั้งตามโรดแมปในปลายปี 2560 แต่ก่อนถึงจุดนั้นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. ได้มีข้อเสนอปฏิรูปพรรคการเมืองเพื่อให้เกิดความยึดโยงกับประชาชนมากขึ้นกว่าจากเดิม และป้องกันพรรคตกอยู่ภายใต้การครอบงำจากนายทุนอย่างที่ผ่านๆ มา เฉกเช่นในอดีต
นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว ทว่า บางพรรคการเมืองทำไปไกลกว่านั้น และคนที่เสนอความคิดอาจไม่เคยได้สัมผัสพรรคการเมือง ไม่รู้ว่าพรรคการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งมาอย่างยาวนานทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง
นิพิฏฐ์ ยกตัวอย่าง ในแต่ละเขตควรจะมีสมาชิกพรรค 200-300 คน ส่วนตัวอยากบอกว่าพรรคประชาธิปัตย์บางเขตมีสมาชิกประมาณ 1 หมื่นคน ซึ่ง 1 หมื่นคนสำหรับสมาชิกในแต่ละเขตถือเป็นเรื่องปกติของพรรค อย่าพูดถึง 200-300 คน เพื่อมาทำกิจกรรม และพรรคก็หาสมาชิกมาตลอด และพรรคเลยมาหลายสิบเท่า
“การให้สมาชิกพรรค เสียค่าสมาชิกคนละ 200 บาท ส่วนตัวมองว่าจะเป็นปัญหา เพราะว่าเวลามีสมาชิกเป็นหมื่นคน เราบอกให้สมาชิกช่วยรณรงค์ ช่วยพรรคหาเสียง และช่วยสอดส่องดูแลไม่ให้มีการซื้อสิทธิขายเสียง และเขาก็อยู่ในกระบวนการช่วยพรรคหาเสียงรณรงค์ในแต่ละเขต และลำพังที่เขาออกไปใช้สิทธิไม่ขายเสียง ถือว่าเป็นบุญคุณมากแล้ว”
อย่างไรก็ตาม เมื่อสมาชิกช่วยพรรค ในการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่ต้องใช้เงินทอง แล้วมาบอกว่าเมื่อมาเป็นสมาชิกพรรค แล้วต้องมาเสียค่าบำรุงพรรคปีละ 200 บาท มองว่าไม่ค่อยมีเหตุผลกับสมาชิกเท่าไหร่
ขณะเดียวกัน สำหรับพรรคการเมืองใหม่ เวลาออกไปหาสมาชิก 300 คน เวลาไปรณรงค์บอกว่าคนที่จะมาเป็นสมาชิกต้องเสียเงิน 200 บาท แล้วจะไปหาสมาชิกพรรคที่ไหน ซึ่งทำยากมาก ดังนั้น กฎหมายที่ปฏิบัติไม่ได้อย่าควรออกมา และจะกลายเป็นการทำให้คนเลี่ยงกฎหมาย
นิพิฏฐ์ อธิบายว่า ส่วนผิดกฎหมายอย่างไรนั้น สมาชิก 300 คน เสียค่าบำรุงพรรคปีละ 200 บาท รวม 6 หมื่นบาท แต่แปลว่า สส.เป็นคนเสียค่าบำรุงพรรคเอง ดังนั้น จึงเสนอให้ประเด็นดังกล่าวอยู่ที่ความสมัครใจของสมาชิกดีกว่า
ด้าน สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า เป็นแนวคิดที่ดี แต่เรื่องยึดโยง ไม่ว่าพรรคการเมืองก็ต้องยึดโยงกับประชาชนอยู่แล้ว ซึ่งจะเห็นว่าบางพรรคมีสมาชิกตั้ง 10 ล้านคน 5-6 ล้านคน หรือ 1 ล้านคน การมีสมาชิกก็แสดงว่ายึดโยงกับประชาชน
ส่วนเรื่องการกำหนดแนวนโยบายของพรรคการเมือง ทุกพรรคจะกำหนดอะไรออกไปก็ต้องถามประชาชน และพรรคการเมืองไหนไม่ยึดโยงกับประชาชนก็อยู่ไม่ได้ ในระบอบประชาธิปไตยฐานประชาชนคือหัวใจสำคัญของพรรคการเมือง เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องเขียน ซึ่งทุกพรรคต้องทำแบบนี้อยู่แล้ว
“สำหรับการเก็บค่าสมาชิกปีละ 200 บาท ความยึดโยงอยู่ตรงไหน เพราะภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ประชาชนหาเงินกินข้าว หรือเงินที่จะมาเป็นค่าใช้จ่ายประจำวัน ก็ยังไม่มี แล้วจะมาให้พรรคการเมือง มันเป็นเรื่องเพ้อฝันมากกว่า ถ้าสภาวะเศรษฐกิจดี ประชาชนเต็มใจ น่าจะดีกว่า บางคนอาจบริจาคมากกว่า 200 บาทก็ได้”
สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า อย่างเมื่อก่อนนี้ เวลาใครเสียภาษี สรรพากรจะบอกเลขที่พรรคเพื่อให้เสียภาษีอยู่แล้ว มันอยู่ที่ความพร้อมประชาชน ดีกว่าไปบอกประชาชนซึ่งเป็นสมาชิกพรรคต้องมาเสียเงินบำรุงพรรค อย่าไปผลักภาระหรือสร้างปัญหาให้กับประชาชน
ทั้งนี้ ควรยึดของเดิมเพราะดีอยู่แล้ว คือ ประชาชนซึ่งเสียภาษีเลือกบริจาคให้กับพรรคการเมืองที่ตนเองชอบ ไม่ควรเร่งร้อนว่าประชาชนเป็นสมาชิกพรรคต้องเสียเงินค่าบำรุงพรรคเท่าไหร่ แค่ประชาชนเป็นสมาชิกพรรคและให้ความร่วมมือก็บ่งบอกอะไรให้เห็นแล้ว เพราะการยึดโยงไม่ได้อยู่ที่เงินแค่ 200 บาท บริจาคให้พรรค แต่อยู่ที่ความสัมพันธ์มากกว่า เช่น กำหนดนโยบายแล้วไปร่วมกิจกรรม ซึ่งถือเป็นการยึดโยงจริงๆ ไม่ใช่ยึดโยงด้วยเงิน
ขณะที่ ศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ให้ความเห็นว่า พรรคการเมืองก็ถือเป็นองค์กรที่ไม่ต่างจากองค์กรอื่นๆ ที่ต้องปรับปรุง ปรับตัวเอง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน แต่สิ่งที่เสนอมาและเท่าที่ฟังดู มันเป็นเรื่องที่ไม่ใช่แก่นของเรื่อง แต่เป็นเพียงกระพี้ หรือรูปแบบเท่านั้น ยังไม่ใช่เนื้อหา
“คำถามคือ สปท.หลายท่านที่เสนอ เคยเข้ามาอยู่ในพรรคการเมือง หรือดูและเห็นอะไรในพรรคการเมือง แล้วทราบถึงสภาพปัญหา หรือมองเพียงเปลือกนอก ต้องถามตรงนี้ก่อน”
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นพรรค การเมือง รัฐธรรมนูญมีแนวต้องการให้พรรคการเมืองเข้มแข็งหรือไม่ คำตอบคือไม่น่าจะใช่ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เสนอจึงสวนทางกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การศึกษาหรือเสนออะไรต้องดูคอนเซ็ปต์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันต้องการให้พรรคการเมืองแข็งแรงหรือเพียงต้องการแค่กดไว้
นอกจากนี้ คำถามคือว่าถ้าจะเสนอเข้ามาแล้วจะออกอย่างไรต่อ การปฏิรูปจะออกมาเป็นแบบไหน และ พ.ร.บ. พรรคการเมืองไม่ได้ทำให้เห็นว่า พรรค การเมืองต้องปฏิรูปอะไรตรงไหน ดังนั้น จึงไม่ต้องห่วงเพราะพรรคการเมืองรู้ตัวว่าต้องปฏิรูปตัวเองให้เป็นที่นิยมกับประชาชน ยิ่งกว่ารูปแบบหรือเปลือกที่กำลังนำเสนอ
อำนวย คลังผา อดีต สส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเสนอให้มีการปฏิรูปพรรคการเมืองโดยให้ยึดโยงกับประชาชนนั้น ซึ่งประเพณีปฏิบัติที่ผ่านมาก็ทำกันอยู่แล้วในการบำรุงพรรค และที่กำหนดมาก็เห็นด้วย แต่การห้ามให้ผู้สมัครใส่ซอง มองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่เห็นด้วย
“การห้ามผู้สมัครใส่ซองเวลาไปงานเป็นการขัดประเพณีไทยเราในการไปมาหาสู่ซึ่งเหมือนเป็นญาติ คนที่มีแนวคิดตรงนี้ เพราะไม่เคยพบประชาชน ไม่เคยลงเลือกตั้ง เขามีแต่แต่งตั้ง ไม่เคยลงพื้นที่ ไม่เคยสัมผัสหรือรับรู้ความเดือดร้อนประชาชน”
ส่วนเรื่องการบริจาคที่ผ่านมาก็มีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ไม่ได้จำกัดถือเป็นการระดมทุนพรรค และที่ผ่านมาก็มีเงินส่วนกลางจากรัฐบาลช่วยสนับสนุนส่วนหนึ่งในการทำกิจกรรม และการเสียค่าบำรุง 200 บาททำได้ เพราะพรรคไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ช่วยทำให้พรรคเข้มแข็งทุกคนมีส่วนร่วม คงไว้ก็ไม่น่าขัดข้อง