แรงงานพันธุ์ใหม่ ยุคไทยแลนด์ 4.0
การปฏิวัติระบบการทำงาน (Transformation) ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้จะทำให้เกิดแรงงานพันธุ์ใหม่
โดย...ทีมข่าวเศรษฐกิจโพสต์ทูเดย์
การปฏิวัติระบบการทำงาน (Transformation) ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้จะทำให้เกิดแรงงานพันธุ์ใหม่ที่จะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน จะต้องมีความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยี นำเอาไอทีเข้ามาใช้ในการทำงาน อีกทั้งจะต้องมีความรู้ในด้านภาษาอังกฤษที่ใช้งานได้ดี เพราะทุกอย่างของระบบไอทีใช้ภาษาอังกฤษในการปฏิบัติงาน ทุกบริษัทอาจจะต้องมีวิศวกร มีโปรแกรมเมอร์ประจำการด้วย
นพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัทจัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การแข่งขันในตลาดแรงงานยุคปัจจุบันถือว่าเข้มข้นกว่าในอดีตมาก ผู้หางานที่มีความสามารถโดดเด่นหรือมีความพิเศษย่อมเป็นที่ต้องการของทุกองค์กร เพราะหากได้คนเหล่านี้ไปร่วมงานก็เหมือนได้ฟันเฟืองที่แข็งแกร่ง พร้อมส่งเสริมการขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายได้
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องการพนักงานพันธุ์ใหม่ ได้แก่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การสื่อสารและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งพนักงานที่โดดเด่นหรือแตกต่างจากคนอื่น ย่อมไม่ได้เกิดจากปริมาณข้อมูลที่มีเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการรู้จักบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
ขณะที่การเปิดเสรีการค้า หรือการเกิดขึ้นขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เป็นอีกปัจจัยทำให้แรงงานไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือการแข่งขันที่สูงขึ้น นอกจากแข่งกับแรงงานในประเทศยังต้องแข่งกับแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามา และต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองมีศักยภาพไปทำงานต่างประเทศได้ อีกความท้าทายก็คือโครงสร้างประชากรและสังคมที่ไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ประชากรที่เป็นกำลังแรงงานลดลง เมื่อแรงงานไม่เพียงพอกับตลาด ทำให้คนทำงานที่มีอยู่ต้องปรับตัวสู่การเป็นพนักงานพันธุ์ใหม่
คุณสมบัติพิเศษของพนักงานพันธุ์ใหม่ในยุคนี้ ควรมี 7 คุณสมบัติสำคัญ ได้แก่ 1.ทันโลกทันเหตุการณ์ 2.ใช้เทคโนโลยีเป็น 3.มีทักษะด้านภาษา เพราะภาษาที่สองและสามกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทำงานที่ต้องการความก้าวหน้าไปแล้ว โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับองค์กรข้ามชาติ หรือองค์กรที่ต้องติดต่อกับชาวต่างชาติอยู่เสมอ หากมีทักษะภาษาดีจะช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพทำงานร่วมกันได้ราบรื่น สอดคล้องกับการสำรวจของจ๊อบส์ ดีบี เกี่ยวกับทักษะพื้นฐานที่จำเป็นมากที่สุดที่นายจ้างมองหา พบว่านายจ้างกว่า 62% เห็นว่าการมีทักษะด้านภาษาและการสื่อสารที่ดีมีความสำคัญมากที่สุด
4.จัดการข้อมูลได้ เพราะในยุค 4จี เราสามารถรับข้อมูลได้ตลอดทุกที่ ทุกเวลา เป็นไปได้ที่ข้อมูลที่เข้าถึงแต่ละวันมีมหาศาล ดังนั้นพนักงานยุคนี้ต้องมีความสามารถบริหารจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลได้ดี รู้จักเลือกรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ จัดการกับข้อมูลเหล่านั้นอย่างรู้คุณค่า 5.เป็นน้ำครึ่งแก้ว ควรเพิ่มพูนทักษะ พัฒนาตนเองสม่ำเสมอเพื่อสร้างโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ซึ่งข้อนี้จากการสำรวจของจ๊อบส์ ดีบี เกี่ยวกับคุณสมบัติที่นายจ้างมองหาเมื่อต้องการจ้างงาน พบว่านายจ้างกว่า 50% เห็นว่าความสามารถเปิดรับความรู้ใหม่และพัฒนาตนเองได้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องการ
6.ปรับตัวได้ดี เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา คนที่ยอมรับและเตรียมปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ จะยืนหยัดและฝ่าฟันวิกฤตทั้งในชีวิตและการทำงานได้ และ 7.มีความสามารถหลากหลาย หรือมัลติ ทาสกิ้ง เพราะในเวลาที่องค์กรขาดแคลนพนักงานหรือมีการโยกย้ายงาน พนักงานที่มีทักษะหลากหลายย่อมได้เปรียบกว่าพนักงานที่ทำได้อย่างเดียว
กูเกิล เป็นตัวอย่างหนึ่งขององค์กรที่มีแรงงานพันธุ์ใหม่เข้าไปอยู่ด้วย พรทิพย์ กองชุน อดีตหัวหน้าฝ่ายการตลาดกูเกิล ประเทศไทย ได้เล่าถึงการสัมภาษณ์งานเพื่อเข้าสู่องค์กรไอทีอย่างกูเกิลว่า แนวคิดในการรับคนเข้าทำงานคือ ต้องสามารถทำงานตามตำแหน่งที่บริษัทต้องการได้ไหม ทั้งประสบการณ์และความสามารถมีแนวคิดและทัศนคติในการทำงาน วิธีการแก้ไขปัญหา ต้องคิดเชิงกลยุทธ์และแก้ปัญหาได้
นอกจากนี้ ต้องมีความสามารถในการเป็นผู้นำได้หรือไม่ คิดค้นสิ่งใหม่ๆ เพื่อทำให้งานสำเร็จได้ และข้อนี้สำคัญมาก ถ้าผ่านทั้ง 3 ข้อแรก แต่ข้อนี้ไม่ผ่านก็ไม่ได้ไปต่อ นั่นคือเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้หรือไม่ คือมีความเป็นกูกรี (Googlee) หรือไม่ ถ้าเข้ากันไม่ได้ก็เป็นเรื่องยาก เพราะทุกตำแหน่งต้องทำงานร่วมกันได้
พรทิพย์ กล่าวว่า เรื่องของภาษาก็เป็นสิ่งสำคัญมาก ทำให้องค์กรในกูเกิลส่วนใหญ่จะมีเด็กจบนอกเป็นส่วนมาก เพราะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารและทำงานกับทุกแผนกทำให้ได้คนไทยที่จบจากไทยจริงๆ น้อยมาก เพราะกูเกิลมองว่าถ้าผ่านเรื่องภาษาไม่ได้ก็จะทำงานกับคนอื่นยากจึงกลายเป็นข้อจำกัดที่สำคัญมาก แม้ว่าจะมีคนไทยพูดภาษาอังกฤษได้ก็ต้องใช้ภาษาสวยๆ ในการคิดและตอบคำถามได้ ซึ่งเวลาเจอคำถามจากผู้สัมภาษณ์กว่าจะคิดคำแปลและพูดออกมาเป็นภาษาสวยๆ อธิบายได้ดีเยี่ยมใช้เวลานาน เรื่องภาษาถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่พนักงานหน้าใหม่ไม่ควรมองข้าม
สำหรับบริษัทไทยที่โกอินเตอร์อย่างบริษัทปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี ยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่การบริหารกลาง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานอยู่ 5.3 หมื่นคน โดยจำนวน 1.7 หมื่นคน อยู่ในต่างประเทศ แบ่งเป็นพนักงานในยุคเบบี้บูมมีอยู่ 6% เป็นคนในเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ สัดส่วน 50% และอีกกว่า 40% เป็นเจเนอเรชั่นวาย ซึ่งอีก 5 ปีข้างหน้ากลุ่มเบบี้บูมจะเกษียณอายุไปหมด
ขณะเดียวกัน คนเจเนอเรชั่นใหม่จะเข้ามาโดยเฉพาะเจเนอเรชั่นแซดที่จะเริ่มมีเข้ามาทำงานในปี 2560 ซึ่งจะต้องสร้างทีมให้เขามีความสามารถในการรับไม้ต่อในการทำงาน หัวใจสำคัญคือต้องทำทุกอย่างต่อเนื่องยั่งยืน
ทางด้านยักษ์ใหญ่ บริษัท ปตท. นั้น กฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ทรัพยากรบุคคลและศักยภาพองค์กร บริษัท ปตท. กล่าวว่า กระบวนการรับพนักงานใหม่ของ ปตท.มีการปฏิรูปให้สอดคล้องกับเด็กจบใหม่ในยุค Generation Y หรือยุคMillennials ที่เติบโตมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์-อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีไอที ดังนั้นไม่ต้องเดินทางมาที่ ปตท. เพื่อนั่งเขียนใบสมัครเป็นหน้าๆ เพราะอยู่ที่ไหนก็สามารถสมัครงานกับ ปตท.ได้ผ่านเว็บไซต์ของ ปตท. โดยผู้ที่สนใจทำงานกับ ปตท.คุณสามารถกรอกใบสมัครออนไลน์ตามคุณวุฒิที่มีอยู่ได้ทั้งนั้น ในขณะที่การคัดเลือกก็จะดูจากตำแหน่งงานใน 17 สาขา ที่มีความต้องการ เช่น นักกฎหมาย นักบัญชี นักวิเคราะห์ นักเศรษฐศาสตร์ นักวางแผน วิศวกร เป็นต้น ซึ่งจะไปทดแทนผู้ที่เกษียณอายุและมีโครงการใหม่ หรือมีหน้างานเปิดใหม่ที่ต้องการบุคลากรเฉพาะวิชาชีพ
ธิติพัทธ์ เจียมรุจีกุล ผู้อำนวยการงานบริหารทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท พรีเมียร์ กล่าวว่า ธุรกิจในปัจจุบันควรที่จะเรียนรู้จากเด็กรุ่นใหม่ให้มาก เพราะภาคองค์กรของไทยยังปรับตัวรับเทรนด์ใหม่ๆ ได้ช้า และคนในปัจจุบันยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าจะปรับตัวอย่างไร เช่น พนักงานขับรถอายุ 40-50 ปี ที่รู้จักการใช้งานกูเกิลแมพเพื่อหาข้อมูลในการเดินทางมีจำนวนน้อยมาก
ส่วนเด็กรุ่นใหม่เองก็ควรที่จะรู้จักความสามารถในการเรียนรู้ หรือ Learning Agility ให้มากขึ้น คือเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวอยู่ตลอดเวลาเพราะการทำงานไม่ได้ง่ายเหมือนการค้นหาข้อมูลอินเทอร์เน็ตอีกต่อไปแล้ว การทำงานในชีวิตจริงต้องมีความอดทนสูง เปิดใจที่จะเรียนรู้ให้มากไม่ปิดกั้นความรู้ด้วยอคติ จากเดิมถ้าเป็นวัยเบบี้บูมจะแบ่งงานเป็นอันดับหนึ่งรองลงมาคือครอบครัว พอเข้าสู่ยุคเจนเอ็กซ์และวายทั้งเรื่องงานและครอบครัวต้องเดินไปด้วยกัน และคนในรุ่นถัดไปจะทำเพื่อตัวเองและโลกมากขึ้น