"คนไทยมาจากไหน" ตะลุยแหล่งโบราณคดี "ต้าตี้วาน"
"คนไทยมาจากไหน" เป็นคำถามที่ถกเถียงกันในแวดวงนักโบราณคดี จวบจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน
โดย...ธรรมสถิตย์ ผลแก้ว
“คนไทยมาจากไหน” เป็นคำถามที่ถกเถียงกันในแวดวงนักโบราณคดี จวบจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน ประเด็นดังกล่าวยังคงมีการค้นคว้าวิจัยกันมาอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด กลุ่มนักวิชาการด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ กางแผนที่เพื่อตามหาถิ่นกำเนิดชนชาติไท โดยครั้งนี้ อรไท ผลดี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าเผ่าไท ร่วมกับ อาจารย์ฟานจูน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไทย-จีน จัดโครงการวัฒนธรรมสัญจรเยือนถิ่นกำเนิดของชนชาติไท ที่แหล่งโบราณคดีต้าตี้วาน มณฑลกานสู บริเวณแม่น้ำเหว่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน
ว่ากันว่า บริเวณแม่น้ำเหว่ยเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ มีการขุดพบหลักฐานมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์อาศัยมาไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นปี ผ่านจากยุคการเด็ดพืชผลและล่าสัตว์ด้วยเครื่องมือหินละเอียด และใช้เครื่องปั้นดินเผาเมื่อ 2-3 หมื่นปี
ต่อมาในสมัยหินใหม่ 13,000-7,000 ปี รู้จักใช้หม้อหุงข้าวสามขาให้ข้าวสุกเร็วขึ้น รู้จักสร้างงานศิลปะบนเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสี ต้นกำเนิดของวัฒนธรรมที่บ้านเชียง รู้จักการใช้เครื่องหมายขีดบนเครื่องปั้นดินเผา และรู้จักวาดภาพบนพื้น รู้จักการทำเครื่องดนตรีคือขลุ่ยเมื่อ 7,000-5,000 ปี
อันเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมที่บ้านโพและหยางเซา
รูปปั้นพระเจ้าเหา(เหยียน) ปฐมกษัตริย์ไท-จีน บิดาแห่งกสิกรรม ตั้งอยู่บนภูเขาฉางหยางซาน
อาจารย์อรไท บอกว่า การค้นพบสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตมีหลายห้องแบบพระราชวังขนาด 420 ตารางเมตร ที่เทพื้นด้วยปูนซีเมนต์เป็นหลักฐานยืนยันว่าบริเวณต้าตี้วานเป็นที่ตั้งของนครลุง เมืองหลวงที่เก่าแก่ที่สุดของคนไทบริเวณแม่น้ำเว่ยเหออายุไม่ต่ำกว่า 5,000 ปี
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ บันทึกไว้ว่า เมื่อประมาณ 5,000 ปี ปฐมกษัตริย์ของบรรพชนไทคือ พ่อขุนไทหาว ปกครองอยู่บริเวณแม่น้ำเว่ยเหอ พระองค์เป็นต้นตระกูลของคนไท ครองราชย์ราว 2,510 ปี ก่อนพุทธศักราช
“มีสำนวนไทยที่ยืนยันว่าพระองค์เป็นต้นตระกูลไท คือ ‘ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าเหา’ ถ้าเทียบกับตำนานของจีน ตรงกับยุค 5 กษัตริย์ คือ ราชวงศ์เสินหนง ราชวงศ์สุดท้ายในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีพระเจ้าเหยียนตี้เป็นประมุขทางเผ่าเสินหนง พระองค์เป็นบิดาแห่งการเกษตร บิดาแห่งสมุนไพรและการแพทย์แผนโบราณ บิดาแห่งการค้าขาย บิดาแห่งดนตรี ทางการจะจัดการไหว้บวงสรวงพระเจ้าเหยียนในวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี” ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ผ้าเผ่าไท กล่าว
หม้อหุงข้าวสามขาอายุกว่า 8,200ปี ในประเทศไทยปรากฏอยู่ที่กาญจนบุรีเช่นกัน
ในสมัยประวัติศาสตร์ ปฐมกษัตริย์คือขุนหลวงอ้ายเหลือง หรือพระเจ้าอึ่งตี่ (2,154-2,055 ปีก่อน พ.ศ.) เป็นผู้พิชิตราชวงศ์เสินหนง ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์ ทรงรวบรวมประเทศจีน ทรงเป็นบิดาแห่งดาราศาสตร์ ปรับปรุงปฏิทินและตัวอักษร ประดิษฐ์รถชี้ทิศ มเหสีของพระองค์ค้นพบตัวไหม พระราชโอรสคือพระเจ้าเสียวเหา ทรงเป็นผู้สืบสายต้นตระกูลไทย ทางการจัดพิธีบวงสรวงพระเจ้าเหลืองในวันเชงเม้งทุกปี
การจัดวัฒนธรรมสัญจรเยือนถิ่นกำเนิดชนชาติไทครั้งนี้ เท่ากับเป็นการได้ค้นพบเมืองหลวงที่เก่าแก่ที่สุดของชนชาติไท คือ นครลุง หรือ นครหลวง ได้ค้นพบพระเจ้าหาว ปฐมกษัตริย์ของชนชาติไท
ได้ภาคภูมิใจว่าบรรพชนไทได้ตั้งอาณาจักรอย่างเป็นปึกแผ่น และมีวัฒนธรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลกมาไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นปี
รูปแบบกระโจมที่พักอาศัยในยุคหินใหม่
แหล่งโบราณคดีต้าตี้วันเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนไท
จุดประสงค์ของคณะนักวิชาการจัดโครงการนี้ เพราะต้องการจะตามรอยงานวิจัยที่เคยได้ศึกษาเกี่ยวกับภูมิปัญญาที่เก่าแก่ที่สุดของบรรพชนเผ่าไท ปรากฏว่าอยู่ที่แหล่งโบราณคดีต้าตี้วัน แหล่งวัฒนธรรมยุคหินใหม่ที่เก่าแก่ที่สุดในลุ่มแม่น้ำเหลือง
การได้ค้นพบ ทั้ง หม้อหุงข้าวสามขาเก่าแก่ที่สุดอายุ 8,200 ปี เครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีที่เก่าแก่ที่สุด (ประมาณ 8,000 ปี) ซากฟอสซิลของเมล็ดข้าวเหลืองที่เก่าแก่ที่สุด (7,000 ปี) เส้นใยทอผ้าที่เก่าแก่ที่สุดคือ ปอ (7,000 ปี) ตัวอักษรภาพที่เก่าแก่ที่สุด (8,000ปี) ภาพวาดที่เก่าแก่ที่สุด (5,000 ปี) พระราชวังที่เก่าแก่ที่สุด (5,000 ปี) เครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดคือ ขลุ่ย (7,000 ปี) เป็นต้น
อาจารย์อรไท สันนิษฐานว่า แหล่งโบราณคดีต้าตี้วันเป็นภูมิปัญญาของบรรพชนไท เพราะเคยเสนองานวิจัยเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของชนเผ่าไท นักวิชาการส่วนใหญ่จะเสนอว่าบริเวณระหว่างแม่น้ำฮวงโหกับแม่น้ำแยงซีเกียงตอนบนในท้องที่มณฑลกานสูและส่านซี เป็นถิ่นกำเนิดของคนไท อาทิ ศาสตราจารย์ เตอร์เรียน เดอ ลาคูเปอรี เสนอว่า ถิ่นกำเนิดของชนเผ่าไทอยู่ที่หุบเขาระหว่างแคว้นเสฉวนกับแคว้นส่านซี ซึ่งก็คือบริเวณที่ตั้งของต้าตี้วัน และตั้งอาณาจักรแห่งแรกคือ นครลุง ที่บริเวณนี้เมื่อประมาณ 7,000 ปี มาแล้วนั่นเอง
โครงกระดูกมนุษย์ที่ขุดพบในแหล่งโบราณคดีต้าตี้วาน
ศาลเจ้าพระเจ้าเหลือง ตั้งอยู่บนเขาเฉียวซาน ทางการจีน จัดเซ่นไหว้บวงสรวงในวันเชงเม้งทุกปี
ต้นสนที่พระเจ้าเหลืองทรงปลูกด้วยพระองค์เองอายุกว่า 5,000 ปี ได้รับการขนานนามว่า "ต้นสนที่หนึ่งในไต้หล้า" ณ ศาลเจ้าพระเจ้าเหลือง เขาป่าสนเฉียวซาน
อาจารย์อรไท ผลดี และอาจารย์ฟาน จูน ศึกษาเครื่องปั้นดินเผาแหล่งโบราณคดีต้าตี้วาน ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงบรรพชนไท