posttoday

พืชสวนสู่ชนบท เพาะกล้าแห่งความดี

15 ตุลาคม 2559

“จุดเริ่มต้นของค่ายพืชสวนสู่ชนบท เริ่มต้นจากรุ่นพี่เมื่อ 30 ปีก่อน ต้องการเผยแพร่ความรู้ด้านการเกษตรให้แก่

โดย...โยโมทาโร่

“จุดเริ่มต้นของค่ายพืชสวนสู่ชนบท เริ่มต้นจากรุ่นพี่เมื่อ 30 ปีก่อน ต้องการเผยแพร่ความรู้ด้านการเกษตรให้แก่ชาวบ้านเกษตรกรในพื้นที่ชนบท เช่น ชาวเขาตามดอยต่างๆ เพื่อให้พวกเขาได้มีความรู้ด้านการเกษตรที่ดีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพวกเขาให้ดีขึ้น” นครินทร์ แสนตรี นักศึกษา คณะเทคโนโลยีการเกษตร สาขาเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หนึ่งในสมาชิกกลุ่มพืชสวนสู่ชนบท (www.facebook.com/PhuchsaunAasa)

นครินทร์  เล่าต่อว่า “เวลาที่พวกเราออกค่ายจะเน้นในเรื่องการสำรวจพื้นที่ว่าพวกเขามีความต้องการด้านไหนบ้าง โดยเฉพาะด้านการเกษตรกรรม และเอาข้อมูลทั้งหมดมารวบรวมและประมวลด้วยความรู้ที่เรามีว่าจะทำอย่างไรให้พวกเขาสามารถเพิ่มผลผลิตโดยไม่พึ่งสารเคมี ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่เราพบกับชาวเขาจะเป็นเรื่องปัญหาความลำบากในการเดินทางและความเป็นอยู่ ส่วนปัญหาด้านการเกษตรจะพบว่านิยมใช้สารเคมีอย่างมาก และเราก็เข้าไปเปลี่ยนแปลงความคิดของพวกเขาได้ยาก เพราะแต่เดิมที่เขาทำการเกษตรแบบเก่าจะได้ผลผลิตน้อย แต่พอใช้สารเคมีแล้วได้ผลผลิตมาก ทำให้ชาวเขานิยมใช้สารเคมีในการเกษตรกันมากกว่า เพราะเห็นผลชัดเจนที่แน่นอน

“วิธีที่พวกเราทำก็คือใช้โปรเจกต์ที่เราทำกันในมหาวิทยาลัยไปนำเสนอ  โดยใช้ตัวอย่างพืชที่มีความใกล้เคียงกัน ชี้ให้เห็นว่าการใช้การเกษตรแบบธรรมชาติ ใช้ปุ๋ยหมัก ใช้สารชีวภาพนั้นดีกว่าการใช้สารเคมีอย่างไร ผลผลิตอาจจะไม่ได้เท่ากับการใช้สารเคมี แต่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ดีต่อสุขภาพของพวกเขา และลดต้นทุนในเรื่องการใช้สารเคมีในระยะยาวได้ดีกว่าเดิม

พืชสวนสู่ชนบท เพาะกล้าแห่งความดี

 

“หลังจากที่เราให้ความรู้กับพวกชาวเขาแล้ว เราจะมีการเยี่ยมค่ายติดตามทุกปีว่าค่ายที่เราทำ อาคารที่เราสร้างให้พวกเขานั้นเป็นอย่างไร ในการประเมินผลในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าชาวบ้านมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เปลี่ยนมาใช้การเกษตรแบบชีวภาพ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เหลือชาวบ้านบางส่วนที่ยังเห็นว่าการใช้สารเคมีดีกว่า เพราะยังคิดเรื่องผลในการทำธุรกิจมากกว่าสิ่งแวดล้อม อีกอย่างหนึ่งในการออกค่ายเราจะถามถึงวัฒนธรรมและความเชื่อของคนท้องถิ่น มากกว่าจะเอาความเชื่อของเราไปยัดเยียดให้เขา

“อย่างพื้นที่ล่าสุดที่เรากำลังจะไป เป็นพื้นที่ของศูนย์จัดการเรียนรู้โจ๊ะมาโลลือหล่า บ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ พื้นที่นี้เป็นของชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ ปัญหาของพวกเขาในครั้งนี้คือไม่สามารถปลูกพืชผักได้ เพราะเป็นพื้นที่ป่าไม้ยืนต้น ดินไม่เหมาะสมกับการปลูกผัก เราจึงเอาตัวอย่างดินจากที่นั่นมาวิเคราะห์ในห้องแล็บที่สถาบันดูว่าดินของเขามีปัญหาอะไรและต้องปรับปรุงแก้ไขอะไรบ้าง ซึ่งวิธีของเราจะเน้นการใช้ปุ๋ยหมักมากกว่าสารเคมีในการปรับสภาพดิน”

ส่วนเกณฑ์ประเมินการคัดเลือกพื้นที่ที่จะลงไปพัฒนาของกลุ่มนั้น นครินทร์ อธิบายว่า จะดูเรื่องพื้นที่และความต้องการเป็นหลัก โดยพื้นที่ต้องห่างไกลจากตัวเมือง เดินทางลำบาก และมีความต้องการองค์ความรู้ด้านพัฒนาการเกษตร รวมทั้งความต้องการด้านอาคารเรียน  ซึ่งช่วงหลังจะเน้นในเรื่องการสร้างอาคารเรียนมากกว่า

พืชสวนสู่ชนบท เพาะกล้าแห่งความดี

 

“ความรู้สึกของผมเวลาที่ผมได้ออกค่ายอาสาครั้งแรก ผมจำได้ดีเลยว่าเหนื่อยถึงเหนื่อยมาก แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่สวยงาม ความเป็นมิตรของชาวบ้าน ทำให้เรารู้สึกหายเหนื่อย และช่วงเวลาที่เราสร้างอาคารชาวบ้านก็มาช่วย และช่วงเวลาพักเราก็ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งลูกค่ายทุกคนจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่จะได้ใช้จริงต่อไปในอนาคต และยิ่งเวลาที่พวกเราได้กลับไปประเมินผลแล้วเห็นอาคารที่เราสร้างชาวบ้านได้ใช้ นักเรียนได้ใช้จริง มันทำให้เรารู้สึกตื้นตัน หายเหนื่อย คุ้มค่ากับสิ่งที่เราลงทุนลงแรงไป และไม่เพียงแค่อาคารเรียนได้ใช้ประโยชน์ การที่เกษตรกรได้เปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรมาเป็นในแบบที่เราแนะนำ ยิ่งทำให้เรารู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนในการพัฒนาสังคมชนบทมากขึ้น”

ผู้ที่สนใจสมทบทุนค่ายอาสาพืชสวนสู่ชนบท สามารถติดต่อสอบถามและบริจาคได้ที่ www.facebook.com/PhuchsaunAasa โดยค่ายนี้เน้นรับสื่อการเรียนรู้ เช่น หนังสือ อุปกรณ์การเรียนต่างๆ และทุนทรัพย์สำหรับการสร้างอาคารอเนกประสงค์แก่ชนบท

พืชสวนสู่ชนบท เพาะกล้าแห่งความดี