กำเนิด แก้มลิง-ฝนหลวง โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าให้มีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น
โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์
นับตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงงานหนักตรากตรำพระวรกาย เพื่อแก้ปัญหาทุกข์ร้อนของปวงชนให้ได้อยู่ดีมีสุข โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทรงพระราชทานโครงการพัฒนาต่างๆ ไว้มาก หนึ่งในนั้น คือ การอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาแหล่งน้ำ นำมาสู่จนคิดค้น “โครงการแก้มลิง” อันเกิดจากพระราชกระแสที่ทรงอธิบายว่า
“ลิงโดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวี หรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง”
แนวคิดนี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาอุทกภัย โดยทรงตระหนักถึงความรุนแรงของอุทกภัยที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ จึงมีพระราชดำริโครงการแก้มลิงขึ้นเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๓๘ ด้วยการจัดหาสถานที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ รองรับน้ำฝนไว้ชั่วคราว เมื่อถึงเวลาที่คลองพอจะระบายน้ำได้ จึงค่อยระบายน้ำจากส่วนที่กักเก็บไว้ออกผลที่ได้สามารถลดปัญหาน้ำท่วม ทั้งยังเป็นการช่วยอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ โครงการแก้มลิงกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ กว่า ๒๐ แห่ง แบ่งเป็นโครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้คลองชายทะเลที่ตั้งอยู่ริมทะเลด้าน จังหวัดสมุทรปราการ ทำหน้าที่เป็นบ่อพักน้ำหรือบ่อรับน้ำ
โครงการแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อระบายออกทะเลด้าน จังหวัดสมุทรสาคร และยังมีโครงการแก้มลิง แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง กักเก็บน้ำระบายไปสู่อ่าวไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงไม่ได้ห่วงใยแค่กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ทรงให้ความสำคัญต่อพสกนิกรในถิ่นทุรกันดาร ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และเกษตรกรรมจากภาวะแห้งแล้งความคลาดเคลื่อนของฤดูกาลการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎรในทุกภาคของประเทศ
พระองค์ทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัยเอกสารทางด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยาและการดัดแปรสภาพอากาศ นำมาสู่การทดลองในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ กำหนดพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่ เป็นพื้นที่ทดลองด้วยการหยอดก้อนน้ำแข็งแห้ง ขนาดไม่เกิน ๑ ลูกบาศก์นิ้ว เข้าไปในยอดเมฆสูงไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ ฟุต ที่ลอยกระจัดกระจายอยู่เหนือพื้นที่ทดลองทำให้กลุ่มเมฆเกิดการเปลี่ยนแปลงรวมตัวกันหนาแน่น และก่อยอดสูงขึ้นเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ไม่นานนักก็ได้รับรายงานยืนยันด้วยจากราษฎรว่าเกิดฝนตกลงสู่พื้นที่ทดลองวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด นับเป็นนิมิตหมายบ่งชี้ให้เห็นว่าการบังคับเมฆให้เกิดฝนนั้นเป็นไปได้
เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎร จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกา ก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นในปีพุทธศักราช ๒๕๑๘ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงปฏิบัติหน้าที่จวบจนถึงทุกวันนี้
ประโยชน์ที่ได้จากการปฏิบัติการฝนหลวง สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่อ่างและเขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน นำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า แหล่งน้ำและต้นน้ำลำธารธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นการช่วยทำนุบำรุงป่าไม้อีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ยังทรงริเริ่มโครงการการพัฒนาการเกษตรขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้เกิดเป็น “โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา” ตั้งอยู่ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญ และมีพระราชประสงค์ดูแลโครงการอย่างใกล้ชิด ผ่านงานวิจัย ค้นคว้าทดลองด้วยพระองค์เอง ขณะเดียวกันยังทรงเปิดกว้างให้ผู้สนใจเข้าไปเยี่ยมชมโครงการ แบ่งเป็นโครงการ ไม่ใช่ธุรกิจ และโครงการกึ่งธุรกิจ ดังนี้
โครงการไม่ใช่ธุรกิจเป็นโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร มุ่งเน้นเศรษฐกิจพอเพียงเช่นโครงการป่าไม้สาธิต โครงการนาข้าวทดลอง โครงการปลานิล ที่รู้จักกันในนาม “ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา”
ส่วนโครงการกึ่งธุรกิจ เป็นการศึกษาทดลองเกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และจำหน่ายโดยไม่แสวงผลกำไร ไม่แข่งขันทางธุรกิจ แต่นำรายได้มาใช้พัฒนาโครงการส่วนพระองค์ เช่น กลุ่มงานอุตสาหกรรมนม รู้จักกันดีในชื่อนม “ตราสวนจิตรลดา” มีทั้งรสจืด ช็อกโกแลต และนมอัดเม็ด อันเป็นที่ชื่นชอบของคนทุกเพศทุกวัย รวมถึงโรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา โรงผลิตอบแห้ง ผลไม้กระป๋อง โรงปุ๋ยอินทรีย์ ผลงานวิจัยกากมูลหมักมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ และการเพาะเลี้ยงเห็ด
นับเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าให้มีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น แม้พระองค์จะต้องตรากตรำทรงงานหนักตลอดระยะเวลาของการครองแผ่นดินโดยธรรม