ถนนห้วยมงคลจุดกำเนิดโครงการพระราชดำริแห่งแรก
วันวานของบ้านห้วยคตเมื่อครั้งรัชกาลที่9ขับฝ่าดงจนรถพระที่นั่งตกหล่มก่อเกิดเป็นถนนห้วยมงคลจุดเริ่มต้นโครงการพระราชดำริแห่งแรก
วันวานของบ้านห้วยคตเมื่อครั้งรัชกาลที่9ขับฝ่าดงจนรถพระที่นั่งตกหล่มก่อเกิดเป็นถนนห้วยมงคลจุดเริ่มต้นโครงการพระราชดำริแห่งแรก
หากจะกล่าวถึงโครงการพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯแล้วนั้นไม่มีใครที่ไม่รู้จัก เพราะโครงการพระราชดำริของพระองค์ท่าน นั้นเป็นที่ประจักแก่สายตาชาวโลกไปถ้วนทั่ว โดยเฉพาะโครงการฝนหลวงของพระองค์ท่านที่นานาประเทศต่างพากันยอมรับว่าประองค์ท่านเป็นเพียงพระองค์แรกและเป็นหนึ่งเดียวในโลกที่ค้นคิดวิธีที่ทำให้มีฝนตกลงมาได้โดยไม่ต้องรอธรรมชาติ ที่สำคัญโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์ท่านนั้นมีมากมายเหลือคณานับเป็นหลายพันโครงการ ที่ก่อให้เกิดการกอบกู้พื้นฟูแผ่นดิน ทำให้ประชาชนกินอิ่มนอนหลับอยู่ดีมีสุขกันไปทั่วถ้วนทุกหัวระแหงในแผ่นดินไทยไม่เลือกชนชั้น แม้ที่อยู่ห่างไกลความเจริญมากมายแค่ไหนพระองค์ก็ยังไปได้ถึงด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่มิเคยห่างหายไปแม้แต่น้อยนิดถึงแม้พระองค์จะทรงชราภาพมากแล้วก็ตาม แต่พระองค์ท่านก็มิเคยได้ว่างเว้นจากการทรงงาน ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความห่วงใยประชาชนที่อยู่ในใต้ร่มพระบารมีของพระองค์มิได้ขาด
สำหรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกแห่งแรกในประเทศไทย นับจากวันที่พระองค์ท่านทรงขึ้นครองราชย์ไม่นาน และโครงการพระราชดำริก็ก่อบังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเกิดขึ้นที่ ต.หินเหล็กไฟ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในบันทึกของ นายมนูญ มุขประดิษฐ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( กปร. )ในขณะนั้น ได้เขียนเล่าไว้ในเรื่อง “ ประทีปแห่งแผ่นดิน ”ในหนังสือเรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช) กับงานจัดการทรัพยากรน้ำไว้ว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการแรกคือ ถนนสายห้วยมงคล เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2495 ที่บ้านห้วยมงคล ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งในขณะนั้นแม้ว่าบ้านห้วยมงคล ตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากตลาดหัวหิน แต่ก็ยังไม่มีถนนจากหมู่บ้านออกมาสู่ตลาดหัวหิน ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรปลูกพืชผลเช่น ข้าวโพด ผัก ผลไม้ หากจะขายพืชผลจะต้องบรรทุกใส่รถเข็นมาตามทางเดินใช้เวลาถึง 2 วัน 2 คืน กว่าจะถึงตลาดซึ่งบางครั้งพืชผลก็เน่าเสียก่อนที่จะขายได้ ถ้าจะให้เร็วต้องเช่าเหมารถจี๊ปที่สามารถบุกไปในถนนดินขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อได้ แต่ต้องเสียค่าเช่าเหมาถึงเที่ยวละ 500 บาท ซึ่งไม่คุ้มกับราคาพืชผลที่ขายได้
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯและสมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปที่หมู่บ้านในปี พ.ศ. 2495 จึงได้เกิดถนนสายห้วยมงคลขึ้น
วันนั้น...มีรถยนต์รูปร่างแปลกคันหนึ่งอุตสาหะบุกเข้าไปถึง “ บ้านห้วยมงคล ”แล้วไปตกหล่มติดอยู่ที่หน้าบ้านเลขที่ 143 หมู่ 6 ของ“ลุงรวย งามขำ ”เกษตรกรมีคนแต่งกายชุดทหารตำรวจประมาณ 10คน ช่วยกันดันรถจะให้หลุดจากหล่ม
ลุงรวย งามขำไม่รอช้าปราดเข้าช่วยทันที พร้อมกับเรียกเพื่อนบ้านให้ออกมาช่วยด้วย โดยที่ลุงรวยไม่ทราบว่า เจ้าของรถที่ขับมาติดหล่มอยู่นั้นเป็นใคร...ครั้นเมื่อเจ้าของรถซึ่งเป็นชายหนุ่ม สวมแว่นตากับหญิงสาว ลักษณะงดงามลงจากรถมาปรากฏแก่ตาลุงรวย สักพักหนึ่งลุงรวยจึงเพิ่งนึกขึ้นได้ถึงคำบอกเล่าของผู้ใหญ่บ้านเมื่อหลายวันก่อนว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯกับสมเด็จพระราชินี จะเสด็จพระราชดำเนินมาที่หัวหิน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯได้รับสั่งถามลุงรวย ถึงปัญหาของหมู่บ้าน ซึ่งลุงรวยก็ได้กราบบังคมทูลว่า “ อยากได้ถนนมากที่สุด ”ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับได้พระราชทานเงินก้นถุงแก่ลุงรวย และแล้ว...ต่อมาอีกไม่นานก็มีตำรวจพลร่มจำนวนหนึ่ง นำอุปกรณ์มาไถตัดถนนใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ชาวบ้านห้วยมงคลก็มีถนนตัดออกสู่ตลาดหัวหิน ใช้เวลาเพียง 15-20 นาทีก็ถึง
ถนนสายห้วยมงคลจึงนับเป็นเส้นทางบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ซึ่งนำไปสู่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า 2,000โครงการที่กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค นำพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯปกแผ่คุ้มเกล้าประชาชนชาวไทยทั้งปวงทั่วประเทศ นำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ราษฎรโดยถ้วนหน้า
นี่คือบันทึกที่นายมนูญ มุขประดิษฐ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ( กปร. ) ได้เขียนเล่าไว้
ณ วันที่ 9 พ.ย.2555 ผู้เขียน จึงได้ออกติดตามหาตัวลุงรวย แต่พบว่าลุงรวย เสียชีวิตไปแล้ว พบแต่เพียง ลุงซิ่ว เทียนอินทร์ ชายสูงอายุ ในวัย 72 ปีเพื่อนลุงรวย ลุงซิ่ว เล่าว่า (ผู้เขียนได้บันทึกเอาไว้เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2555 ก่อนลุงซิ่ว เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งประมาณ 1 ปีเศษ)ในสมัยนั้น ผมมาจากนครปฐมเข้ามาอยู่อาศัย ที่บ้านห้วยมงคลแห่งนี้ ซึงในสมัยนั้นเขาเรียกกันว่าบ้านห้วยคด ตามความคดเคี้ยวของลำห้วย ซึ่งในขณะนั้นยังขึ้นอยู่กับ ตำบลหินเหล็กไฟ แต่ปัจจุบันนี้ อยู่กับตำบลทับใต้ ในตอนนั้นผมมาจับจองพื้นที่ทำกิน โดยการทำไร่ ปลูกกล้วย ปลูกมัน ถั่วคุต หรือที่ในปัจจุบันนี้เขาเรียกกันว่าถั่วลิสง
ในสมัยนั้นพื้นที่แห่งนี้ยังคงเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่เต็มพื้นที่ไปหมด ผู้คนจะเข้ามาทำไม้ตัดไม้กันเพราะเป็นป่าที่ยังอุดมสมบูรณ์ชนิดที่เรียกว่าสัตว์ป่าต่างๆก็ยังมีอยู่อย่างชุกชุมเต็มไปหมดต้นไม้แต่ละต้นนั้นล้วนแต่ต้นใหญ่ๆ ไอ้ต้นกอซอ หรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่าไม้ไผ่ นี่นะ แต่ละต้นมันใหญ่มาก เวลาตัดนี่จะต้องใช้ขวานถึงสี่ขวานสี่คน ตัดกันเลยแต่จะต้องฟันเป็นนะไม่อย่างนั้นจะโดนกันเอง เส้นทางถ้าพูดถึงถนนไม่มีหรอก มีแต่ทางชักลากไม้ ลำบากมาก จะขนของขนกล้วยและพืชผักไปขายที่ตลาดหัวหินนี่ จะต้องใช้รถจิ๊ปอย่างเดียว หรือไม่ก็ต้องใช้รถเข็นออกไปซึ่งก็ต้องใช้เวลานานมากเป็นวันๆ ถ้าน่าฝนและก็ยิ่งลำบากใหญ่ใช้เวลาถึงสองสามวันก็เคยมี ลุงซิ่วบอกต่อไปว่าเคยไปติดหล่มอยู่หลายวันจนกล้วยที่ขนมาจะไปขายที่ตลาดหัวหินสุกจนหมดทั้งคันรถ จนในที่สุดต้องทิ้งไปหมด
แต่อยู่ๆมาวันหนึ่งก็เห็นมีรถจี๊ป เข้ามามีทหารและตำรวจพลร่ม ตชด.ค่ายนเรศวรเข้ามาด้วย และในที่สุดรถคันนั้นก็มาติดหล่มอยู่ ที่หน้าบ้านลุงรวย เห็นทหารตำรวจพลร่มพยายามช่วยกันเข็นรถจิ๊ปคันดังกล่าว อยู่นานแต่ก็ยังไม่ขึ้น จึงพากันออกไปช่วยกันเข็น ถึงได้รู้ว่า คนที่อยู่ในรถดังกล่าว เป็นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯกับ พระราชินี ในตอนนั้น พวกเรารู้สึกปลื้มปีติมากดีใจจนบอกไม่ถูกที่เห็นพระองค์ท่านเสด็จมาถึงที่นี่ ในตอนนั้นผมอายุ 20 กว่าๆ ที่นี่มีบ้านอยู่กันกระจัดกระจายประมาณสัก 40 หลังเห็นจะได้ วัดห้วยมงคลเองก็ มีเพียงแค่กุฏิหลัง ศาลาหลังเล็กๆ เพียงหลังเดียวเท่านั้น ก็ยังใช้ชื่อวัดห้วยคต อยู่เหมือนกัน
หลังพระองค์ท่านเสด็จในครั้งนั้น พระองค์ท่านก็เข้ามาถึงโรงเรียนห้วยคด พวกเราก็พากันไปที่โรงเรียนเพื่อรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯทรงถามว่าที่นี่มีอะไรขาดอยากให้ช่วยอะไรบ้าง ในตอนนั้นผม เฝ้ารับเสด็จอยู่ตรงหน้า พระองค์ท่าน ไม่ห่างกันนัก ก็เป็นลุงรวย ผมจึงบอกว่าชาวบ้านในแถบนี้อยากได้ถนนเป็นอย่างมากเพราะลำบากมากเวลาขนพืชผักไปขายยังตลาดหัวหิน แล้วพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ก็ทรงถามว่าพอจะรู้บ้างไหมว่าที่ใกล้ๆแห่งนี้มีเขาดินลูกรังที่ไหนบ้าง ผมจึงบอกกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ว่าที่เขานกกระจิบ หลังจากนั้นไม่นาน ก็พบว่ามีรถแทร็กเตอร์เข้ามาไถพื้นที่ มีการนำเอาดินลูกรัง มาทำถนน โดยเริ่ม ทำมาจากช่องเขาด่าน มาถึงนี่ก็นับระยะทางได้สิบกว่ากิโลเมตรเห็นจะได้ จากวันนั้นหลังถนนเสร็จพวกเราก็ใช้เวลาในการขนพืชผักต่างๆไปขายยังตลาดหัวหินได้ในเวลาไม่ถึงชั่วโมง และในเวลาต่อมาพระองค์ท่านก็เสด็จอีก และพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่าบ้านห้วยมงคล มาจะถึงทุกวันนี้ ทำให้ผมรู้สึกปราบปลื้มใจมาจนถึงวันนั้นนี้แม่วันนี้พระองค์ท่านก็ยังไม่ทิ้งพวกเราตอนนี้โครงการพระราชดำริของพระองค์ท่านก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง
ดาบตำรวจละออ จงศรี วัย 67 ปี อดีตตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เล่าให้ฟังถึงความประทับใจและถือเป็นมงคลสูงสุดในชีวิตที่ได้มีโอกาสถวายงานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่า ในอดีตตนรับราชการเป็นตำรวจพลร่มที่ค่ายนเรศวร ปัจจุบันคือ กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายนเรศวร ทำให้ตนได้มีโอกาสเข้าเฝ้าและได้ถวายงานในหลวง โดยได้รับมอบหมายจากหน่วยงานต้นสังกัดให้ทำหน้าที่ขับรถแทรกเตอร์พระราชทาน เป็นรถบลูโดเซอร์เพื่อก่อสร้างถนนสายห้วยมงคล โดยทรงพระราชทานพร้อมกับรถจิ๊บอีกหลายคัน
สำหรับถนนห้วยมงคล เดิมชื่อห้วยคต เชื่อมกับเมืองหัวหินระยะทางกว่า 11 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2510 มีความยากลำบากเพราะเป็นถนนทาง รกทึบ ต้องใช้รถจิ๊บในการเดินทาง ประกอบกับมีโรคไข้มาลาเรียมาก ทีมงานสร้างถนนต้องทำงานพร้อมกับช่วยเหลือประชาชน พาหมอไปรักษาดูแลสุขภาพให้ประชาชนไปด้วย การสร้างทางจึงใช้ระยะเวลานานกว่า 8 เดือนจึงสำเร็จ ซึ่งปัจจุบันรถพระราชทานได้เก็บรักษาไว้ที่ค่ายนเรศวร และทำการบำรุงรักษาอย่างดี
ด้วยพระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีพระราชดำริให้แก้ไขปัญหาให้กับราษฎร ที่เดือดร้อนจากการเดินทางและการขนส่งผลผลิตทางการเกษตรระหว่างหมู่บ้านห้วยมงคล กับตัวเมืองหัวหิน ซึ่งถือว่าเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการคมนาคมโครงการแรกของประเทศที่ทรงพระราชทานให้กับประชาชน จนปัจจุบันทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนอยู่ดีกินดีประกอบอาชีพได้อย่างไม่ลำบาก จึงรู้สึกโชคดีที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้มีโอกาสถวายงานถือเป็นมงคลสูงสุดในชีวิต และจะน้อมนำกระแสพระราชดำรัสเรื่องความพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิต โดยจะใช้คุณธรรมนำชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข ทุกอย่างเพื่อให้ชีวิตมีความสุขตามรอยพ่อหลวง