อายุ 40 ขึ้นต้องเช็ค! เสี่ยง ’พาร์กินสัน‘ หรือไม่ ด้วยแอป ’Check PD‘ แม่นยำ 90%
จากสถิติของ องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าเป็นโรคความเสื่อมทางระบบประสาทที่มีอัตราการเพิ่มเร็วที่สุด ในแง่การเสียชีวิตและทุพพลภาพ และตัวเลขบอกว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยอยู่ในเอเชีย! สถิติในประเทศไทยเก็บไว้ล่าสุดในปี 2554 พบว่ามีผู้ป่วยในผู้สูงอายุราว 1% ซึ่งปัจจุบันเมื่อแพทย์ลงพื้นที่และพบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในพื้นที่ราว 4%
คุณเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย เปิดเผยถึงที่มาและความสำคัญของการสร้าง แอปพลิเคชัน Check PD ว่า พาร์กินสันเป็นหนึ่งในโรคความเสื่อมทางระบบประสาทที่พบมากในผู้สูงอายุ และยังเป็นโรคที่มีอัตราการเกิดเพิ่มสูงที่สุดในกลุ่มโรคความเสื่อมทางระบบประสาทด้วยกัน คาดกันว่าในปี 2040 จำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว
สำหรับประเทศไทยที่ได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ จากปัจจัยเสี่ยงเรื่องอายุที่มากขึ้น และปัจจัยทางพันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิตและสิ่งแวดล้อม มีผลทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในประเทศไทยเพิ่มสูงมากขึ้นตามสถานการณ์ปัจจุบัน และจากการที่การวินิจฉัยโรคพาร์กินสันในระยะเริ่มต้นยังคงทำได้ยาก เพราะอาจจะมีอาการที่แสดงออกมายังไม่มาก อีกทั้งการขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางระบบประสาท ทำให้ผู้ป่วยในบางพื้นที่เข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาได้ยาก ส่งผลให้ผู้ป่วยที่เข้าสู่กระบวนการวินิจฉัยโรคมีอาการที่ค่อนข้างมาก หรืออยู่ในระยะการดำเนินโรคระยะกลาง ทำให้การรักษาค่อนข้างยากและมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูง อีกทั้งตัวผู้ป่วยเองยังอาจเกิดความทุพพลภาพ และส่งผลต่อคุณภาพในการดำเนินชีวิต ซึ่งโรคนี้แม้ว่าจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะแรก สามารถวางแผนการรักษาและป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาการของพาร์กินสันมีระยะเวลาเตือนนานถึง 10-20 ปี ถ้ารู้ทันก็ป้องกันได้!
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าโรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่ไม่ได้แสดงอาการทันที แต่มีระยะเวลาของการเตือนและระยะเวลาของการดำเนินโรคที่ค่อนข้างนาน เฉลี่ยนานถึง 10-20 ปี โดยอาการที่ชัดเจนคืออาการสั่น ส่วนอาการเตือนอื่นๆ เช่น อาการท้องผูกเรื้อรัง อาการนอนละเมอ ออกท่าทางหรือออกเสียงที่สัมพันธ์กับเนื้อหาความฝันซึ่งมักจะเป็นฝันร้าย การไม่ได้กลิ่นที่ดม ฯลฯ มักถูกมองว่าไม่ใช่อาการผิดปกติ ทำให้ผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวไม่คิดว่าตนเองเป็น จึงไม่ได้พบแพทย์และเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
ดังนั้นหากสามารถตรวจเช็กได้ล่วงหน้าถึงความเสี่ยงที่จะเป็นโรคดังกล่าว เพื่อหาทางป้องกัน หรือลดความรุนแรงของอาการได้ จะเป็นเรื่องดีสำหรับผู้ป่วย เพราะพาร์กินสันเป็นโรคที่ป้องกันและรักษาได้หากตรวจพบได้เร็ว ทางศูนย์ฯ จึงได้ร่วมกับทางสภากาชาดไทย ในการพัฒนาแอปประเมินความเสี่ยงการเป็นโรคพาร์กินสัน หรือแอป CHECK PD ขึ้นมา
“นอกจากผู้สูงอายุที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงหลักแล้ว ในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ก็ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน จากสถิติที่พบว่าปัจจุบันแนวโน้มผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน พบในผู้ป่วยอายุน้อยลง และพาร์กินสันเป็นโรคที่มีระยะเวลาในการดำเนินโรคค่อนข้างนาน ดังนั้น การที่สามารถตรวจเช็กได้ล่วงหน้าถึงความเสี่ยงของการเป็นโรคพาร์กินสัน จึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อที่จะหาทางป้องกัน หรือเข้าสู่กระบวนการรักษาเพื่อลดอาการรุนแรงของโรค
ขอเน้นว่า โรคพาร์กินสันหากรักษาเร็วอาการจะดีมาก และคุณภาพชีวิตเหมือนคนปกติ และทำให้ชีวิตยืนยาวขึ้น รักษาเร็วก็กลับไปดีได้ค่อนข้างมาก ซึ่งการรักษาก็ต้องควบคู่กับการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วย” ศ.นพ.รุ่งโรจน์กล่าว
ทั้งนี้ นอกจากจะสามารถเช็คพาร์กินสันได้แล้ว เมื่อใช้แอปพลิเคชันดังกล่าวเช็คจะพบว่าผู้ป่วยสามารถเช็คความเสี่ยงอื่นๆ ด้วย เช่น ภาวะความเสื่อมทางสมองอื่นๆ หรือหลอดเลือดในสมองอื่นๆ เบื้องต้นได้ด้วย
หน้าตา Check PD ใช้งานง่าย ปลอดภัย มีไว้เช็คทุกปี!
“Check PD” เป็นแอปพลิเคชันที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ในการวินิจฉัยกลุ่มอาการโรคพาร์กินสัน ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถวางแผนการดูแลสุขภาพ การป้องกัน และการรักษาได้อย่างเหมาะสม เพื่อจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน โดยสามารถตรวจเช็กความเสี่ยงการเป็นโรคพาร์กินสันได้ด้วยตนเอง สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยใช้เวลาประมาณ 25 นาทีในการทำแบบประเมินความเสี่ยง 20 ข้อ ซึ่งการเช็กนี้มีทั้งการตอบคำถาม การทดสอบขยับนิ้ว การทดสอบอาการสั่น การทดสอบการทรงตัว การทดสอบการออกเสียง หลังจบทุกขั้นตอนการเช็กแล้ว สามารถกดรับผลในแอปพลิเคชันได้ทันที ซึ่งผลที่ได้ให้ความแม่นยำสูงถึง 90% เมื่อได้รับผลแล้วหากเป็นกลุ่มมีความเสี่ยงจะมีข้อแนะนำไปให้พบแพทย์เพื่อวินิจฉัยต่อไป
ขั้นต่อไปของ Check PD
ศ.นพ.รุ่งโรจน์ ยังกล่าวถึงความสำคัญของการป้องกันความเสี่ยงของโรคพาร์กินสันด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มเติมว่า
" แพทย์ทางสมองในประเทศมีไม่เยอะ เกินครึ่งหนึ่งของประเทศไทยไม่มีแพทย์สมอง ส่วนใหญ่จะอยู่ในการรักษาของแพทย์ทั่วไป ซึ่งการตรวจและรักษาในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นอย่างยาวนานควรจะอยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น อย่างเช่นในเรื่องของ Telemedicine ก็จะสามารถช่วยได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ในส่วนของ Check PD เป็นการเริ่มต้นในการประมูล แต่ในเฟสต่อไป เราจะใส่ส่วนอื่นลงไป เช่น การแนะนำทางการกินอาหาร การออกกำลังกาย หรือการประเมินในเรื่องการนอนหลับ ซึ่งจะมีการอัปเดตและพัฒนาเรื่อยๆ ภายในแอปพลิเคชันดังกล่าว"
ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของแอปพลิเคชัน Check PD ภายใต้การพัฒนาของ รพ.จุฬาฯกับสภากาชาดไทย มีความแม่นยำในการประเมินสูงถึง 90%
สำหรับผู้ที่สนใจ ปัจจุบัน Check PD ได้เข้าไปร่วมมือกับทาง สปสช. โดยสามารถเข้าไปที่ LINE OA ของ สปสช. จะมีส่วนบริการที่เรียกว่า 'คัดกรองพาร์กินสันไว' เอาไว้ซึ่งเป็นลิงก์ที่สามารถเชื่อมให้เข้าไปดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้แล้ววันนี้ทั้งแอปสโตร์และเพลย์สโตร์ หรือสามารถคลิกที่ LINK สำหรับ แอนดรอยด์ และคลิกที่ LINK สำหรับ IOS
ร่วมบริจาคเพื่อพัฒนาในแคมเปญ 'พาร์พบแพทย์'
นอกจากนี้ สภากาชาดไทย ยังได้เชิญชวนร่วมกันบริจาค ในโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เพื่อสำรวจประชาชนที่มีความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน หรือร่วมบริจาคเงิน 76 บาท ภายใต้แคมเปญ “พาร์พบแพทย์” เพื่อร่วมค้นหา คัดกรอง ช่วยเหลือผู้ป่วยพาร์กินสันกว่า 76 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งการบริจาคสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
ผู้สนใจสามารถร่วมสนับสนุนโครงการได้โดยบริจาคเงินผ่านบัญชี ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย ชื่อบัญชี สภากาชาดไทย สำนักงานจัดหารายได้ เลขที่บัญชี 045-2-62588-8 ภายหลังโอนเงินบริจาคแล้วสามารถส่งหลักฐานการโอนเงิน แจ้งชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์และหมายเลขบัตรประชาชน (เพื่อใช้ในการยื่นลดหย่อนภาษี) ระบุว่า "ค้นหาพาร์กินสัน พาผู้ป่วยพบแพทย์" ส่งเอกสารมาที่ Email: [email protected] เพื่อที่ทางสภากาชาดไทยจะได้ดำเนินการจัดส่งใบเสร็จรับเงินสำหรับการยื่นลดหย่อนภาษีต่อไป.