ฝ่าวิกฤตต้มยำกุ้ง
ผมจำได้ว่าตั้งแต่ปี 2531 (ค.ศ. 1988) จนถึงปี 2543 (ค.ศ. 2000) มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย เป็นช่วงธุรกิจเติบโต
โดย...ซิวซี แซ่ตั้ง
(เนื้อหาต่อจากฉบับวันเสาร์ที่ 9 ต.ค. 2559)
ผมจำได้ว่าตั้งแต่ปี 2531 (ค.ศ. 1988) จนถึงปี 2543 (ค.ศ. 2000) มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย เป็นช่วงธุรกิจเติบโตอย่างมโหฬารกว่า 30 เท่า ของยอดขายในปี 2531 และธุรกิจเกือบล้มละลายในปี 2540 (ค.ศ. 1997) แต่พอผ่านไปได้เพียง 2-3 ปี ธุรกิจครอบครัวของผมกลับแข็งแรงมากกว่าเดิมเสียอีก
ตั้งแต่ปี 2531 (ค.ศ. 1988) เป็นต้นมา เศรษฐกิจดีมาก จนทุกคนในวงการค้าบอกว่า ช่วงนี้ใครทำธุรกิจขาดทุนก็ไม่ต้องทำธุรกิจแล้ว ลูกๆ ทั้งลูกชาย ลูกสาว และลูกสะใภ้ ทำงานกันเต็มที่ บริษัทเติบโตมากมีการขยายตัวเป็นเท่าตัวอยู่หลายปี จีดีพี (GDP) ของไทยตั้งแต่ปี 2531 จนถึงประมาณปี 2538 ขยายตัวประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ต่อปีมาตลอด แต่ปี 2538 ถึงต้นปี 2540 เศรษฐกิจชะลอความร้อนแรงลงอย่างมาก
กลางปี 2540 ทุกอย่างกลับตาลปัตร เศรษฐกิจของประเทศไทยติดลบเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ ยอดขายบริษัทของผมหายไปมากกว่าครึ่ง บริษัทต่างๆ ทยอยล้มละลายกันเป็นว่าเล่น จากรุ่งเรืองสุดขีดกลายเป็นล่มจมสุดขีด สามารถเห็นได้ทั้งหมดในช่วง 12 ปีนี้ (พ.ศ. 2531 จนถึงปี 2543) เหตุการณ์ต่างๆ มากมาย เป็นข้อคิดข้อเตือนใจให้ใครกับใครได้ไม่น้อยทีเดียว ผมขอเล่าเหตุการณ์ต่างๆ เท่าที่จำได้เป็นหัวข้อย่อยๆ ดังนี้
ก่อนเงินท่วมเมืองไทย ภวัฒน์เล่าให้ผมฟังว่า เป็นเพราะประเทศใหญ่ๆ ตกลงกันให้เงินใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงตามกลไกตลาด โดยไม่ต้องไปเทียบกับทองแล้ว เพราะทองมีน้อยมาก เมื่อเทียบขนาดเศรษฐกิจทั้งโลก กล่าวคือประเทศไหนเก่งมาก คนเชื่อถือมากก็มีคนซื้อหรือใช้มาก ค่าเงินของประเทศนั้นก็จะใหญ่ ถ้าประเทศไหนไม่เก่ง คนไม่ค่อยน่าเชื่อถือ ซื้อขายกันน้อยค่าเงินของประเทศนั้นก็จะอ่อนหรือเล็กลง
หลังจากสงครามโลกประเทศใหญ่ๆ ค้าขายกันโดยมีสหรัฐเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก เพราะสหรัฐมีเงินมากที่สุด ประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส และอีกหลายประเทศเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของสหรัฐ ต้องใช้หนี้โดยใช้เงินสกุลสหรัฐเป็นหลัก เป็นเหตุให้เงินสหรัฐเป็นเงินใช้แลกเปลี่ยนในตลาดโลก
กว่า 60% ของมูลค่าซื้อขายระหว่างประเทศค้าขายกันไปมา 40 กว่าปี (ราวปี ค.ศ. 1945-1985) สหรัฐกลับกลายเป็นประเทศลูกหนี้รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น เยอรมนี และอีกหลายประเทศ จนสหรัฐมีปัญหาการเงินอย่างหนัก และหากปล่อยแบบนี้ไปเรื่อยๆ อาจจะเสียหายกันไปทั้งโลก ไม่ใช่เฉพาะสหรัฐประเทศเดียว สุดท้ายจึงมีการประชุมกันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลัก 5 ประเทศ คือ สหรัฐ ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี และญี่ปุ่น จัดประชุมกันที่โรงแรมพลาซา กรุงนิวยอร์ก วันที่ 22 ก.ย. 1985 บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการแทรกแซง จึงทำให้เงินเหรียญสหรัฐอ่อนค่าลง เพื่อลดความไม่สมดุลของการค้าโลก
เพียง 2-3 ปีให้หลัง เงินเหรียญสหรัฐลดค่าลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเงินเยนของญี่ปุ่นและเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเงินมาร์กของเยอรมนี
เงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นจาก 250 เยน ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ กลายเป็น 120 กว่าเยน ต่อ 1 เหรียญสหรัฐ ทำให้เงินญี่ปุ่น เงินเยอรมนี และเงินสกุลหลักอื่นๆ ที่แข็งค่าขึ้นไหลไปทั่วโลก มักมีข่าวว่าบริษัทญี่ปุ่นไปซื้อธุรกิจต่างๆ ในสหรัฐบ้าง ในยุโรปบ้าง และเข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ แม้แต่ประเทศคอมมิวนิสต์อย่างจีนและเวียดนามก็เปิดประเทศรับเงินลงทุนเช่นกัน
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ญี่ปุ่นมาลงทุนไม่น้อย นอกจากเงินเยนญี่ปุ่นแล้วยังมีเงินจากไต้หวันและฮ่องกงไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างมากมาย จนนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ถึงกับมีนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบมาเป็นสนามการค้า” เงินไหลมาเศรษฐกิจรุ่ง
เงินจากนอกประเทศไหลเข้ามามาก ส่วนหนึ่งมาลงทุนทำธุรกิจจริงๆ เช่น สร้างโรงงาน โรงแรม คอนโด ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สร้างถนนหนทาง ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย แต่เงินจากเมืองนอกก็ยังไหลเข้ามาในประเทศไทยมากจนธนาคาร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่างๆ ปล่อยให้กู้โดยมีเงื่อนไขการกู้น้อยมาก ดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศญี่ปุ่นต่ำมากไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ดอกเบี้ยเงินกู้ก็แค่ 2% เท่านั้น แต่ในประเทศไทยตอนนั้นดอกเบี้ยเงินฝาก 6-7% ดอกเบี้ยเงินกู้ประมาณ 14%
เงินจากนอกประเทศบางส่วนจึงถูกนำเข้ามาฝากในธนาคารไทยเพื่อกินส่วนต่างดอกเบี้ย บางส่วนถูกนำไปซื้อที่ดินเก็งกำไร และจำนวนไม่น้อยก็ลงทุนในตลาดหุ้น ตลาดหุ้นคึกคักมาก ทุกสิ่งทุกอย่างสว่างไสวไปหมด ไม่ว่าจะหยิบจับทำอะไรก็ประสบความสำเร็จไปหมด
(อ่านต่อฉบับวันเสาร์หน้า)