พระมหากษัตริย์ในสังคมสมัยใหม่
“พระมหากษัตริย์กับคนไทยคือเลือดเนื้อเดียวกัน” ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวถึงข้อถกเถียงในสังคมไทย
โดย...ทวี สุรฤทธิกุล
“พระมหากษัตริย์กับคนไทยคือเลือดเนื้อเดียวกัน”
ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวถึงข้อถกเถียงในสังคมไทยเมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่อพวกคอมมิวนิสต์กำลังโฆษณาชวนเชื่อว่า “กษัตริย์ไม่มีความจำเป็นในโลกสมัยใหม่” โดยท่านได้ให้คำอธิบายว่าสังคมไทยไม่เหมือนกับสังคมของประเทศอื่น โดยเฉพาะในทางการเมืองการปกครอง เช่นเดียวกันกับคอมมิวนิสต์ไทยก็ไม่เหมือนคอมมิวนิสต์จีน โซเวียต เวียดนาม หรือแม้กระทั่งลาว ซึ่งคอมมิวนิสต์ไทยจะไม่มีวันประสบความสำเร็จ พร้อมกับสรุปจบอย่างขบขันว่า “เว้นแต่พระเจ้าแผ่นดินจะเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย”
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์กล่าวอยู่เสมอๆ ว่า “พระมหากษัตริย์ไม่ใช่ปัญหาของสังคมไทย แต่เป็นพลังหลักที่สำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของสังคมไทย”
ในการสนทนากันอย่างลึกซึ้งกับลูกศิษย์ลูกหาที่มีความสนใจในเรื่องนี้ ครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์คนหนึ่งตั้งคำถามว่า “ตอนที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทราบว่าพวกเขาไม่ต้องการที่จะให้มีพระเจ้าแผ่นดินอีกต่อไป ทำไมสุดท้ายจึงยังต้องมีสถาบันนี้อยู่อีก”
คำตอบของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็คือ “ก็เพื่อความอยู่รอดของคณะราษฎรเองนั่นแหละ เพราะถ้าไม่มีพระเจ้าแผ่นดิน คนไทยก็ไม่เอาด้วย รวมถึงที่จะไม่เอาคณะราษฎรนั้นไว้ด้วย”
ผู้เขียนก็เคยร่วมสนทนาในเรื่องนี้กับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์อยู่เนืองๆ เคยถามท่านตรงๆ ว่า “แล้วถ้าจะให้สถาบันพระมหากษัตริย์คงอยู่คู่กับสังคมไทยไปนานๆ จะต้องทำอย่างไร”
“ขึ้นอยู่กับ 2 สิ่ง คือ ความเห็นร่วมกันของคนไทยที่จะมองเห็นคุณค่าหรือประโยชน์ของการมีพระมหากษัตริย์ กับความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากันได้กับการเปลี่ยนแปลงของสังคมของพระมหากษัตริย์เอง”
สิ่งแรก “ประโยชน์ของการมีพระมหากษัตริย์” ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ย้อนเปรียบไปถึงสังคมไทยตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ว่าเมื่อเทียบกับสังคมไทยในยุคปัจจุบันก็ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงในแนวคิดเรื่อง “ความจำเป็น” ของการมีพระมหากษัตริย์นี้เลย นั่นก็คือแนวคิดเรื่อง “ความเป็นพ่อ” ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งคนไทยเชื่อว่าพระมหากษัตริย์คือ “พ่อของประชาชน” มีหน้าที่ที่จะต้อง “ปกป้องคุ้มครองดูแล และทำนุบำรุงให้ความสุขสมบูรณ์แก่อาณาประชาราษฎร์” โดยที่พระมหากษัตริย์ก็ยังคงทำหน้าที่ในเรื่องเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่ระบบรัฐสภาของเราก็ยังอ่อนแอ ไม่เป็นที่พึ่งพิงในการคุ้มครองดูแลและปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน รวมถึงระบบการบริหารและข้าราชการของเราก็ยังเต็มไปด้วยความไร้ประสิทธิภาพและคอร์รัปชั่น คนไทยจึง “ถวิลหา” หรือเชื่อมั่นในอดีตว่าที่เรายังคงอยู่รอดเป็นคนไทยและประเทศไทยอยู่ได้ก็ด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์นี่เอง โดยเฉพาะที่ยังเป็นทรงเป็นขวัญและกำลังใจ หรือ “ศูนย์รวมจิตใจ” แห่งสังคมไทย ที่รวมหมายถึง “ความเป็นคนไทยและชาติไทย”
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า สังคมไทยจะยังคงต้องมีพระมหากษัตริย์ ตราบใดที่นักการเมืองและผู้ปกครองไม่เลิกที่จะแก่งแย่งผลประโยชน์ แต่ที่ร้ายที่สุดคือการแย่งชิงประชาชน เพราะพระมหากษัตริย์ไม่เคยแย่งชิงประชาชน ทรงรักประชาชนทุกคน และไม่ทำให้แผ่นดินแตกแยก
สิ่งต่อมา “ความสามารถในการปรับตัวของพระมหากษัตริย์” ที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ได้เล่าความตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเช่นกันว่า แต่แรกเราเป็นแบบ “พ่อปกครองลูก” ด้วยความที่ประเทศไทยยุคนั้นยังเป็นสังคมเล็กๆ ประเทศก็ไม่ต่างอะไรกับครอบครัว ความใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และพระมหากษัตริย์ยุคนั้นก็ดำรงอยู่ในฐานะ “พ่อ” นั้นด้วย อย่างที่เรียกว่า “พ่อขุน” ที่หมายถึงพ่อที่ทำหน้าที่ปกครองและดูแลบ้านเมืองนั่นเอง แต่เมื่อสังคมไทยต้องแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องมาถึงต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต้องป้องกันการรุกรานและแสดงพระเดชานุภาพเพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัย ก็ทรงเป็นนักรบที่เข้มแข็ง กระทั่งเมื่อชาติตะวันตกมารุกรานเราในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ปรับตัวทำให้สังคมไทยทันสมัยและพาประเทศให้อยู่รอดต่อมาได้ จนที่สุดแม้จะถูก “กีดกัน” ออกเสียจากพระราชอำนาจที่เคยมีตั้งแต่ 24 มิ.ย. 2475 แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ปรับตัวให้เป็นประชาธิปไตยได้ดียิ่งกว่า ด้วยพระราชจริยวัตรและการทรงงานที่ทุ่มเทเสียสละ จึงยังคงได้รับความนิยมจากประชาชนเสมอมา
ความนิยมที่พระมหากษัตริย์ได้รับจากประชาชนไม่ใช่ความคลั่งไคล้หรืองมงาย แต่เป็นเหตุผลที่ทุกคนได้ประจักษ์ นอกเหนือจากพระราชกรณียกิจที่ได้ทรงทำประโยชน์ให้กับคนไทยและสังคมไทยอย่างมากมายแล้ว ในหลายๆ วิกฤตทางการเมือง (รวมถึงเศรษฐกิจและสังคม) ก็ได้พระบารมีมาคลี่คลาย ยิ่งในด้านจริยธรรมด้วยแล้ว พระมหากษัตริย์ได้ทรงปฏิบัติตนให้เห็นอย่างแจ้งชัดว่ามี “ความดี” เหนือผู้ปกครองใดๆ
แต่เมื่อครั้งแรกที่เรามีพระมหากษัตริย์เป็นประดุจพ่อฉันใด ถึงวันนี้เราก็ยังได้พระมหากษัตริย์ที่เป็นพ่ออยู่ดังนั้น ยิ่งไปกว่านั้นก็ยังทรงเป็น “พลังที่สำคัญที่สุด” ในการปกครองบ้านเมืองเสมอมา
ดังพระนามของพระเจ้าอยู่หัวของเรา “ภูมิพล” ก็แปลว่า “พลังแห่งแผ่นดิน”