posttoday

เทคโนเวิลด์

06 พฤศจิกายน 2559

การนำหุ่นยนต์มาช่วยเพิ่มความสะดวกในชีวิตประจำวันกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นทุกที

เผยโฉมหุ่นผู้ช่วยให้บริการแขกในโรงแรม

การนำหุ่นยนต์มาช่วยเพิ่มความสะดวกในชีวิตประจำวันกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นทุกที เมื่อบริษัทวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ซาวิโอกี ริเริ่มผลิตหุ่นยนต์รีเลย์ เพื่อช่วยลดภาระในการบริหารจัดการโรงแรมและให้บริการขนส่งอาหารและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้แขกในโรงแรมโดยเฉพาะ โดยรีเลย์เป็นหุ่นยนต์ทรงสูง มีพื้นที่เก็บของภายในที่สามารถเปิดปิดได้จากด้านบน อีกทั้งมีซอฟต์แวร์อัจฉริยะ มาพร้อมระบบกล้องและเซ็นเซอร์เพื่อเคลื่อนที่ไปทั่วโรงแรมโดยไม่ชนกับสิ่งของหรือผู้คน ซึ่งสามารถส่งสิ่งของต่างๆ ไปยังห้องของแขกภายในเวลา 3 นาที เมื่อป้อนคำสั่งเข้าสู่ระบบ นอกจากนี้หุ่นยนต์ยังสามารถเรียกลิฟต์ในโรงแรมได้ด้วย บริษัทผู้ผลิตได้ทดลองนำหุ่นยนต์ไปใช้งานจริงที่โรงแรมคราวน์ พลาซา ซานโฮเซ ซึ่งแม้จะสร้างความตื่นเต้นให้พนักงานในช่วงแรก แต่ เดวิด หวัง หัวหน้าฝ่ายขายของโรงแรม เปิดเผยว่า หุ่นยนต์รีเลย์ช่วยให้พนักงานทำงานได้ง่ายขึ้น และเพิ่มความสะดวกสบายแก่แขกที่มาพักในโรงแรม

ผลวิจัยเผยการสูบบุหรี่ทำให้เซลล์กลายพันธุ์

ผลการศึกษาร่วมกันระหว่างสถาบันเวลล์คัม ทรัสต์ แซงเกอร์ ในเมืองเคมบริดจ์เชอร์ ในอังกฤษ และสถาบันอะลามอส เนชั่นแนล แลปบอราทอรี ในเมืองนิวเม็กซิโกของสหรัฐ ระบุว่า การสูบบุหรี่ 1 กล่อง/วัน ส่งผลให้เซลล์กลายพันธุ์ แม้บุคคลดังกล่าวจะเลิกสูบบุหรี่นานแล้วก็ตาม โดยผลวิจัยพบเซลล์กลายพันธุ์ในปอด 150 เซลล์/ปี รวมถึง 97 เซลล์ในกล่องเสียง และ 23 เซลล์ในปาก นอกจากนี้การกลายพันธุ์ยังเกิดขึ้นกับเซลล์ภายในอวัยวะที่ไม่ได้สัมผัสกับสารเคมีจากบุหรี่โดยตรงด้วย โดยพบการกลายพันธุ์ใน 18 เซลล์ในกระเพาะปัสสาวะ และ 6 เซลล์ในตับ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งบริเวณอวัยวะต่างๆ ทีมวิจัยอธิบายว่า สารเคมีในบุหรี่ราว 70 ชนิดส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอโดยตรง และบางชนิดขัดขวางระบบการทำงานของเซลล์ภายในร่างกาย และทำให้เซลล์กลายพันธุ์แบบสุ่มตามอวัยวะต่างๆ หากรับสารเคมีดังกล่าวมากขึ้น โอกาสเกิดเซลล์กลายพันธุ์ที่จะเปลี่ยนเป็นเซลล์มะเร็งในเวลาต่อไปจะยิ่งสูงขึ้น

เทคโนเวิลด์

 

นาซ่าชี้การทำเหมืองอวกาศช่วยยกระดับมนุษยชาติ

ซีเอ็นบีซีรายงานอ้าง โฮเซ คอร์ดีโร ที่ปรึกษาด้านพลังงานขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซ่า) ว่า การทำเหมืองแร่บนดาวเคราะห์น้อยจำนวนมากรอบโลกจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ และแร่ธาตุหายากบนดาวเคราะห์ดังกล่าวสามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานสะอาดที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในโลกได้ รวมถึงอาจนำมาประยุกต์ใช้บรรเทาปัญหาทรัพยากรน้ำและความมั่นคงด้านอาหาร โดยคอร์ดีโรคาดหวังให้ภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลกร่วมมือกันเพื่อพัฒนาภาคส่วนดังกล่าว ด้านบิซิเนสอินไซเดอร์ระบุว่า การทำเหมืองแร่อวกาศอาจเป็นโอกาสเชิงพาณิชย์ครั้งใหม่ที่สามารถสร้างเงินให้ประชากรทั่วโลกคนละ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.5 ล้านล้านบาท) จากกลุ่มดาวเคราะห์น้อยที่มีจำนวนมากกว่า 1 ดวงระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี และอีก 200 ดวงที่อยู่ในรัศมีดังกล่าว 100 กม. อย่างไรก็ดีการทำเหมืองแร่อวกาศไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะต้องใช้ต้นทุนสูงมาก โดยนาซ่าได้ทดลองนำตัวอย่างแร่ธาตุขนาด 60-2,000 กรัม กลับมาจากดาวเคราะห์น้อยเบนนู ซึ่งต้องใช้ค่าใช้จ่ายถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.5 หมื่นล้านบาท)

พบรอยฉีกขาดในสนามแม่เหล็กโลก

สนามแม่เหล็กโลกเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้โลกเหมาะแก่การอยู่อาศัย ซึ่งปกป้องสิ่งมีชีวิตต่างๆ จากพายุสุริยะและรังสีคอสมิกอันตรายจากนอกโลก อย่างไรก็ดีทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยทาทา อินสติติว ออฟ ฟันดาเมนทัล รีเสิร์ช ค้นพบว่า รังสีคอสมิกที่มาจากนอกระบบสุริยะ ซึ่งเป็นรังสีที่มีพลังสูง พุ่งเข้ามาที่สนามแม่เหล็กโลกด้วยความเร็วเกือบเท่าความเร็วแสงเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ทำให้สนามแม่เหล็กโลกเกิดการฉีกขาดชั่วคราว ส่งผลให้สัญญาณวิทยุขาดหายในหลายพื้นที่เหนือเส้นศูนย์สูตรในช่วงเวลาดังกล่าว แม้ว่าสนามแม่เหล็กฉีกขาดเพียงชั่วคราว แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า รังสีคอสมิกดังกล่าวได้ส่งผลให้สนามแม่เหล็กมีความเปราะบางเพิ่มขึ้นในบางจุด และมีโอกาสฉีกขาดซ้ำหากมีรังสีคอสมิกพุ่งเข้าปะทะอีกในอนาคต พร้อมเสริมว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจเป็นกุญแจสำคัญสู่การเข้าใจและเตรียมรับมือพายุอวกาศได้ดียิ่งขึ้น