เทคโนเวิลด์
ในวันที่ 14 พ.ย.นี้ ผู้คนทั่วโลกจะได้เห็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ หรือซูเปอร์มูน
เตรียมชม ‘ซูเปอร์มูน’ ครั้งแรกรอบ 69 ปี
ในวันที่ 14 พ.ย.นี้ ผู้คนทั่วโลกจะได้เห็นดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ หรือซูเปอร์มูน ซึ่งจะเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบเกือบ 69 ปี ส่งผลให้มนุษย์มองเห็นดวงจันทร์ขนาดใหญ่ขึ้นถึง 14% และมีความสว่างกว่าปกติราว 30% โดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซ่า) เปิดเผยว่า ในเวลาประมาณ 18.21 น. ตามเวลาไทยในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ ดวงจันทร์จะเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกมากที่สุด โดยอยู่ห่างเพียง 3.56 แสนกิโลเมตรเท่านั้น และปรากฏการณ์พระจันทร์เต็มดวงจะเกิดขึ้นในเวลาราว 20.52 น. ตามเวลาไทยในวันดังกล่าว โดยหากพลาดชมครั้งนี้ จะต้องรอดูปรากฏการณ์ดังกล่าวในอีก 18 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ดีหากมองดูซูเปอร์มูนด้วยตาเปล่า มนุษย์อาจไม่เห็นความแตกต่างจากดวงจันทร์ตามปกติมากนัก สกายแอนด์เทเลสโคป นิตยสารสำหรับนักดูดาว จึงแนะนำให้หาลูกโลกเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 30 เซนติเมตร และลูกเบสบอลหรือผลส้มมาวางห่างกันราว 9 เมตร เพื่อเปรียบเทียบกับขนาดซูเปอร์มูน นอกจากนี้การที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันดังกล่าว ยังส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นราว 5 เซนติเมตรด้วยเช่นกัน
ผลวิจัยเผยสาเหตุนกทะเลกินพลาสติก
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียค้นพบสาเหตุที่นกทะเลจำนวนมากกินพลาสติกเข้าไป จนเป็นสาเหตุที่ทำให้ระบบทางเดินอาหารผิดปกติและตายในที่สุด โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ออกไปทำการศึกษาประเด็นดังกล่าวเป็นเวลา 3 สัปดาห์ บริเวณชายฝั่งทะเลในสหรัฐ และพบว่า นกทะเลกว่า 90% กินพลาสติกจำนวนมากเข้าไป เนื่องจากสารเคมีในพลาสติก เช่น สารไดเมทิลซัลไฟด์ มีกลิ่นคล้ายกับกะหล่ำปลี สาหร่ายทะเล และแพลงตอนพืช โดยนกที่มีประสาทรับกลิ่นไว เช่น นกอัลบาทรอส นกจมูกหลอดยักษ์ขั้วโลกใต้ และนกจมูกหลอด จะได้กลิ่นดังกล่าวจากพลาสติก ซึ่งทำให้นกเกิดความสับสน และคิดว่าพลาสติกเหล่านั้นเป็นอาหาร ทั้งนี้การค้นพบดังกล่าวทำให้ทีมงานตั้งเป้าศึกษาเพิ่มเติมว่า กลิ่นของพลาสติกจะมีผลกระทบกับสัตว์ทะเลชนิดอื่นด้วยหรือไม่ เช่น ปลา นกเพนกวิน และเต่าทะเล อีกทั้งผลการศึกษาครั้งนี้อาจนำไปสู่การพัฒนาพลาสติกไม่ให้มีกลิ่นเหมือนอาหารสำหรับสัตว์ทะเล และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
พบฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ในจีน
คนงานก่อสร้างและเกษตรกรชาวจีนพบฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่โดยบังเอิญ ที่มีชื่อว่า ตงเตียนหลง ลิโมซัส ในมณฑลเจียงซี ทางตอนใต้ของจีน โดยฟอสซิลดังกล่าวถูกค้นพบใกล้กับโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง ด้าน สตีเฟน บรูแซตต์ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตจากมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก กล่าวว่า ไดโนเสาร์ที่เพิ่งค้นพบดังกล่าวคาดว่ามีชีวิตอยู่เมื่อราว 66-72 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งคล้ายคลึงกับไดโนเสาร์ตระกูลโอวิแรปเตอร์ ไดโนเสาร์ที่ไม่ใช่สัตว์ปีกแต่มีลักษณะคล้ายกับนกในปัจจุบัน มีขนขึ้นตามตัว ไม่มีฟัน และมีกะโหลกสั้น ฟอสซิลดังกล่าวถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญที่ช่วยสร้างความกระจ่างมากขึ้นเกี่ยวกับระบบนิเวศบนโลก ก่อนที่อุกกาบาตขนาดใหญ่จะพุ่งชนโลกจนส่งผลให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ โดยบรูแซตต์คาดว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวน่าจะเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์นอกเหนือจากไดโนเสาร์
ชิปควบคุมสมองช่วยให้ลิงหายเป็นอัมพาตได้
ทีมนักประสาทวิทยาจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสมาพันธรัฐสวิส ในสวิตเซอร์แลนด์ ค้นพบความก้าวหน้าล่าสุดที่อาจนำไปสู่การรักษาผู้ป่วยโรคอัมพาต จากการทดลองฝังชิปควบคุมสมองไว้ในลิงที่เป็นอัมพาตบางส่วน ซึ่งลิงตัวดังกล่าวสามารถกลับมาเดินได้เกือบปกติหลังเวลาผ่านไป 6 วัน โดย เกรกัวร์ กูร์ตีน หัวหน้าทีมวิจัยเปิดเผยว่า ทีมงานใช้เวลาพัฒนาชิปสมองดังกล่าวนานถึง 7 ปี ที่มีกระบวนการทำงานหลัก 4 ขั้นตอนด้วยกัน เริ่มต้นที่ชิปควบคุมสมองที่บันทึกข้อมูลเซลล์ประสาทราว 50-100 เซลล์ จะส่งสัญญาณคำสั่งการเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์ไปยังคอมพิวเตอร์ และสร้างกระแสไฟฟ้าขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ชิปควบคุมที่ฝังอยู่บริเวณไขสันหลังทำงาน แล้วทำให้กล้ามเนื้อขาที่ไม่สามารถใช้การได้เกิดการเคลื่อนไหว ทั้งนี้ กูร์ตีนเสริมว่า แม้การทำงานของชิปควบคุมสมองดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ช่วยให้ลิงทดลองกลับมาเดินได้เกือบปกติ ซึ่งควบคุมการลงน้ำหนักเท้าและความสมดุลในการเดินได้เป็นอย่างดี โดยทีมงานหวังว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะได้รับการพัฒนามากยิ่งขึ้นเพื่อนำไปช่วยให้ผู้ป่วยอัมพาตหรือขาพิการสามารถกลับมาเดินได้อีกครั้ง