posttoday

ความคาดหวังของคนไทยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

20 พฤศจิกายน 2559

ประเทศไทยยังจะต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์คือความจำเป็นสำหรับประเทศไทย

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

ประเทศไทยยังจะต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์

สถาบันพระมหากษัตริย์คือความจำเป็นสำหรับประเทศไทย ที่พระมหากษัตริย์มีความแนบแน่นกับประชาชนจนเสมือนเป็นเลือดเนื้อเดียวกัน ทั้งในทางประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ โดยที่พวกเราก็ทราบกันดี ดังที่พวกเราได้ร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาลนั้นในช่วงการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในขณะนี้

ผู้เขียนใคร่ขออธิบายเพิ่มเติมในมุมมองทางด้านรัฐศาสตร์ ว่าด้วย “ความเป็นสถาบัน” ที่นิสิตนักศึกษาของสาขาวิชานี้จะต้องได้เคยเรียนในชุดหลักพื้นฐานเกี่ยวกับทฤษฎีทางการเมืองการปกครองนั่นเอง แต่เนื่องจากเป็นทฤษฎีที่มีการศึกษากันมากว่า 60 ปีแล้ว บางคนจึงอาจจะมองว่าน่าจะล้าสมัยไปแล้ว โดยเฉพาะพวกนักวิชาการอายุน้อยๆ ที่ไปสนใจแนวทางอื่น แต่สำหรับผู้เขียนยังมองว่าแนวการศึกษาด้านความเป็นสถาบันนี้ยังมีความทันสมัยและเข้ากันได้ (อธิบายได้) เป็นอย่างดีสำหรับประเทศไทย

“ความเป็นสถาบัน” (Institutionalization) หมายถึง กระบวนการสร้างหรือจัดตั้งองค์กรและหน่วยงาน (เช่น องค์กรการเมือง หน่วยงานราชการ) หรือกิจกรรมทางสังคม (เช่น วัฒนธรรม ประเพณี) รวมถึงสิ่งที่จำเป็นในการดำเนินการขององค์กรและกิจกรรมเหล่านั้น (เช่น รัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ สำหรับระบบการเมืองและหน่วยงานราชการ หรือภาษาและศิลปะ สำหรับวัฒนธรรมและประเพณี) ซึ่งมีลักษณะที่มีรูปธรรม คือสามารถจับต้องมองเห็นได้ รวมถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมที่อาจจะมองไม่เห็น แต่สามารถที่จะ “รับรู้” หรือตระหนักว่ามี “ความจำเป็น” ต่อการดำเนินการหรือการคงอยู่ขององค์กร หน่วยงาน และกิจกรรมทั้งหลายนั้น อย่างเช่น ความเป็นประชาธิปไตยกับระบบการเมือง การรับใช้ประชาชนสำหรับระบบราชการ ความศรัทธาสำหรับวัฒนธรรมประเพณีทางศาสนา หรือความสามัคคีสำหรับความเป็นชาติ เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย “พระมหากษัตริย์” เป็นทั้งสถาบันที่ประกอบด้วยทั้งความเป็นรูปธรรมและนามธรรม คือมีตัวตนและสัมผัสได้ ได้แก่ องค์พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ หน่วยงานที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และวิธีปฏิบัติต่างๆ ต่อองค์พระมหากษัตริย์ และมีกระบวนการที่จะทำให้พระมหากษัตริย์นี้ดำรงคงอยู่ ได้แก่ ความศักดิ์สิทธิ์ในองค์พระมหากษัตริย์ และความจงรักภักดีที่ประชาชนมีต่อองค์พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ อีกทั้งความต่อเนื่องยาวนานของสถาบันพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วยบทบาทที่เข้มแข็งและฝังลึก ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่สำคัญมากในสังคมไทยเสมอมา

ในทางทฤษฎีนั้น การดำรงคงอยู่ของสถาบันใดๆ มีองค์ประกอบอยู่ 2 ส่วน หนึ่งก็คือ ความสามารถในการปรับตัวของสถาบันดังกล่าวให้เข้าด้วยกันได้ หรือสร้างคุณค่าให้แก่สังคมได้ ให้สังคมตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีสถาบันนั้นอยู่ตลอดไป อีกส่วนหนึ่งก็คือ การยอมรับหรือการให้ความชอบธรรมจากประชาชน ที่อาจจะเรียกว่า “ความคาดหวัง” ว่าสถาบันนั้นๆ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง มีประโยชน์ และช่วยสร้างเสริมสังคมให้ก้าวหน้ารุ่งเรือง ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมีองค์ประกอบทั้งสองนี้อย่างสมบูรณ์

สำหรับพวกเราที่เกิดมาในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อาจจะมีประสบการณ์หรือการรับรู้ที่ไม่แตกต่างกัน อันสะท้อนถึงความคาดหวังของคนไทยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่คล้ายๆ กัน ซึ่งผู้เขียนใคร่ขอสรุปเป็นข้อๆ ดังนี้

ประการแรก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 ผู้ปกครองที่เป็นคณะผู้ก่อการอาจจะมีความคาดหวังว่าสถาบันพระมหากษัตริย์จะ “รักษาระยะห่าง” ตามแบบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญโดยทั่วไป แต่สำหรับคนไทยแล้วกลับมองตรงกันข้าม คือยังถวิลหวังที่จะให้สถาบันพระมหากษัตริย์นี้อยู่คงคู่กับสังคมไทย “อย่างใกล้ชิด” ดังจะเห็นได้จาก “ความจงรักภักดี” ที่แน่นแฟ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น

ประการต่อมา ด้วยเหตุที่ระบบราชการและระบบการเมืองของประเทศไทยมี (และสร้าง) ปัญหาอยู่มากมายมาโดยตลอด ไม่สามารถเป็นที่พึ่งที่หวังให้กับสังคมได้ ในขณะที่สถาบันพระมหากษัตริย์กลับแสดงบทบาทที่ “สะอาดบริสุทธิ์” หวังที่จะสร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชนอย่างแท้จริง ทำให้ประชาชนมีข้อเปรียบเทียบ และนำมาซึ่งความโดดเด่นของสถาบันอันสูงส่งนี้ให้ยังมีบทบาทที่สำคัญนี้ต่อไป

ประการสุดท้าย ภายใต้บรรยากาศอันโศกเศร้าเป็นที่สุดนี้ สังคมไทยได้แสดงพลังให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าคนไทยกับพระมหากษัตริย์มีความผูกพันกันแนบแน่นเพียงไร ซึ่งอาจจะแสดงถึงความคาดหวังของสังคมไทยในอนาคตเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ต้องการจะกระชับความผูกพันนั้นให้มั่นคงมากขึ้น อันเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกภาคส่วนที่จะต้องแสดงและรักษาพลังนี้ไว้ให้มั่นคงเช่นกัน

สถาบันทางการเมืองและสังคมเป็นสิ่งมีชีวิต อาจจะมีขึ้นมีลงเป็นวัฏจักรได้ดังเช่นสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยที่ “ความวัฒนาถาวร” ของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นก็ขึ้นอยู่กับ “การวิวัฒน์” ที่ขึ้นอยู่กับศักยภาพในการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตนั้น ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ที่มีทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้

คนไทยและสังคมไทยคือสภาพแวดล้อมที่จะส่งเสริมสถาบันพระมหากษัตริย์ให้แข็งแรงมั่นคงตลอดไป ภายใต้ความสัมพันธ์อันแนบแน่นที่เป็นมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์แห่งความเป็นชาติไทยนี้