วิธีที่ K-Books บุกโลก
The Man Booker International Prize เป็นรางวัลของ มูลนิธิ The Booker Prize Foundation จากอังกฤษ
โดย...ดร. เพียงออ เลาหะวิไลย [email protected]
The Man Booker International Prize เป็นรางวัลของ มูลนิธิ The Booker Prize Foundation จากอังกฤษ มอบให้หนังสือที่แปลเป็นภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดในแต่ละปี หนังสือนั้นจะต้องมีภาษาดั้งเดิมเป็นภาษาอื่น... รางวัลหนังสือแปลดีที่สุดประจำปี 2016 นี้ เป็นหนังสือนวนิยายเกาหลี ชื่อว่า “The Vegetarian” เป็นผลงานของนักเขียนสตรีนามว่า “ฮันกัง”...
หลังจากหนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัล นักแปลเกาหลีในไทยต่างพยายามสืบกันว่ามีสำนักพิมพ์ใดซื้อไปแล้วหรือยัง ปรากฏว่ามีคนโฉบตัดหน้าซื้อลิขสิทธิ์แปลไปแล้วค่ะ คงจะได้เห็นเล่มภาษาไทยเร็วๆ นี้...ทว่า ประเด็นของวันนี้ไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาของหนังสือมีคุณค่าเพียงใดจึงได้รับรางวัล... แต่มาคุยกันที่ “เกาหลีสร้างโอกาสให้หนังสือก้าวขึ้นสู่หนังสือระดับโลกได้อย่างไร”...
เท้าความก่อนค่ะ...หนังสือเล่มนี้ได้ตีพิมพ์ออกจำหน่ายครั้งแรกในเกาหลีตั้งแต่ปี 2007 ผ่านไปเกือบ 10 ปียอดขายฉบับภาษาเกาหลีในประเทศเบาบางมาก ก่อนได้รับรางวัลหนังสือแทบไม่มีคนรู้จัก พอปี 2015 ได้แปลออกเป็นภาษาอังกฤษ 1 ปีถัดมาประกาศรางวัล จึงเกิดปรากฏการณ์ผู้อ่านเกาหลีพยายามควานหาหนังสือให้มาอยู่ในครอบครอง เรียกว่า ยอดขายทั้งออนไลน์ ทั้งยอดจอง ทะลุ 1.4 หมื่นเล่ม ภายในเวลา 1-2 วัน...รางวัลที่ได้กลายเป็นน้ำมนต์ชุบชีวิตหนังสือที่เกือบม้วยคาโกดังเก็บของให้คืนชีพมาอยู่บนชั้นหนังสือในร้านได้อีกครั้ง...
การแปลหนังสือเป็นภาษาอื่นๆ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษช่วยขยายทั้งภาคเศรษฐกิจ เครือข่ายธุรกิจ และ อิทธิพลทางความคิดกับวัฒนธรรมให้คนทั่วโลกซึมซับรับรู้ National Brand Value ของเกาหลี ด้วยเหตุนี้ เกาหลีจึงตั้งองค์กร Literature Translation Institute of Korea (LTI Korea) ขึ้นมา เป็นหน่วยงานภายใต้กำกับของรัฐ เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการแปลหนังสือเกาหลีออกเป็นภาษาต่างประเทศ...บ่อยครั้งที่เขียนเรื่องเกาหลีแล้ว ต้องย้อนกลับมาหาข้อมูลของไทยว่า เรามีอยู่ที่ไหนหรือเปล่า...
หนังสือเกาหลีแปลเป็นภาษาอื่นๆ มาแล้ว 2,000 กว่าเล่ม
ณ เวลานี้ ภาษาที่เป็นเป้าหมายให้เกิดการส่งผ่านวัฒนธรรมเกาหลีไปสู่ประเทศที่ใช้ภาษานั้นๆ ได้แก่ ภาษา อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน รัสเซีย ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งเป็นกลุ่มภาษาที่มีประชากรใหญ่มาก เป็นประเทศที่มีรสนิยมในการอ่านหนังสือเล่มจับต้องได้ และซาบซึ้งกับสินค้าทางวัฒนธรรม...
จีนเป็นตลาดเกิดใหม่ที่เกาหลีมุ่งเป้าตรงๆ เลย คือ มีการทำวิจัยความนิยมหนังสือเกาหลีในตลาดจีน เจาะแต่ละเมืองค้นหารสนิยมในการอ่านตามเพศและวัย จากนั้นก็ออกเดินสายจัดงานหนังสือเกาหลี K-Books Fair ในเมืองใหญ่ๆ ของจีนหลายเมือง นำเสนอหนังสือตามรสนิยมการอ่าน เพศ วัย เพื่อประชาสัมพันธ์และจับคู่กับสำนักพิมพ์ท้องถิ่น...ปีนี้ เป็นปีที่เกาหลีรุกเดินหน้าในการขยายตลาดหนังสือเกาหลีในเอเชียและโลกอย่างจริงจังค่ะ
นอกจากนี้ LTI Korea มีโปรแกรมสนับสนุนนักแปลหลากหลายมาก ทั้งการอบรมฟรี ค่าเครื่องบินฟรีให้แก่นักแปลวรรณกรรมชาวต่างชาติที่เป็นภาษาเป้าหมายมาเรียนหรือเข้า Workshop การแปลวรรณกรรมไปเป็นภาษานั้นๆ...เสียดาย แม้ไทยจะเป็นเป้าหมายหนึ่งในเอเชียเหมือนกันแต่ขนาดตลาดหนังสือเราเล็กกว่ามากจึงยังไม่มี Workshop แปลไทย
ด้านการตลาด ปัจจุบันมีเอเยนต์หนังสือเข้ามาทำตลาดขายให้สำนักพิมพ์ไทยอยู่ 3-4 ราย...ในภาพรวมรัฐออกหน้า ในภาพย่อยเอกชนเป็นมดงานช่วยกันทำ ช่วยกันขายเอาเงินกลับไปเก็บที่เกาหลี...