เทคโนเวิลด์
ดาวพลูโตได้ชื่อว่าเป็นดาวที่เต็มไปด้วยความน่าประหลาดใจมากมาย และล่าสุดดวงดาวดังกล่าวอาจมี
คาดมีมหาสมุทรน้ำแข็งใต้พื้นผิวดาวพลูโต
ดาวพลูโตได้ชื่อว่าเป็นดาวที่เต็มไปด้วยความน่าประหลาดใจมากมาย และล่าสุดดวงดาวดังกล่าวอาจมีมหาสมุทรขนาดยักษ์ซ่อนอยู่ใต้พื้นผิวธารน้ำแข็งบนดาว โดยสาเหตุที่นักวิทยาศาสตร์คิดว่ามีมหาสมุทรดังกล่าวซ่อนอยู่ใต้พื้นผิวนั้น มาจากวงโคจรของดาวพลูโตและดวงจันทร์ชารอน ซึ่งแอ่งที่ราบบนดาวชื่อสปุตนิก พลานิเทีย มักจะอยู่ในทิศทางตรงข้ามกับดวงจันทร์ชารอนเสมอ เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายจากยานนิวฮอร์ไรซอนของนาซ่า แม้การเรียงตัวดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 5% ทำให้ฟรานซิส นิมโม นักวิทยาศาสตร์ด้านดาวเคราะห์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย คาดว่าใต้พื้นที่ดังกล่าวอาจมีมวลน้ำใต้ดินมหาศาล ซึ่งอาจเทียบเท่ากับน้ำในมหาสมุทรบนโลก ซ่อนอยู่ใต้ธารน้ำแข็งความลึกราว 100 กิโลเมตร จนทำให้ดาวเคลื่อนที่ในทิศทางดังกล่าวเพื่อให้เกิดความสมดุล แม้ว่าดาวพลูโตมีอุณหภูมิต่ำมาก ซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ราว 40 เท่า จากระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะมีมวลน้ำใต้ดินที่ยังไม่กลายเป็นน้ำแข็ง เนื่องจากได้รับความร้อนจากสารกัมมันตรังสีที่ยังหลงเหลืออยู่บนดาว
ไมโครซอฟท์ทำแอพพลิเคชั่นช่วยคนตาบอดสี
ทีมวิศวกรซอฟต์แวร์จากบริษัท ไมโครซอฟท์ พัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ล่าสุดที่มีชื่อว่า คัลเลอร์ ไบโนคูลาร์ส เพื่อช่วยให้บุคคลที่มีอาการตาบอดสีสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ บนโลกได้ดีขึ้น โดยแอพพลิเคชั่นดังกล่าวเปิดให้ดาวน์โหลดมาใช้ฟรีผ่านไอทูนส์ ซึ่งมีฟิลเตอร์พิเศษที่จะช่วยให้คนตาบอดสีแยกแยะวัตถุสีแดงและสีเขียวได้ง่ายขึ้น โดยเมื่อมองไปที่วัตถุสีแดงและสีเขียวผ่านหน้าจอแอพพลิเคชั่น วัตถุสีแดงจะมีสีชมพูมากยิ่งขึ้น ขณะที่วัตถุสีเขียวจะมีสีเข้มขึ้น อย่างไรก็ดีแอพพลิเคชั่นดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้คนตาบอดสีมองเห็นได้เหมือนคนทั่วไป ทำได้แค่เพียงช่วยในการสังเกตสีสันเท่านั้น เช่น การแยกเสื้อกันหนาวลายทางสีเขียวและสีแดง ทั้งนี้โรคตาบอดสีมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของเซลล์รูปกรวย หรือโคนเซลล์ ซึ่งประกอบด้วยเซลล์รูปกรวยสีแดง เซลล์รูปกรวยสีเขียว และเซลล์รูปกรวยสีน้ำเงิน แม้ในปัจจุบันจะมีแว่นตาที่ช่วยแก้ไขการมองเห็นสีของผู้ป่วยโรคดังกล่าวได้ แต่แว่นตาดังกล่าวยังคงมีราคาสูงมากราวหลายร้อยเหรียญสหรัฐ
เพิ่มผลผลิตพืชด้วยเทคนิคการตัดแต่งยีน
ปัญหาสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม หรืออุณหภูมิโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตได้น้อยลง แต่เมื่อไม่นานนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐค้นพบทางออกในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร จากการใช้เทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนให้พืชสามารถรับแสงอาทิตย์ได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการสังเคราะห์แสง ส่งผลให้พืชเจริญเติบโตได้รวดเร็วและให้ผลผลิตมากกว่าเดิม โดยเริ่มทดลองใช้เทคนิคดังกล่าวกับต้นยาสูบ และพบว่าช่วยเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น 15% ด้านศาสตราจารย์ สตีเฟน หลง หัวหน้าทีมงานจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เปิดเผยว่า แม้การดำเนินการดังกล่าวยังอยู่ในขั้นทดลอง ซึ่งยังไม่แน่ใจว่าเทคนิคดังกล่าวจะนำไปใช้กับพืชชนิดอื่นได้หรือไม่ แต่ทางทีมงานเชื่อว่าเทคนิคดังกล่าวจะปูทางไปสู่การค้นคว้าเพื่อเพิ่มผลผลิตพืชทั่วโลกเป็น 70% ภายในปี 2050 ตามเป้าหมายของสหประชาชาติ (ยูเอ็น)
นักวิทย์เผยการตัดแต่งยีนเยียวยาสัตว์ตาบอดได้
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยซอล์ค เพื่อการศึกษาชีววิทยา เปิดเผยว่า เทคนิคการตัดแต่งพันธุกรรมที่มีชื่อว่าคริสเปอร์ หรือกรรไกรตัดแต่งโมเลกุล สามารถช่วยรักษาอาการตาบอดตอนกลางคืนของหนูทดลองได้ ด้วยการเข้าไปปรับแต่งยีนผิดปกติที่ไม่แยกตัวออกจากกัน ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนดีเอ็นเอที่ผิดปกติได้ราว 5% โดยผลการทดลองดังกล่าวอาจนำทางไปสู่การรักษาโรคทางพันธุกรรมที่ไม่เคยรักษาได้มาก่อน เช่น โรคกล้ามเนื้อเสื่อม โรคฮีโมฟีเลีย หรือโรคเลือดไหลไม่หยุด และโรคซีสติกไฟโบรซิส ที่ทำให้ร่างกายสร้างเยื่อเมือกขึ้นมามากผิดปกติในปอดและลำไส้ ส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก และทำให้ลำไส้ย่อยอาหารยากขึ้น ด้านศาสตราจารย์ ฮวน คาร์ลอส อิซพีซัว เบลมอนเต หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า ทีมงานกำลังพัฒนาเทคนิคดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และคาดว่าอาจมีการทดลองใช้เทคนิคการตัดแต่งยีนดังกล่าวในมนุษย์ในอีก 1-2 ปีข้างหน้านี้ เพื่อพัฒนาแนวทางการรักษาความผิดปกติทางพันธุกรรมต่างๆ พร้อมเสริมว่าในขณะนี้ทีมงานกำลังพัฒนาแนวทางการรักษาโรคกล้ามเนื้อเสื่อมอยู่