ชีวิตติดปีกของ "หม่อง ทองดี"
วันนี้ของ"หม่อง ทองดี" จากด.ช.ผู้คว้ารางวัลร่อนเครื่องบินกระดาษระดับโลกสู่ครูฝึกโดรน
เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล / ภาพ...วิศิษฐ แถมเงิน
"สวัสดีครับพี่ มายากมั้ยครับ"
หม่อง ทองดี ในชุดเสื้อโปโลสีดำ กางเกงขาสั้น ออกมายืนรอรับหน้าบ้านด้วยรอยยิ้มเป็นมิตร ชวนให้นึกถึงภาพของเด็กน้อยกำลังย่อตัวพร้อมเหวี่ยงแขนสุดแรงเกิดเพื่อส่งเครื่องบินกระดาษพับลอยสูงไปบนอากาศ กระทั่งคว้าแชมป์ระดับประเทศ เมื่อหลายปีก่อน
วันนี้หม่องเติบใหญ่กลายเป็นหนุ่มวัย 19 ร่างเล็กแกร่ง พูดน้อย ขี้อาย เวลาหมุนเปลี่ยนเวียนผ่านทำให้ชีวิตของเด็กหนุ่มไร้สัญชาติผู้มีชื่อเสียงคนนี้กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้งกับแง่มุมใหม่ๆที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้ นั่นคือ การเป็นครูฝึกโดรนของสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ
จากด.ช.เครื่องบินกระดาษสู่ครูฝึกโดรน
บนชั้น 2 ของสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ย่านเพชรเกษม เป็นห้องโถงโล่งๆ ทันทีที่ไฟนีออนสว่างพรึ่บเผยให้เห็นบรรยากาศคล้ายโกดัง เต็มไปด้วยเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์จำลองบังคับวิทยุ และโดรนขนาดต่างๆวางเรียงรายสะดุดตา
"ชีวิตผมก็ยังวนเวียนอยู่กับเครื่องบินนี่แหละครับ"
หม่องหัวเราะ ขณะกุลีกุจอหาเก้าอี้ให้นั่ง พร้อมเปิดพัดลมไล่อากาศร้อนอบอ้าว เขาเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันกำลังเรียนอยู่ที่การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) หนองแขม ควบคู่กับฝึกงานที่สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ
"ผมชอบเครื่องบินมาตั้งแต่เด็ก เคยเล่นเครื่องบินกระดาษพับมาก็เลยอยากต่อยอดไปสนใจเครื่องบินบังคับวิทยุ ประมาณ 5 ปีที่แล้วได้เจอกับอาจารย์พิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล (นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ) ขณะเข้าร่วมโครงการหนูน้อยเจ้าเวหา แกสอนผมดีมาก วิธีบิน บินยังไง ทำยังไงให้บินได้นานๆ บินได้อย่างปลอดภัย สอนการถ่ายภาพทางอากาศ ภาพมุมสูง สอนให้รู้จักกลไกการทำงานของโดรนและเครื่องบินจำลองบังคับวิทยุ ต่อมาเขาประกาศว่าใครไม่มีทุนทรัพย์แต่อยากมาฝึกงานกับสมาคมให้สมัครมา ผมก็ส่งใบสมัครจนมาอยู่ที่นี่ได้หนึ่งปีแล้วครับ"
หน้าที่หลักคือ บินถ่ายภาพมุมสูง ทั้งงานข่าว ถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา เรือยาว จักรยาน งานกู้ภัย วันไหนมีอบรมก็ไปช่วยเป็นครูฝึก กินนอนอยู่ที่สมาคมเลย โดยสมาคมอุปถัมภ์ให้เงินเดือนๆละ 15,000 บาท เงินส่วนหนึ่งผมก็ส่งให้พ่อแม่ ที่เหลือเก็บไว้ใช้เองครับ"
น้ำเสียงของเขาสุภาพ ถ่อมเนื้อถ่อมตัว แววตาเบิกกว้างทุกครั้งเวลาพูดถึงเครื่องบิน หม่องชอบเครื่องบินทุกชนิด เพราะสงสัยใคร่รู้ว่ามันบินได้ยังไง ทำไมถึงอยู่บนฟ้าได้โดยไม่ตกลงมา ทั้งที่ทำจากเหล็ก คำถามเหล่านี้สร้างความอัศจรรย์ใจให้เขามาตลอด
ย้อนกลับไปเมื่อปีพ.ศ.2540 วันที่หม่องลืมตาขึ้นมาดูโลก เขาเกิดที่หมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งใน อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ เป็นลูกชายของสองสามีภรรยาชาวชนเผ่าปะโอ ผู้อพยพหนีภัยสงครามมาจากรัฐฉาน ประเทศพม่า ไม่น่าเชื่อว่า ชีวิตของเด็กไร้สัญชาติคนนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลเพราะเครื่องบินกระดาษพับลำเล็กๆ
"สมัยป.3 ผมพับเครื่องบินกระดาษเล่นกับเพื่อนๆ เล่นไปวันๆโดยไม่รู้เลยว่าจะโอกาสไปแข่งถึงต่างประเทศ วันหนึ่งมีครูมาบอกว่าสมาคมเครื่องบินกระดาษพับกำลังหาตัวแทนไปแข่งระดับภูมิภาคที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ครูก็ส่งเราไป ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าแข่งยังไง ชนะแล้วได้อะไร การแข่งเครื่องบินกระดาษคือการร่อนให้อยู่บนอากาศให้นานที่สุด คนแข่งเป็นร้อย ผมก็พับๆไป ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาจับเวลา หรือตัดสินกันยังไง ทำไปตามความเคยชิน รู้ตัวอีกทีก็ชนะได้เป็นตัวแทนของภาคเหนือไปชิงแชมป์ประเทศไทยที่กรุงเทพฯ"
ท่าร่อนเครื่องบินกระดาษอันเป็นเอกลักษณ์ของเด็กชายหม่อง ทองดี เรียกเสียงฮือฮามาก เขาจะย่อตัวลงต่ำชนิดหลังแทบติดพื้น มือข้างหนึ่งเล็งเป้าไปบนท้องฟ้า อีกมือหนึ่งจับแน่นที่เครื่องบินกระดาษ ก่อนจะกระโดดเหวี่ยงสุดแรงเกิด ส่งเจ้าเครื่องบินลำน้อยพุ่งทะยานไปบนอากาศ หม่องบอก ทำตามสัญชาตญาณล้วนๆ ไม่ได้ยึดหลักแรงโน้มถ่วงหรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ใดๆทั้งสิ้น
ท่าร่อนเครื่องบินกระดาษอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
"ที่กรุงเทพ ผมลงแข่งรุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี ตอนนั้นอายุแค่ 9 ขวบ ตัวเล็กที่สุดเลย สุดท้ายก็ชนะ ก็กลับมาเรียนหนังสือตามปกติ หลังจากนั้นต้องไปแข่งที่ประเทศญี่ปุ่นอีก ครูที่โรงเรียนมาบอกว่าหม่องไม่ใช่คนไทย ไม่มีบัตรประชาชน จะเดินทางไปต่างประเทศไม่ได้ ครูเลยพาผมไปหาอาจารย์แหวว (รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน) กับครูแดง (เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ปัจจุบันเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) เพื่อขอให้ช่วย
มีนักข่าวถามว่าไม่ได้ไปแข่งเมืองนอกรู้สึกยังไง เห็นครูร้องไห้ผมก็ร้องตาม ตอนนั้นพูดอะไรไม่ถูก เขาเดินเรื่องกันจนในที่สุดก็ออกบัตรชั่วคราวให้ไปแข่งได้ ผมลงประเภททีมกับประเภทบุคคล ปรากฎว่าประเภทบุคคลผมได้ที่สาม ส่วนประเภททีมได้ที่หนึ่ง ได้เหรียญทองกลับมา"ประโยคแฝงไว้ด้วยความภาคภูมิใจ
ณ วันนี้ หม่อง "ติดปีก"เพิ่มให้แก่ตัวเองจากประสบการณ์ที่สั่งสมพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ เริ่มที่เครื่องบินกระดาษพับ เครื่องบินบังคับวิทยุ มาถึงโดรน ภายใต้ความหวังในใจว่าสักวันหนึ่งอาจมีวาสนาได้ขับเครื่องบินจริงๆกับเขาบ้าง
คำสัญญาเพียงแค่ลมปาก วันนี้เขายังไร้สัญชาติ
"ผมดีใจที่เกิดเมืองไทย ได้เติบโต ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศที่เราอยู่กินมาตั้งแต่เด็กๆ"
คำตอบชัดถ้อยชัดคำ หลังถูกถามว่ารู้สึกอย่างไรตอนที่คว้ารางวัลการแข่งขันเครื่องบินกระดาษระดับโลกที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปีพ.ศ.2552
หม่องยิ้มกว้าง ถูมือเล่นไปมาอย่างเขินอาย ใครเล่าจะลืมช่วงเวลาอันหอมหวานของความสำเร็จได้ ทว่าสีหน้าของเขาค่อยๆแปรเปลี่ยนเป็นเรียบนิ่ง ริมฝีปากเม้มตรง ก้มหน้ามองพื้น เมื่อถูกถามถึงบำเหน็จรางวัลที่ได้รับในฐานะผู้สร้างชื่อเสียงให้กับบ้านเกิดเมืองนอน
"หลังกลับเมืองไทย นักข่าวมาสัมภาษณ์กันทุกช่องเลย เหนื่อยมากครับ ต้องนั่งเครื่องมาออกรายการที่กรุงเทพฯบ่อยๆ ผู้ใหญ่หลายคนเข้ามาบอกว่าจะให้ทุนการเรียน จะให้บัตรประชาชน ผมก็ดีใจ พ่อแม่จะได้ไม่เหนื่อย แต่จนถึงวันนี้ ผ่านมากว่าสิบปี ยังไม่ได้รับอะไรแม้แต่อย่างเดียว ทุนการเรียนพ่อแม่ก็เป็นคนส่งมาตลอด บัตรประชาชนก็ยังไม่ได้ เราก็ไม่ได้เรียกร้อง ไม่คิดจะไปทวงถามอะไรทั้งนั้น แต่เสียใจนิดหน่อยที่ผู้ใหญ่พูดอะไรไปแล้วไม่ทำตาม เห็นใจพ่อแม่ที่ต้องเหนื่อยทำงานส่งเราเรียน ส่วนเรื่องบัตรประชาชนเขาก็บอกว่าให้เรียนจบปริญญาตรีก่อนถึงจะได้"
คนไทยจำนวนไม่น้อยยังจำหม่อง ทองดีได้ หลายคนเข้ามาชื่นชมกับวีรกรรมครั้งเก่าๆที่เคยสร้างชื่อให้กับประเทศ หลายคนถามถึงคำสัญญาจากผู้ใหญ่ในรัฐบาลขณะนั้นว่าได้ทำตามคำที่ให้ไว้หรือไม่ หม่องทำได้เพียงยิ้มอย่างสุภาพก่อนตอบตามความจริง
"บางคนก็เข้ามาถามว่า น้องหม่องที่พับเครื่องบินกระดาษใช่ไหม เขาก็ชื่นชม หลายคนก็ถามว่าได้สัญชาติไทย ได้บัตรประชาชนหรือยัง เขาก็เห็นอกเห็นใจ ให้กำลังใจเรา ยอมรับว่าเสียใจครับ เขาพูดกับเราตั้งแต่ตอนเด็กๆ พอโตขึ้นมันก็ติดอยู่ในใจมาตลอดว่าเขาจะให้ สุดท้ายก็ไม่ให้ แต่ผมเชื่อคำสอนของแม่มาตลอดว่า ถ้าเขาให้ก็เอา ถ้าไม่ให้เราก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก ทำชีวิตเราให้ดีที่สุด อย่าไปเกเร ทำเรื่องเสื่อมเสีย เรื่องบัตรประชาชน การได้สัญชาติไทยก็ยังเป็นความฝันเล็กๆอยู่ ผมอยากเป็นคนไทยเต็มตัวครับ"
ด.ช.หม่องกับครอบครัว หลังเดินทางกลับมาจากการแข่งขันเครื่องบินกระดาษโลกที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2552
ภูมิใจที่สุดในชีวิต บินถวายงานรับใช้ในหลวงรัชกาลที่ 9
ภาพถ่ายมุมสูงของข้าราชการสังกัดกรุงเทพมหานคร(กทม.)กว่า 3,500 ชีวิต รวมตัวกันแปรอักษรเป็นรูป"เลข ๙" เพื่อแสดงความอาลัยถวายแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ช่างงดงามอลังการ สร้างความปลาบปลื้มชื่นใจให้แก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง ใครจะรู้ว่าครูฝึกโดรนไร้สัญชาติคนนี้คือหนึ่งในทีมงานถ่ายภาพ
"เป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญ เป็นความภาคภูมิใจที่สุดที่ถวายงานรับใช้ในหลวงรัชกาลที่ 9 เราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดด้วยการถ่ายรูปออกมาให้สวยที่สุด"
คำตอบที่สั้นแต่กินความหมายลึกซึ้ง หม่องอธิบายต่อว่า หลักการใช้โดรนบินถ่ายภาพมุมสูงยากตรงที่จะบินอย่างไรให้ปลอดภัย บินอย่างไรให้ได้ภาพสวยๆ
"ต้องวางแผนเรื่องความปลอดภัย บินยังไงให้ไม่ตก บินยังไงไม่ให้ไปชนตึก ชนเสาไฟ ไม่ให้ตกใส่หัวคน ที่ไหนควรบินที่ไหนไม่ควรบิน การถ่ายภาพด้วยโดรนก็เหมือนกล้องตัวหนึ่งเพียงแต่อยู่บนฟ้า ต้องคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะบินยังไงให้ได้ภาพสวย ถ่ายภาพมุมไหนถึงจะออกมาสวย ส่วนหนึ่งผมก็เรียนจากอาจารย์ช่างภาพของสมาคม ส่วนหนึ่งก็ศึกษาเองจากยูทูบ"
งานแปรอักษรของข้าราชการกทม. ถวายความอาลัยแด่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งหม่อง ทองดีได้เข้าร่วมถ่ายภาพครั้งนี้ด้วย
ความภาคภูมิใจที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตครูฝึกโดรน
พูดจบ หม่องขอตัวไปเปลี่ยนชุดเพื่อจะถ่ายรูป ช่างภาพเหลียวซ้ายแลขวาหาโลเกชั่นเหมาะๆ นักข่าวควักสมุดจดขึ้นมาไล่ดูลิสต์คำถามที่เหลือ ไม่นานพระเอกของเราก็เดินลงมาด้วยโฉมใหม่ที่ดูหล่อเหลาขึ้น จึงโยนคำถามเกี่ยวกับความใฝ่ฝัน ความทะเยอทะยาน และเป้าหมายในอนาคต
"เบื้องต้น ผมอยากเรียนเรื่องการถ่ายภาพครับ เพราะกำลังทำงานเรื่องโดรนเรื่องการถ่ายภาพอยู่ เรียนจบอาจไปสมัครเป็นช่างภาพสื่อมวลชน หรือถ้าวันข้างหน้ามีทุนก็อยากเปิดร้านขายเครื่องบินจำลองและรับจ้างถ่ายภาพมุมสูง ความฝันที่อยากเป็นนักบินคงยาก แต่ถึงไม่ได้ขับเครื่องบินจริง เราขับเครื่องบินจำลองก็ได้ครับ" เขาหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ก่อนเอ่ยทิ้งท้ายคล้ายกับเป็นฉากจบของการสนทนาว่า
"ตอนนี้ผมพยายามทำสิ่งดีๆให้กับประเทศชาติ พยายามเรียนให้จบเพื่อจะได้สัญชาติไทย ...ผมยังรอความหวังตรงนี้อยู่ครับ"
โดรนลำน้อยค่อยๆลอยสูงขึ้นไปบนท้องฟ้า บ้างเคลื่อนไปทางซ้ายบ้างเคลื่อนไปทางขวาตามการบังคับของรีโมทวิทยุในมือครูฝึกที่ชื่อหม่อง ทองดี แววตาของเขาดูกระตือรือล้น มีชีวิตชีวา ยามได้ติดปีกเสรี ราวกับว่าการบินเป็นกิจกรรมเดียวที่สามารถพาเขาหนีไปจากความวุ่นวาย ความเศร้าสร้อย ความท้อแท้สิ้นหวัง และสารพันปัญหาทั้งปวง.