เทคโนเวิลด์
สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (ไอยูซีเอ็น) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศจัดตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะ
เตือนยีราฟเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์สูง
สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (ไอยูซีเอ็น) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศจัดตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะ ได้เพิ่มยีราฟเข้าไปในรายชื่อสัตว์ที่มีความเสี่ยงสูญพันธุ์สูง หลังจากที่ประชากรยีราฟทั่วโลกลดลงถึง 40% ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 1.51-1.63 แสนตัว ในปี 1985 เหลือเพียง 9.7 หมื่นตัว ในปี 2015 โดยก่อนหน้านี้ยีราฟเป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงสูญพันธุ์ต่ำมาก สำหรับสาเหตุที่จำนวนยีราฟลดลงอย่างมากนั้นมาจากการล่าสัตว์ผิดกฎหมายและถิ่นที่อยู่อาศัยในทวีปแอฟริกาปรับตัวลดลง เนื่องจากพื้นที่เกษตรกรรมและการทำเหมืองแร่ขยายตัว โดยผลการศึกษาพบว่าถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าปรับตัวลดลง 4.4 ล้านตารางกิโลเมตร ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันปัญหาที่เพิ่มขึ้นระหว่างมนุษย์กับสัตว์ป่าและเหตุจลาจลหลายครั้งในโซมาเลีย เคนยา เอธิโอเปีย และซูดานใต้ ยังส่งผลให้ประชากรยีราฟลดลงด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากยีราฟแล้ว จำนวนสิงโตและแรดในแอฟริกาก็ลดลงอย่างมากเช่นกัน
พบวิธีรักษาเบาหวานโดยไม่ต้องฉีดอินซูลิน
นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งมหาวิทยาลัยบาเซิล ในสวิตเซอร์แลนด์ ค้นพบความหวังใหม่ในการรักษาโรคเบาหวาน โดยไม่ต้องให้ผู้ป่วยฉีดอินซูลินเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการฝังเซลล์ที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมเข้าไปใต้ผิวหนัง เพื่อปล่อยอินซูลินออกมาอัตโนมัติเมื่อร่างกายต้องการ โดยทีมงานประสบความสำเร็จในการทดสอบฝังเซลล์ดังกล่าวเข้าไปในตัวหนูทดลองที่เป็นเบาหวาน และพบว่าปริมาณน้ำตาลในเลือดของหนูอยู่ในระดับปกติ หลังฝังเซลล์ไปแล้วหลายสัปดาห์ ทั้งนี้ ทีมงานคาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า จะสามารถทดลองฝังเซลล์เข้าไปในตัวผู้ป่วย ซึ่งหากการทดลองกับมนุษย์ประสบความสำเร็จ แนวทางดังกล่าวจะเป็นวิธีใหม่ในการนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งประเภท 1 และประเภท 2 ในเวลาต่อไป
“โมบายมันนี่” ช่วยเคนยาพ้นความยากจน
ผลการศึกษาจากวารสารไซแอนซ์ ระบุว่า โมบายมันนี่ หรือเทคโนโลยีการโอนเงินผ่านมือถือสามารถช่วยให้ชาวเคนยาราว 1.94 แสนครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วนราว 2% ของจำนวนประชากรทั้งหมด หลุดพ้นจากภาวะยากจนได้ โดยตู้เอทีเอ็มในเคนยามีจำนวนเพียง 2,700 เครื่องเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานของประชากรภายในประเทศ ทั้งนี้ บริการดังกล่าวมีชื่อ “เอ็ม-พีซ่า” เปิดให้บริการขึ้นเมื่อปี 2007 ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกในการโอนเงินและการส่งเงินไปให้ครอบครัว เนื่องจากสัดส่วนผู้ใช้สมาร์ทโฟนในเคนยาสูงถึง 96% โดยก่อนบริการดังกล่าวเกิดขึ้นนั้น ชาวเคนยาจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการใช้งานตู้เอทีเอ็มได้ ต้องเดินทางข้ามเมืองเพื่อนำเงินไปให้ครอบครัว นอกจากนี้ บริการเอ็ม-พีซ่า ช่วยให้ผู้หญิงชาวเคนยาราว 1.85 แสนราย สามารถเก็บออมเงินได้มากขึ้น และเริ่มต้นสร้างธุรกิจของตัวเองขึ้นมา เนื่องจากบริการดังกล่าวช่วยให้การบริหารจัดการเงินในบัญชีทำได้ง่าย มีความเป็นส่วนตัว และปลอดภัยยิ่งขึ้น
ผลการศึกษาเผยเวลาบนโลกเพิ่มขึ้นทุกๆ 100 ปี
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเดอรัมและหน่วยงานด้านสถิติทางดาราศาสตร์ในอังกฤษ เปิดเผยผลการศึกษาพบว่าเวลาบนโลก 1 วัน เพิ่มขึ้น 1.8 มิลลิวินาทีทุกๆ 100 ปี เนื่องจากโลกหมุนรอบตัวเองช้าลง โดยทีมงานค้นพบข้อมูลดังกล่าวจากการรวบรวมบันทึกจันทรุปราคา และปรากฏการณ์ต่างๆ บนท้องฟ้าระหว่างช่วง 720 ปี ก่อนคริสตกาลจนถึงปี 2015 ซึ่งคิดเป็นระยะเวลาอันยาวนานถึง 2,735 ปี แล้วใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์คำนวณข้อมูลระยะเวลาการหมุนช้าลงของโลก แม้ว่าเวลาที่เพิ่มขึ้นอาจไม่ได้มากนัก เนื่องจากต้องใช้เวลาราว 3.3 ล้านปีกว่าที่เวลา 1 วันบนโลกจะเพิ่มขึ้นมา 1 นาที แต่การค้นพบดังกล่าวช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถคาดเดาปรากฏการณ์ต่างๆ บนโลกในอนาคตได้แม่นยำยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบมานานแล้วว่า โลกหมุนรอบตัวเองช้าลงเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นจากน้ำขึ้นน้ำลง จากแรงดึงดูดระหว่างโลกและดวงจันทร์ แต่ทีมงานพบว่ามีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการหมุนของโลกด้วยเช่นกัน ได้แก่ ระดับน้ำทะเลโลกและแรงแม่เหล็กไฟฟ้าระหว่างแกนโลกและเนื้อโลก ซึ่งส่งผลให้การหมุนรอบตัวเองของโลกมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น