เทคโนเวิลด์
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐบาลจีนปล่อยดาวเทียมเพื่อตรวจจับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอวกาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
จีนปล่อยดาวเทียมตรวจจับคาร์บอนในอวกาศ
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า รัฐบาลจีนปล่อยดาวเทียมเพื่อตรวจจับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอวกาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นหลังสหรัฐและจีนร่วมให้สัตยาบันสนธิสัญญาสภาพอากาศปารีส นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่ระดับมลภาวะในจีนพุ่งขึ้นแตะระดับเกือบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จนทำให้ต้องประกาศยกเลิกเที่ยวบินกว่า 200 เที่ยวบิน ปิดโรงงานและโรงเรียนหลายแห่ง รวมถึงประกาศเตือนภัยสีแดงซึ่งเป็นระดับสูงสุด โดย หยิน เจิ้งฉาน หัวหน้าวิศวกรออกแบบดาวเทียมดวงใหม่ เปิดเผยว่า ดาวเทียมดังกล่าวมีชื่อว่าทันแซต ขนาด 620 กิโลกรัม ซึ่งถูกปล่อยขึ้นไปสู่วงโคจรสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์เหนือพื้นโลกราว 700 กิโลเมตร เพื่อตรวจความหนาแน่น และทิศทางเคลื่อนไหวของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ รายงานระบุว่า ดาวเทียมดวงใหม่จะตรวจสอบข้อมูลคาร์บอนไดออกไซด์ทุกๆ 16 วัน และให้ข้อมูลรัฐบาลเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเวลา 3 ปี นอกเหนือจากการปล่อยดาวเทียมทันแซตแล้ว จีนยังนำดาวเทียมนาโนรายละเอียดสูง และดาวเทียมนาโนไมโครสเปกตรัม สำหรับการตรวจสอบด้านป่าไม้และเกษตรกรรมโดยเฉพาะขึ้นสู่อวกาศด้วย ทั้งนี้จีนเป็นประเทศที่ 3 ซึ่งปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศเพื่อตรวจจับก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะตามหลังญี่ปุ่นและสหรัฐ
ผลวิจัยชี้ไดโนเสาร์ไร้ฟันเมื่อโตเต็มวัย
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ในสหรัฐ เปิดเผยว่า ลิมูซอรัส ไดโนเสาร์สายพันธุ์หนึ่ง ลักษณะคล้ายนกกระจอกเทศ และมีชีวิตอยู่เมื่อ 160 ล้านปีที่แล้วในจีน มีวิวัฒนาการเฉพาะที่แตกต่างจากไดโนเสาร์สายพันธุ์อื่นๆ โดยจากการศึกษาฟอสซิลราว 19 ชิ้นของไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้ ตั้งแต่ช่วงอายุต่ำกว่า 1 ปีไปจนถึงอายุ 10 ปี พบว่าเมื่อแรกเกิดลิมูซอรัสมีฟัน ซึ่งในช่วงวัยรุ่น ฟันดังกล่าวมีขนาดเล็กและแหลมคม แต่พอเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัย ฟันดังกล่าวกลับกลายเป็นจงอยปากคล้ายนกแทน การค้นพบดังกล่าวบ่งชี้ถึงพฤติกรรมการกินอาหารที่เปลี่ยนไป โดยในช่วงแรกเกิด ลิมูซอรัสอาจกินแมลงและสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กเป็นอาหารหลัก จึงจำเป็นต้องมีฟันเพื่อช่วยบดเคี้ยวอาหารดังกล่าว หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่ช่วงโตเต็มวัย ไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้ได้เปลี่ยนมากินพืชแทน ซึ่งส่งผลให้ฟันหายไป และต้องกินก้อนกรวดเข้าไปเพิ่มเพื่อช่วยในการย่อยกากพืชในกระเพาะอาหาร
นักวิทย์เผยโฉมใบไม้เทียมช่วยผลิตยา
ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไอนด์โฮเวนในเนเธอร์แลนด์ พัฒนาใบไม้เทียมที่สามารถผลิตยาชนิดต่างๆ ได้โดยอาศัยแสงอาทิตย์ โดยการทำงานของใบไม้ดังกล่าวมีรูปแบบคล้ายคลึงกับการใช้แสงอาทิตย์ในกระบวนการสังเคราะห์แสง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานักเคมียังไม่สามารถดำเนินการผลิตยาโดยเลียนแบบกระบวนการดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่สามารถควบคุมพลังงานแสงอาทิตย์ที่สูงเกินไป ซึ่งส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีตามมา อย่างไรก็ดี ทีมงานได้ทดลองใช้วัสดุรวบรวมพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดใหม่ชื่อ ลูมิเนสเซนซ์ โซลาร์ คอนเซ็นเทรทเตอร์ ซึ่งจะค่อยๆ ดันให้โมเลกุลยาจำนวนไม่มากได้รับพลังงานจากแสง โดยในเบื้องต้น ทีมงานประสบความสำเร็จในการผลิตยาจากอุปกรณ์ดังกล่าวได้จริง และกำลังพัฒนาการใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตยาในเวลาต่อไป นอกจากนี้ อุปกรณ์ใหม่ดังกล่าวสามารถผลิตยาได้แม้ไม่มีแสงอาทิตย์อีกด้วย เนื่องจากมีกลไกเก็บกักพลังงาน
พบแมลงย้ายถิ่นฐานราว 3.5 ล้านล้านตัว/ปี
การคำนวณจำนวนแมลงที่บินวนอยู่รอบตัวมนุษย์อาจดูเป็นเรื่องยาก แต่นักกีฏวิทยาจากมหาวิทยาลัยเอ็กซีเตอร์ในอังกฤษ เปิดเผยว่าแมลงราว 3.5 ล้านล้านตัว บินอพยพย้ายที่อยู่เป็นประจำทุกปี จากการติดตามฝูงแมลงย้ายถิ่นที่ระดับความสูง 150-1,200 เมตร เป็นเวลานาน 10 ปี โดย เจสัน แชปแมน ผู้ดำเนินการศึกษาวิจัยประเด็นดังกล่าว ระบุว่า การอพยพย้ายถิ่นของแมลงถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญต่อระบบนิเวศพื้นดิน เทียบได้กับการเคลื่อนไหวของแพลงตอน ซึ่งเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อาหารสำคัญในมหาสมุทร แชปแมนเสริมว่า จำนวนแมลงดังกล่าววัดจากระดับความสูงเพียงช่วงหนึ่งเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแมลงย้ายถิ่นอาจมีจำนวนมากกว่าที่พบในผลการศึกษา