สภาครอบครัว (Family Council)
ธุรกิจขยายตัวมากในช่วงปี 2531-2538 บริษัทมีผลกำไรสะสมมากพอจึงค่อยๆ ซื้อบ้านให้ลูกชายที่แต่งงานแล้ว
โดย...ซิวซี แซ่ตั้ง
ธุรกิจขยายตัวมากในช่วงปี 2531-2538 บริษัทมีผลกำไรสะสมมากพอจึงค่อยๆ ซื้อบ้านให้ลูกชายที่แต่งงานแล้วแต่ละคน ซึ่งราวๆ 3-5 ปี ก็ซื้อบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งต้องซื้อเป็นเงินสดเพราะไม่อยากผ่อนส่งอีก โดยลูกจะนำเงินสะสมของตนเองไปตกแต่ง หรือซ่อมแซมกันเอง
ช่วงปี 2538-2545 การเดินทางไปดูแลโรงงานที่ จ.ระยอง มีมากขึ้นเรื่อยๆ ลูกๆ มักขับรถยนต์ไปกันเองบ่อยๆ และมักจะอยู่กันดึกดื่นมืดค่ำกันเป็นประจำ จึงเป็นเหตุให้ต้องมีคนขับรถประจำตำแหน่ง ที่สำคัญผมกลัวว่าลูกๆ จะหลับในเวลาขับรถ
ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปตามธรรมชาติของงานและความสามารถจ่ายของบริษัท ซึ่งหลังๆ เริ่มใช้คำว่า “บริษัท” แทนคำว่า “กงสี” มากขึ้น เพราะบริษัทมักหมายถึงธุรกิจที่ดำเนินการมีกฎระเบียบกติกาสอดคล้องกับกฎหมายใช้กับพนักงานทุกตำแหน่ง ทั้งเจ้าของ ลูกเจ้าของ และพนักงานทั้งหมดที่ทำงานกับบริษัท ส่วนกงสีนั้นเริ่มเป็นเรื่องภายในของครอบครัวมากยิ่งขึ้น เช่น แต๊ะเอีย การซื้อหรือผ่อนบ้านให้กับลูกที่ทำงานกับธุรกิจครอบครัว การช่วยค่ารักษาพยาบาลกรณีพิเศษให้กู้หรือช่วยการเงินตามสมควร ซึ่งก็ไม่ได้มีกติกาตายตัวในฐานะผู้นำครอบครัว ผมเป็นคนตัดสินใจ บางครั้งก็ปรึกษาลูกชายภวัฒน์ เงินทองที่จะมาใช้กับสวัสดิการครอบครัวนั้น ก็มาจากเงินกำไรที่ทุกคนช่วยกันทำขึ้นมา ถ้าช่วยกันใช้ไม่ช่วยกันหาสักวันหนึ่งก็คงไม่มีเหลือให้ใช้
คำว่า กงสี อาจดูเชยหรือล้าสมัย ตอนนี้ลูกๆ มักพูดคุยเรื่องสภาครอบครัว (Family Council) ซึ่งรูปแบบก็จะกินวงกว้างขึ้นเป็นการอยู่รวมกันของสมาชิกในครอบครัว มีตั้งแต่รุ่นผม รุ่นลูก รุ่นหลาน บางส่วนมีหุ้นและทำงานกับธุรกิจครอบครัว บางส่วนมีหุ้นส่วนแต่ไม่ได้มาทำงานกับกงสี บางส่วนไม่มีหุ้นแต่ทำกับกงสี และบางส่วนไม่มีหุ้นไม่ได้ทำงานกับกงสี แต่เป็นสมาชิกของครอบครัวคงต้องตั้งกรอบกติกาทั่วๆ ไป ซึ่งน่าจะเน้นเรื่องสุขภาพ อุบัติเหตุ และการศึกษาเป็นหลัก
สำหรับปัจจัยสี่ทั่วไปพ่อแม่ของแต่ละครอบครัวดูแลกันเอง หลานๆ หรือญาติที่เข้ามาทำงานก็ว่ากันตามกฎระเบียบบริษัท เหมาะสมก็มาทำ ไม่เหมาะสมก็ไปทำงานกับบริษัทอื่น ว่าตามกฎระเบียบบริษัทที่เขาไปทำงาน ถ้ามีปัญหาก็คุยแก้ปัญหากันเองในครอบครัวตัวเองก่อน ถ้าเป็นปัญหาใหญ่จริงๆ จึงมาพูดคุยกับญาติพี่น้อง หรือคุยกับสภาครอบครัว
อดีตผมจะต้องให้ลูก หลาน และสะใภ้ เข้ามามีส่วนร่วมทั้งหมด แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป ลูกหลานพูดคุยกันเอง หาอาจารย์ที่ปรึกษาด้านธุรกิจครอบครัวมาให้คำปรึกษา แล้วพวกเขาก็หาข้อสรุปเป็นกติกาไปเรื่อยๆ ผมได้แต่ย้ำว่า “ครอบครัวเดียวกันต้องรักกัน ต้องสามัคคีกัน ขยัน อดทน ซื่อสัตย์ หนักบ้าง เบาบ้างก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันไป รวมกันจึงจะแข็งแรง”
มองย้อนกลับไปในอดีตตอนที่ผมยังเด็กสมัยอยู่ที่เมืองจีน ครอบครัวผมเป็นครอบครัวใหญ่ มีสมาชิก 10 กว่าคน อยู่ร่วมกัน 3-4 รุ่น (พ่อ ลูก และหลาน) ลูกสาวแต่งออกไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายชาย ลูกชายแต่งลูกสะใภ้เข้ามา ในครอบครัวใช้ทรัพย์สินร่วมกันตามระบบ “กงแกของส่วนกลาง” โดยมีพ่อแม่เป็นหัวหน้าของครอบครัว แม้จะแบ่งข้าวของกันเป็นส่วนตัวหรือครอบครัวย่อยอยู่บ้าง แต่ที่นาและทรัพย์สินหลักยังเป็นของกองกลาง หรืออย่างน้อยต้องมีของกองกลางส่วนหนึ่ง
ครอบครัวผมมีที่นาแค่ 5 โหม่ว (5x666.7 = 3,333.35 ตารางเมตร หรือ 2.08 ไร่) ซึ่งแน่นอนว่าไม่พอกิน ต้องไปทำงานเสริมหรือทำอาชีพอื่นด้วย ขณะนั้นงานหายากมาก เราต้องช่วยเหลือดูแลกันไปตามมีตามเกิด ซึ่งแน่นอนว่าดีกว่าแยกกันอยู่ ใครไปหากินต่างถิ่นก็ต้องพยายามหาเงินส่งกลับไปเลี้ยงดูครอบครัวที่เมืองจีน
การส่งเงินกลับเมืองจีนเป็นหน้าที่ของชาวจีนโพ้นทะเลทุกคน แม้ไปตั้งถิ่นฐานหรือมีครอบครัวในต่างแดน ก็ต้องมีหน้าที่ส่งเงินกลับไปเลี้ยงดูพ่อแม่และญาติพี่น้องที่เมืองจีน หากไม่ส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวทั้งที่มีฐานะจะทำได้ ถือว่าเป็นคนอกตัญญูอย่างร้ายแรงฐานลืมรากเหง้าของตระกูล ถ้าใครถูกว่าแบบนี้คงมองญาติพี่น้องไม่ได้
สมัยนั้น อดอยากจริงๆ กินข้าวไม่เคยอิ่มท้องสักมื้อ ใครไม่ส่งเงินไปช่วยเหลือครอบครัวเป็นคนอกตัญญูมาก แต่สมัยนี้เปลี่ยนไป ความเป็นอยู่ดีขึ้นมาก พี่น้องผมก็ตายจากไปกันเกือบหมดแล้ว ผมยังช่วยเหลือบ้าง แต่ไม่มากนัก หลานๆ และญาติที่อยู่เมืองจีนก็พึ่งพาตัวเองได้ดี คงไม่ต้องช่วยขนาดอุ้มหรือแบกหามหรอก ชีวิตคงไม่มีค่าอะไรหรอกถ้าช่วยกันขนาดนั้น n
(อ่านต่อฉบับวันอาทิตย์หน้า)