สบส.จ่อฟัน ‘เอเจนซี่’ และ ‘กูรู’ ความงาม หากพบโฆษณาเกินความจริง
สบส.จ่อฟัน ‘เอเจนซี่’ และ ‘กูรู’ ความงาม หากพบโฆษณาเกินความจริง หรือไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงกรณีโฆษณาเพื่อพาไปทำศัลยกรรมความงามต่างประเทศ!
ดร.นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศัลยกรรมและเสริมความงาม ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการเติบโตและขยายตัวอย่างมากทั้งในไทยและตลาดโลก จากเทรนด์ของผู้บริโภค
ยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความงามและผิวพรรณมากขึ้น โดยมักจะเลือกใช้บริการจากสถานพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น คลินิก หรือโรงพยาบาลเฉพาะทางทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงเปิดโอกาสให้บุคคลบางกลุ่มเข้ามารับบทเป็นเอเจนซี่ (Agency) หรือกูรู (Guru) ด้านความงาม มาให้คำแนะนำ และชักชวนประชาชนให้เข้ารับบริการศัลยกรรมเสริมความงามกับสถานพยาบาลทั้งในหรือต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม การรับบริการทางการแพทย์ทุกประเภทจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน อย่าด่วนตัดสินใจเลือกรับบริการเพียงเพราะรับข้อมูลโฆษณา หรือคำแนะนำจากเอเจนซี่ หรือกูรู แม้บางรายมีการยกอาชีพว่าเป็นแพทย์หรือเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านเสริมความงามมากล่าวอ้าง แต่ก็ไม่สามารถเป็นเครื่องการันตีถึงความปลอดภัย ด้วยบริการทางการแพทย์ทุกชนิดมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันผู้บริโภคจึงอาจจะไม่ได้รับผลลัพธ์ตรงตามที่กล่าวอ้าง
ประการสำคัญ การรับบริการจากคลินิก หรือโรงพยาบาลเอกชนในต่างประเทศนั้น หากผู้บริโภคได้รับผลกระทบต่อสุขภาพหรือร่างกายจากบริการแล้ว กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลของประเทศไทยก็มิได้มีผลคุ้มครองจากกรณีดังกล่าว ซึ่งอาจจะส่งผลให้การดำเนินคดี หรือการเรียกค่าชดเชยเป็นไปได้ยาก
ดร.ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ดังนั้น เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค กรม สบส.จึงมีระบบเฝ้าระวังการกระทำผิดกฎหมายสถานพยาบาล โดยศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบการกระทำความผิดทางเทคโนโลยี ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ตรวจสอบการเผยแพร่โฆษณาของสถานพยาบาลผ่านสื่อโซเชียลอย่างใกล้ชิด หากพบเบาะแสว่ามีเอเจนซี่ หรือกูรู ทำการโฆษณาชักชวนประชาชนให้เข้ารับบริการกับสถานพยาบาลเอกชนในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย จะมีการดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ในฐานทำการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุมัติ และหากตรวจสอบพบว่าเนื้อหาของโฆษณา เข้าข่ายเป็นเท็จ โอ้อวดเกินความจริง ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
อีกทั้ง จะมีการขยายผล ติดตามพฤติกรรม ตรวจสอบไปถึงผู้ที่คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด หรือมีความผิดตามกฎหมายอื่นที่มีความเชื่อมโยงในระบบออนไลน์ ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการคุ้มครองผู้บริโภคได้ หากพบเห็นเบาะแสการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับระบบริการสุขภาพ อาทิ คลินิกเถื่อน หมอเถื่อน การโฆษณา โอ้อวด เกินจริง ฯลฯ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ กรม สบส. ทางหมายเลขโทรศัพท์ 0 2193 7000