posttoday

พร้อมเพย์ พร้อมใช้ สร้างความมั่นใจระบบ

17 มกราคม 2560

หากดูจากนโยบายการก่อเกิดระบบพร้อมเพย์ เพื่อให้บริการโอนเงินผ่านหมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือบัตรประชาชน

โดย...พรสวรรค์ นันทะ

หากดูจากนโยบายการก่อเกิดระบบพร้อมเพย์ เพื่อให้บริการโอนเงินผ่านหมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือบัตรประชาชน ซึ่งรัฐบาลตั้งใจผลักดันให้พร้อมเพย์เป็นโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของประเทศตามแผนพัฒนาระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (เนชั่นแนล อี-เพย์เมนต์) รองรับการเป็นไทยแลนด์ 4.0 ในอนาคตแล้วถือว่าสำคัญยิ่ง

หากเลื่อนการใช้พร้อมเพย์แบบปัจจุบันทันด่วนอีกครั้ง ก็รังแต่จะสร้างผลเสียมากกว่าผลดี เพราะสร้างความสับสน รวมไปถึงลดทอนความเชื่อมั่นของประชาชนผู้ใช้บริการ ฉะนั้น พร้อมเพย์ต้องเปิดให้บริการโอนจ่ายเงินระหว่างบุคคลกับบุคคล (C to C) ภายในไตรมาสแรกปีนี้ตามกำหนด หลังจากเลื่อนใช้ไปแล้วรอบหนึ่งเมื่อเดือน ต.ค. 2559 ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องใช้เวลาในการทดสอบระบบให้มีเสถียร มีความมั่นคงปลอดภัย และสามารถทำธุรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อนจะเปิดให้ใช้งานจริง

ทั้งนี้ พร้อมเพย์เป็นระบบการชำระเงินที่เชื่อมต่อกันได้ภายในประเทศในทุกภาคส่วน ไม่ว่าระหว่างรัฐบาลกับประชาชน (G to C) ซึ่งได้เปิดให้บริการโอนเงินสวัสดิการที่รัฐช่วยเหลือให้ประชาชนที่ลงทะเบียนไว้ ในโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ที่ดำเนินการไปแล้วตั้งแต่สิ้นปี 2559 หรือการโอนเงินภาษีคืนให้ประชาชนในรอบปีบัญชี 2559 ซึ่งเริ่มดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2560 ที่ผ่านมา รวมถึงเบี้ยคนชราและเงินที่ให้กับคนพิการหรือสวัสดิการอื่นๆในอนาคต ช่วยลดการรั่วไหลของเงินงบประมาณได้ไม่น้อย ที่สำคัญยังสามารถจ่ายเงินได้ตรงตัวผู้รับลดปัญหาการคอร์รัปชั่นได้อีกทาง

ในอนาคตอาจขยายไปสู่การจ่ายชำระเงินระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (B to B) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการประกอบธุรกิจและการให้บริการ เพราะช่วยลดการใช้เงินสดที่มีค่าบริหารจัดการที่สูงลงได้ แถมยังช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศทางอ้อมด้วย เพราะหากธุรกิจมีศักยภาพ มีต้นทุนถูก ก็มีส่วนช่วยให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัวดีขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ถึงพร้อมเพย์จะมีประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการชำระเงินในทุกระดับ ช่วยพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจประเทศหลากหลายด้าน แต่ยังติดขัดปัญหาและอุปสรรคที่นำไปให้ถึงตามเป้าหมาย เพราะประชาชนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนในการใช้พร้อมเพย์ สะท้อนได้จากการแชร์ความสนใจข้อมูลที่ส่งต่อกันบนโลกออนไลน์กันเกลื่อนกลาด

อาทิ คนที่มีรายได้อยู่แล้วไม่ต้องลงทะเบียนสมัครใช้พร้อมเพย์ เพราะเป็นระบบรับเงินสวัสดิการจากรัฐ อย่าใช้ระบบพร้อมเพย์ เพราะรัฐบาลจะรู้ข้อมูลรายได้และการโอนจ่ายเงินทั้งหมดของผู้ใช้ แล้วตามมาเก็บภาษีในภายหลัง ทำให้ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของไทย รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนไม่น้อยหลงเชื่อและไม่สนใจลงทะเบียนใช้พร้อมเพย์ หรือการตั้งคำถามถึงระบบความปลอดภัยของพร้อมเพย์ที่ใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถืออาจเสี่ยงถูกโจรกรรมข้อมูล ทำให้สูญเงินในบัญชี เป็นต้น

ดังนั้น การเร่งผลักดันให้เกิดการใช้งานจริงโดยเร็วจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะถึงแม้ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะร่วมมือกันใกล้ชิดขึ้นในการยกระดับการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของบริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้บริการโมบายแบงก์กิ้งและพร้อมเพย์

แต่ก็ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนผู้ใช้ได้ เท่ากับการที่คนได้ใช้และได้สัมผัสจริงด้วยตัวเอง ซึ่งจะทำให้เห็นประโยชน์ เห็นความสะดวก และความปลอดภัยจากการใช้ระบบจริงๆ และพร้อมถ่ายทอดประสบการณ์ของตัวเองไปสู่คนอื่นๆ จนสร้างพร้อมเพย์ให้ถึงเป้าหมายได้ในที่สุด การทอดเวลาเปิดใช้ออกไปเรื่อยๆ ย่อมสร้างแต่ผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจากประชาชนที่มั่นใจและลงทะเบียนไว้แล้ว 19 ล้านราย ยังรอใช้งานอยู่อย่างจดจ่อ

สำหรับบริการพร้อมเพย์ทำให้การโอนจ่ายเงินในชีวิตประจำวันของคนสะดวกขึ้น ไม่ว่าจะโอนเงินค่าเล่าเรียน ค่าบริการต่างๆ หรือจ่ายค่าอาหาร ที่สำคัญค่าบริการจะถูกกว่าโอนเงินในรูปแบบเดิมที่ธนาคารพาณิชย์ให้บริการอยู่ เพราะถ้าโอนเงินให้กันไม่เกิน 5,000 บาท/รายการ จะฟรีทุกรายการ ไม่ว่าจะโอนกี่ครั้งต่อวัน หรือโอนให้ใครก็ตามที่ใช้ธนาคารแห่งเดียวกันหรือต่างธนาคารก็ได้ และถ้าโอนมากกว่า 5,000-30,000 บาท/รายการ จะคิดค่าบริการไม่เกิน 2 บาท/รายการ มากกว่า 30,000-100,000 บาท/รายการ คิดไม่เกิน 5 บาท/รายการ และถ้ามากกว่า 100,000 บาท จะคิดไม่เกิน 10 บาท/รายการ

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน  ธปท. กล่าวยืนยันว่า ธปท.ได้เตรียมการเปิดใช้พร้อมเพย์มาอย่างต่อเนื่อง จึงมั่นใจว่าจะสามารถเปิดให้บริการโอนเงินบุคคลต่อบุคคลได้ภายในไตรมาสแรกปีนี้ตามกำหนดแน่นอน เพียงแต่ยังไม่สามารถระบุวันเปิดใช้ได้แน่นอนเท่านั้น โดยระหว่างนี้ ธปท.จะทดสอบระบบไปตลอด เพื่อให้มั่นใจก่อนเปิดให้บริการจริง ระหว่างนี้ที่ทดสอบก็ยังมีจุดที่ต้องแก้ ต้องตรวจสอบกับธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งอยู่เรื่อยๆ

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าพร้อมเพย์จะเปิดให้บริการได้ในวันที่ 29 ม.ค.ที่จะถึงนี้ หรือจะเปิดในวันใดภายในไตรมาสแรกปีนี้ก็ตาม แต่ผู้เกี่ยวข้องก็ต้องดำเนินการให้พร้อมเปิดใช้ได้ ไม่เช่นนั้นจะกระทบความเชื่อมั่นและเสี่ยงที่จะฉุดให้นโยบายที่ ธปท. และรัฐบาลวาดไว้ตามแผนเนชั่นแนล อี-เพย์เมนต์ พังครืนลงมาด้วยก็เป็นได้