คนจับปลา รักษ์ทะเลไทย
คุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าราคาอาหารทะเล “แพง” ไหม กว่าจะได้ปูตัวโตสักกิโลกรัมต้องควักแบงก์ร้อยหลายใบ
โดย...นกขุนทอง
คุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าราคาอาหารทะเล “แพง” ไหม กว่าจะได้ปูตัวโตสักกิโลกรัมต้องควักแบงก์ร้อยหลายใบ แถมราคายังต่อรองไม่ได้อีก แม้จะซื้อในตลาดสดก็เถอะ ยิ่งตามห้างสรรพสินค้าด้วยแล้ว งบน้อยอย่าได้เฉียด แต่ในอีกมุมชาวประมงที่จับกุ้ง หอย ปู ปลา มาให้เราซื้อบริโภคนั้น ถึงขายได้ราคา “ถูก”
อาหารทะเลกว่าจะมาถึงครัวเรือนนั้น ผ่านพ่อค้าคนกลางมาหลายต่อ เฉกเช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเรายังซื้อในราคาเดิม หรืออาจจะบวกลบนิดหน่อย แต่ต้นทางคือชาวประมงได้ราคาขายที่สูงขึ้น โดยการตัดตอนพ่อค้าคนกลางลงไปจาก 3-5 ราย เหลือ 1-2 ราย แล้วจะดียิ่งกว่าไหม ถ้าเราสามารถสนับสนุนชาวประมงที่จับสัตว์น้ำโดยใช้เครื่องมือจับอย่างยั่งยืน ไม่ทำลายระบบนิเวศ แถมกุ้ง หอย ปู ปลา ที่เราจะบริโภคยังปราศจากสารเคมีจากการจัดเก็บด้วยนะ แล้วจะเลือกเจ้าไหนล่ะ...
“คนจับปลา” นี่ไง คือคำตอบของคนรักษ์ทะเลไทย และรักในการบริโภคอาหารทะเล แม้เราจะเป็นคนปลายน้ำ แต่เราก็สามารถมีส่วนช่วยต้นน้ำ ช่วยทะเลไทย ช่วยสัตว์น้ำไม่ให้ถูกทำลายได้ด้วย เพราะคนจับปลาเกิดจากการรวมกลุ่มของชาวประมงพื้นบ้าน
เสาวลักษณ์ ประทุมทอง ผู้จัดการร้านคนจับปลา เล่าถึงที่มาว่า ร้านเปิดมาได้ 3 ปีแล้ว เธอทำงานพัฒนาอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ภายใต้โครงการของสมาคมรักษ์ทะเลไทย ได้มีโอกาสลงไปคุยกับชาวบ้าน และเห็นว่าถ้าเกิดโครงการที่สามารถส่งอาหารทะเลไปถึงผู้บริโภคได้โดยตรง และให้ข้อมูลสนับสนุนให้ชาวบ้านจับสัตว์น้ำ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากร จะสามารถส่งเสริมให้ชาวประมงพื้นบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้นได้
“ก็คุยกับชาวบ้าน เขาก็อยากจัดการผลผลิตของเขา เราจึงเปิดเฟซบุ๊กชื่อ ร้านคนจับปลา fisherfolk ขึ้นมาเป็นร้านค้า มีการลงหุ้นกันของชาวประมงจริงๆ กับสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย โดยมีเราเป็นเจ้าหน้าที่ของสมาคมรักษ์ทะเลไทย จัดการตลาด และเทคโนโลยีที่จะดูแลสัตว์น้ำว่า ทำยังไงให้สัตว์น้ำเดินทางได้ปลอดภัยถึงผู้บริโภคโดยไม่ต้องใส่สารเคมี โดยโจทย์ของเรามี คือ 1.ให้ชาวประมงพื้นบ้านได้รับประโยชน์ 2.ให้ผู้บริโภคได้กินอาหารปลอดภัย 3.ให้ร้านคนจับปลาทำรายได้ให้คนดูแลทะเลและชายฝั่ง โดยเอากำไรส่วนหนึ่งของร้านคืนกลับสู่การฟื้นฟูทรัพยากร”
ตอนนี้มีชาวประมงที่เป็นสมาชิกร้านคนจับปลา 66 คน จาก 3 จังหวัด คือ ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช และสตูล โดยทุกคนจับสัตว์ทะเลเอามาขายให้ร้านคนจับปลา ซึ่งจ่ายราคาสูงกว่าพ่อค้าทั่วไปที่รับซื้อ 5-20% แต่ใช่ว่าร้านคนจับปลาจะรับซื้อจากชาวประมงทุกราย เพราะเขาจะซื้อเฉพาะชาวประมงที่อยู่ในเงื่อนไข คือชาวประมงนั้นต้องเป็นนักอนุรักษ์ฟื้นฟูอยู่แล้ว ใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ถูกตามกฎหมายและไม่ผิดกติกาชุมชน และสัตว์น้ำที่เขาจับได้ต้องไม่มีสารปนเปื้อนใดๆ จนนำมาส่งถึงร้าน ดังนั้นผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าได้รับของสด ปลอดภัย และเงินส่วนหนึ่งที่เราจับจ่ายไปจะกลับไปสู่การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล
“2 ปีที่ผ่านมาเหมือนเราเพิ่งเริ่มต้น พิสูจน์ว่าธุรกิจจะไปได้ไม่ได้ ลองผิดลองถูก ดูตลาด ไม่ได้กำไรมาก แต่ไม่ขาดทุน อยู่ได้ด้วยการจัดการของร้านเอง สามารถใช้เงินขายของจ้างคนในหมู่บ้านมาเป็นแรงงาน เจ้าหน้าที่จัดการสินค้า แต่ปีที่ 3 เราได้เห็นแล้วว่าผลตอบรับดี ผู้บริโภคหันมาให้ความสนใจสินค้าที่ไม่ปนเปื้อนสารเคมี แม้เขาต้องจ่ายแพงขึ้นมานิดแต่เขายินดี เพราะคนหันมาดูแลสุขภาพ ที่ผ่านมาเรามีกิจกรรม ออกงานอีเวนต์ งานกรีนแฟร์ต่างๆ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จัก แต่ช่วงหลังมานี้ไม่ค่อยได้ทำแล้ว เพราะผลผลิตเท่าที่นำส่งให้ลูกค้าประจำก็เกือบไม่พอ เพราะคัดสินค้าด้วย
"เราดูกุ้ง ปู ทุกตัวให้ได้ขนาดคุณภาพ เราไม่ได้ทำแบบระบบอุตสาหกรรม การออกงานเลยไม่บ่อย และเรามีตลาดแน่นอนคือส่งเลมอนฟาร์ม มีลูกค้าสั่งทางออนไลน์ ราคาของเราถ้าเทียบกับราคาขายในตลาดสดเราสูงกว่า แต่ถ้าเทียบกับห้างพรีเมียมราคาเราไม่สูงกว่า แต่สิ่งที่เราการันตี ความสด รสชาติคงที่ การันตีเรื่องสารเคมีร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะสินค้าของเราใช้การแช่แข็ง ถูกจัดการตั้งแต่ในพื้นที่เลย ซึ่งการจัดการสำคัญที่ต้นทางจะคงความสดใหม่ตลอด เราใช้ระยะเวลาการจัดส่งไม่นาน ตัวสินค้ายังไม่คลายความเย็น และข้อดีของการทำการประมงยั่งยืน ทำให้สัตว์น้ำเติบโตได้ทัน เราไม่จับสัตว์อ่อน ตัวเล็ก ไม่ได้ขนาด ชาวบ้านใช้อวนตาขนาดเท่านี้จะได้ปลาขนาดกี่กิโลกรัม ซึ่งทำให้เราได้สินค้าที่มีขนาดคุณภาพ”
ถ้าจะต้องจ่ายในราคาแพง ก็ต้องสมเหตุสมผล และชีวิตเราได้ประโยชน์ ไม่นำสารเคมีเข้าร่างกาย อีกทั้งเป็นการกระตุ้นทางอ้อมให้ชาวประมงที่ยังไม่ได้ทำการจับสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน ยังใช้เครื่องมือที่หว่านเอาแต่ปริมาณ ไม่สนใจว่าจะได้สัตว์เล็กสัตว์น้อย ทำลายระบบนิเวศ หันมาทำการประมงอย่างยั่งยืนและใช้เครื่องมือที่ถูกต้อง เพราะเขาสามารถขายได้ในราคาที่ดีกว่า มีคนรับซื้อจริง จับได้น้อยแต่ราคางาม และยังมีสัตว์ในทะเลให้จับไปอีกเรื่อยๆ คงดีกว่าการทำการค้าแบบละโมบที่กวาดต้อนเอาทรัพยากรจากทะเลให้มากที่สุด ขายๆ แล้วจบกันไป พร้อมกับได้ทำลายระบบนิเวศของท้องทะเลไปเรียบร้อยแล้ว