posttoday

Smart SMEs – Local Economy

03 กุมภาพันธ์ 2560

อยากเป็นผู้ประกอบการ 4.0 ก็ต้องทำตัวทันสมัยให้เป็น 4.0?

โดย...ภัทรพงศ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา

อยากเป็นผู้ประกอบการ 4.0 ก็ต้องทำตัวทันสมัยให้เป็น 4.0?

นโยบายรัฐในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามุ่งเน้นไปที่ผู้ประกอบการขนาดใดก็ตามที่มีความพร้อมด้านธุรกิจและโอกาส โครงการที่จัดตั้งขึ้นมาล้วนแต่เน้นไปที่ผู้ประกอบการยุคใหม่ มีองค์ความรู้ในการประกอบธุรกิจอยู่แล้ว การที่จะกล่าวว่าจะยกระดับเศรษฐกิจฐานรากนั้น ต้องตีความจากคำนิยามดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า เศรษฐกิจฐานรากเกิดจากกลุ่มผู้ประกอบการประเภทใด ขนาดธุรกิจ สถานภาพปัจจุบันเป็นเช่นไร ยิ่งถ้ากล่าวโดยจำนวนด้วยแล้วนั้น มิอาจปฏิเสธได้ว่าการค้าปลีกแบบดั้งเดิม หรือโชห่วยจำนวน 2 ล้านกว่ารายที่ยังประกอบการอยู่เป็นกลุ่มที่ควรคำนึงถึงเป็นลำดับแรก

รูปแบบการค้าปลีกแบบดั้งเดิม หรือโชห่วย ในความเป็นจริงนั้นยังอยู่แค่ยุค 2.0 แล้วรัฐจะนำพาไปเช่นใด หรือจะทิ้งกลุ่มผู้ค้าส่วนใหญ่ไว้เบื้องหลัง นำพาผู้ประกอบการที่มีความพร้อมจริงที่เป็น 3.0-3.5 เพื่อความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้นในการบรรลุเป้าหมายนโยบายตามโครงการนั้นๆ ไปถึงฝั่งได้เร็วขึ้น

กลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่ในหลายกลุ่มนั้นก้าวเดินนำหน้ารัฐไปหลายช่วงตัว และไม่เคยรอความช่วยเหลือใดๆ จากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนองค์ความรู้ต่างๆ เพราะมีความพร้อมอยู่แล้วถึงมีศักยภาพที่จะทำให้ตนเองมีสถานภาพเป็น Smart SMEs การแก้ปัญหาให้ตรงจุด สร้างโอกาสให้แก่ผู้ที่ต้องการรับ ส่งเสริมสนับสนุนให้แก่ผู้ที่ต้องการได้ นั่นคือการตอบโจทย์ขั้นพื้นฐานที่แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่ครอบคลุมทั้งมิติแนวตั้งและแนวนอน ถ้าได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจความต้องการของผู้ค้าปลีกแบบดั้งเดิมหรือโชห่วย จะเห็นถึงปัญหาเรื่องเงินทุนเป็นหลัก

เรื่องรอง คือ ด้านการบริหารจัดการ การปรับปรุงพัฒนาธุรกิจ ขาดองค์ความรู้ในด้านต่างๆ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาดำเนินกิจการ ถ้ารัฐเข้าถึงกลุ่มผู้ค้าปลีกเหล่านี้โดย Walk in เข้าไปให้ความสำคัญใส่ใจในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลทุกข์สุขประชาชน ที่มีกิจการค้าขายแบบรากฐานเศรษฐกิจที่แท้จริง กระจายตัวอย่างทั่วถึง และสร้างศักยภาพให้เกิดขึ้นได้ในประเทศและไปถึงต่างประเทศ นี่สิถึงเรียกว่า Local Economy

ไม่ใช่เรื่องยากในการที่จะให้ผู้ค้าปลีกแบบดั้งเดิมเหล่านี้เข้าถึงเทคโนโลยี เพราะปัจจุบันเป็นยุคการสื่อสารแบบ 4จี ไปอย่างทั่วถึง เครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมไปได้เกือบทุกพื้นที่ ปัญหาอยู่ที่การรับรู้และยอมรับในการใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์ทางด้านการค้า นโยบายรัฐที่สามารถทำให้ผู้ค้าแบบดั้งเดิมมีความพร้อมในการเดินธุรกิจได้ต่อไป สายป่านที่มีความยาวขึ้น สภาพคล่องที่มีมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ค้าปลีกดั้งเดิมกังวลจนไม่ต้องคิดคำนึงถึงเรื่องอื่นใด คิดเพียงแค่ว่าจะทำเช่นไรวันพรุ่งนี้จะอยู่รอดได้ สร้างความพร้อมแล้วจึงค่อยสร้างเครื่องมือในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้ยกระดับขึ้นมาตามความสามารถและศักยภาพของแต่ละกิจการ รวบรวมให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ถ้าจะทำให้สัมฤทธิผลต้องให้รอดส่วนใหญ่ ไม่ใช่รอดแต่หัวกะทิส่วนน้อย แล้วค่อยขวักมือเรียกคนที่อ่อนแรงล้มลุกคลุกคลานให้วิ่งตาม มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วทุกระบบโครงสร้างไม่ว่าด้านใด ล้วนแต่ต้องให้ความสำคัญแก่พื้นฐานที่มั่นคง แข็งแรง เป็นหลักประกันให้โครงสร้างขนาดใหญ่นั้นสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคง ความเสถียรภาพของระบบใดๆ ก็ต้องพิจารณาจากภาพรวมที่เป็นส่วนใหญ่ การที่จะปรับเปลี่ยนระบบใดๆ ให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้นเป็นระบบ 4.0 ความพร้อมก็ต้องปรับปรุงมาเป็นลำดับ จะให้ก้าวกระโดดไปเช่นนั้น เราย่อมระลึกรู้อยู่ว่าใครสามารถก้าวข้ามผ่านไปได้แล้วใครที่จะเป็นผู้อยู่รอด

การมองข้ามการพัฒนาขั้นพื้นฐานนั้น ถือเป็นเรื่องที่ควรทบทวนอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ค้าปลีกที่เป็นส่วนใหญ่ นโยบายใดๆ ก็ตามสามารถกำหนดให้อนาคตก้าวไกล ก้าวล้ำทางเทคโนโลยี แต่ประชาชนส่วนใหญ่จับต้องได้จริงแค่ไหน ในเมื่อการรับรู้ของคนทั่วไปนั้นทราบดีว่า การค้าปลีกแบบดั้งเดิม หรือโชห่วยนั้นล้มหายตายจากไปมากในระยะเวลาช่วงสิบปีที่ผ่านมา ส่วนผู้ที่สนใจจะเริ่มกิจการใหม่ก็เกรงว่าจะไปไม่รอด เพราะค้าปลีกสมัยใหม่ในรูปแบบสารพัดสเกล มีทั่วทุกสารทิศ ทุกตรอกซอกซอยขนาดนี้ แค่เริ่มก็อาจแพ้แล้ว ถอดใจไปก็ไม่น้อย บางกิจการผันตัวเองจากผู้ค้าแบบดั้งเดิมไปเป็นแบบสมัยใหม่ แต่เป็นแบรนด์ท้องถิ่นก็มีให้เห็นอยู่

ถ้ายังให้ความสำคัญแก่ผู้ประกอบการสายป่านยาว ธุรกิจสตาร์ทอัพที่โตไวไปเร็ว ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่อยู่เช่นนี้ เราจะไม่เห็นเศรษฐกิจยุคใหม่อย่างแน่นอน เพราะกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ถ้าเทียบจำนวนกิจการนั้นยังมีไม่ถึงครึ่งหนึ่งของการค้าปลีกแบบดั้งเดิม การตั้งโครงการช่วยเหลือต่างๆ ที่มีเงื่อนไขที่ซับซ้อน รายละเอียดที่มากมายเพื่อคัดกรองผู้ประกอบการที่มีศักยภาพความพร้อมจริง จนหลายรายต้องถอดใจและตั้งคำถามว่า ถ้าคุณสมบัติครบถ้วนขนาดนั้นแล้ว จะมาสมัครเข้าร่วมโครงการช่วยเหลือเพื่ออะไร

ถ้านโยบายรัฐใช้คำนิยามที่เรียกผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม แต่การให้ความสำคัญที่เจาะจงเฉพาะกลุ่ม สร้างความเข้าใจที่คลุมเครือ ผู้ค้าที่ต้องการความช่วยเหลือแต่กลับไม่ได้จริง สิ่งเหล่านี้รัฐต้องทบทวนนโยบายว่ากลุ่มใดกันแน่ที่รัฐต้องการช่วยเหลือจริง ความล้ำเหลื่อมทางเศรษฐกิจมันก็พอสมควรแล้ว อย่าให้ความรู้สึก
ล้ำเหลื่อมต่อศรัทธามันเพิ่มเข้ามาอีกเลย