End of Life Care
ชีวิตของเราทุกคน เริ่มต้นจากการเกิด เติบโตขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะเริ่มเสื่อมลงตามวัยและความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น
โดย...รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ชีวิตของเราทุกคน เริ่มต้นจากการเกิด เติบโตขึ้น เมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะเริ่มเสื่อมลงตามวัยและความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น จนในระยะสุดท้ายของชีวิต ก็จะมีการเสื่อมลงของอวัยวะต่างๆ จนไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้
ปัจจุบันการดูแลผู้ป่วยจึงไม่สามารถหวังที่จะทำให้ผู้ป่วย “หายไว” หรือมีชีวิตอยู่นานที่สุดแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเน้นการดูแลให้ผู้ป่วยที่มีโรคหรือความเสื่อมที่ไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว สามารถ “ตายดี” ได้ด้วยในวาระสุดท้ายของชีวิต
อะไรคือการตายดี (Good death)
ถ้าลองถามตัวเองว่าอะไรคือการตายดี อาจจะมีคนหลายๆ คนที่ไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้มาก่อนเลย แต่คำตอบที่เรามักจะได้ยินคือ ไม่อยากทรมาน อยากนอนหลับแล้วเสียชีวิตไปเลย ไม่อยากเป็นภาระให้คนรอบข้าง และอาจมีความต้องการแตกต่างกันตามความเชื่อทางจิตใจและศาสนา แต่ถ้าจะให้สรุปออกมากว้างๆ คงจะพอสรุปความหมายของการตายดีได้คือ
• ไม่อยากได้รับความทุกข์ทรมานทั้งทางกายและใจโดยไม่จำเป็น อาการเจ็บปวด อาการเหนื่อย อาการซึมเศร้า เป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยก่อนที่จะเสียชีวิต การรักษาที่เหมาะสมจะสามารถช่วยบรรเทาสิ่งเหล่านี้ลงได้ และเป็นขั้นตอนพื้นฐานในการดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้าย
• ควรมีการเตรียมตัวของผู้ป่วยและญาติ การที่ผู้ป่วยและญาติมีความเข้าใจเรื่องโรคและการดำเนินโรค จะทำให้สามารถวางแผนในการใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้มีค่าที่สุด และตรงตามความต้องการของผู้ป่วย
• ควรตอบสนองความต้องการทางจิตใจ ความเชื่อของผู้ป่วย ความเชื่อมั่นและศรัทธาของผู้ป่วยจะเป็นส่วนที่ช่วยให้ผู้ป่วยและญาติมีสิ่งยึดเหนี่ยวและก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ สิ่งเหล่านี้มีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล และเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ที่ให้การดูแลผู้ป่วยต้องทราบและให้ความสำคัญ
• ไม่ควรได้รับการรักษาที่ไม่จำเป็นหรือทำให้เกิดความทุกข์ทรมานมากขึ้น การรักษาทางการแพทย์ปัจจุบันสามารถมีอุปกรณ์ยืดชีวิตผู้ป่วยออกไปได้ โดยใช้อุปกรณ์ที่ทำงานแทนอวัยวะที่สูญเสียการทำงาน การรักษาเหล่านี้จะมีประโยชน์ ถ้าผู้ป่วยมีโอกาสที่โรคที่เป็นจะดีขึ้นหรือหายไปปกติ แต่การใช้อุปกรณ์เหล่านี้อย่างไม่เหมาะสม ก็อาจเป็นการเพิ่มความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วยและญาติโดยไม่จำเป็น
ควรวางแผนการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิตอย่างไร
เมื่อผู้ป่วยอยู่ในภาวะสุดท้ายของชีวิต ที่มีความเจ็บป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ จุดประสงค์สำคัญที่สุดในการดูแลผู้ป่วยคือการทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิต โดยแนวทางการดูแลที่เหมาะสมในผู้ป่วยกลุ่มนี้จะประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญคือ
การวินิจฉัยที่ถูกต้องและความเข้าใจในการดำเนินโรคของผู้ป่วย การจะบอกว่าผู้ป่วยรายใดจะไม่มีโอกาสรักษาให้หายได้แล้ว แพทย์ผู้ดูแลต้องให้ความมั่นใจกับผู้ป่วยและญาติถึงการวินิจฉัย แนวทางการรักษาที่เป็นไปได้และแนวทางการดำเนินของโรค เพื่อที่ผู้ป่วยและญาติจะได้เข้าใจถึงการดำเนินโรค ผู้ป่วยและญาติควรจะซักถามแพทย์ผู้ดูแล เพื่อให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันเกี่ยวกับการวินิจฉัยและแนวทางการดูแลผู้ป่วย
การบอกให้ผู้ป่วยทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของตัวเองจริงก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อที่ผู้ป่วยจะสามารถร่วมตัดสินใจแนวทางการรักษาได้
การวางแผนการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย เนื่องจากเป้าหมายในการรักษาผู้ป่วยในระยะสุดท้าย เปลี่ยนไปจากการรักษาให้หายขาดหรือพยายามยื้อชีวิตให้อยู่ให้นานที่สุดเป็นการรักษาที่มุ่งเน้นคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดของผู้ป่วยเป็นหลัก การวางแผนร่วมกันระหว่างแพทย์ผู้ดูแล ผู้ป่วยและญาติจะมีความสำคัญมาก ญาติของผู้ป่วยจะมีส่วนสำคัญมากในการช่วยตัดสินใจให้ผู้ป่วยในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง
หลักการสำคัญของการดูแลคือการเลือกการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการรักษาคือเพิ่มคุณภาพชีวิต คือการรักษาที่ทำให้ผู้ป่วยสบายขึ้น ไม่ทนทุกข์ทรมาน หลีกเลี่ยงการรักษาที่มุ่งเน้นเพียงแต่จะประคองชีวิตต่อไปให้นานที่สุด ซึ่งอาจสร้างความทรมานให้ผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น
ต้องยอมรับว่าในระยะสุดท้ายแล้ว การเสียชีวิตของผู้ป่วยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของโรค ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่มีภาวะหัวใจวาย การรักษาด้วยการใส่เครื่องช่วยหายใจอาจช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตนานขึ้น แต่อาจทำให้มีความทุกข์ทรมานมากขึ้น การรักษาที่เหมาะสมอาจเป็นการใช้ยาช่วยให้ผู้ป่วยหายเหนื่อยและไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
ปัจจุบันนี้กฎหมายก็ได้ยินยอมให้ผู้ป่วย (หรือผู้ที่ยังไม่ป่วย) ทุกคนที่มีสติสัมปชัญญะที่ดี สามารถทำหนังสือแสดงเจตจำนงเรื่องการดูแลในระยะสุดท้ายของชีวิตตนเองได้ว่า ถ้าถึงระยะสุดท้ายของชีวิตที่เป็นโรคที่รักษาไม่หาย ต้องการให้แพทย์ให้การดูแลอย่างไร งดเว้นการดูแลที่มีจุดประสงค์เพียงเพื่อการยื้อชีวิตไว้ได้และสามารถจะกำหนดให้ใครเป็นผู้ตัดสินใจแทนในภาวะที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ การเตรียมตัวเรื่องนี้ไว้แต่เนิ่นๆ ก็สามารถจะเป็นแนวทางปฏิบัติที่ช่วยในการตัดสินใจได้
แนวทางเหล่านี้เป็นหลักการที่อาจนำมาใช้โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้ผู้ป่วย “หายไว อยู่สบาย ตายดี”
ผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ใช่ผู้ป่วยสิ้นหวัง ผู้ป่วยทุกคนมีความหวังที่จะได้รับการดูแลที่เหมาะสมในช่วงสุดท้ายของชีวิต เพื่อให้มีคุณภาพของชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้และคงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไว้ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต