"เกะกะเเต่รับได้" เสียงคนกรุงถึง "S-GUARD" เสาป้องกันจักรยานยนต์บนทางเท้า
เสียงจากประชาชนต่อสภาพการใช้งานจริงของ "S-GUARD" อุปกรณ์ป้องกันจักรยานยนต์วิ่งบนทางเท้าล่าสุดของกทม.
เสียงจากประชาชนต่อสภาพการใช้งานจริงของ "S-GUARD" อุปกรณ์ป้องกันจักรยานยนต์วิ่งบนทางเท้าล่าสุดของกทม.
เปิดตัวโครงการได้ไม่นานก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เเละตั้งข้อสงสัยเสียเเล้วสำหรับ S-GUARD อุปกรณ์กั้นจักรยานยนต์ขึ้นทางเท้าของ "กรุงเทพมหานคร" เมื่อประชาชนหลายรายออกมาให้ความเห็นว่า โครงการดังกล่าวไม่ใช่การเเก้ไขปัญหาที่เเท้จริง เเถมยังสร้างความเดือดร้อนให้กับคนเดินเท้าทั่วไปโดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้พิการที่ต้องใช้วีลแชร์อีกต่างหาก
ล่าสุดโพสต์ทูเดย์ได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนเเละเก็บภาพการใช้งานจริงของ S-GUARD บริเวณใกล้กับรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีพระโขนง ลองไปดูกันว่าแท่งเหล็กขนาดความสูง 1 เมตร จำนวน 10 เเท่งในแต่ละพื้นที่นั้นส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง ?
สาเหตุที่ต้องมีเชือกล้อมอยู่ เนื่องจากอยู่ระหว่างรอให้สีแห้ง
ว่าที่ร้อยตรีบุญธรรม หุยประเสริฐ ผู้อำนวยการเขตวัฒนา บอกว่า S-GUARD จะทำให้ผู้ใช้จักรยานยนต์ ลด ละ เลิกพฤติกรรมขับขี่บนทางเท้า พร้อมกับยืนยันว่า ไม่เป็นปัญหาสำหรับผู้ใช้วีลแชร์เเน่นอน
"อาจจะดูเกะกะ ไม่สวยงามบ้างในสายตายของประชาชนบางท่าน เเต่หากเปรียบเทียบกับการปล่อยให้รถจักรยานยนต์ขึ้นมาวิ่งเเล้ว ผลกระทบเเละความเดือดร้อนนั้นน้อยกว่าเเน่นอน ช่องทางของ S-GUARD ไม่เป็นปัญหาสำหรับผู้พิการที่ต้องใช้วีลแชร์เนื่องจากมีช่องทางที่ตัวรถสามารถเลี้ยวเลาะเข้าไปได้"
ภาพจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ @Callme_kang แม่ค้าใช้เสา S-GUARD ติดกับร่ม
รัตนเดชา ขันทวิชัย พนักงานบริษัทวัย 38 ปี บอกว่า S-GUARD เป็นอุปกรณ์ที่เกะกะเเละไม่คิดว่าเป็นการเเก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง
"สิ้นเปลืองงบประมาณ ขัดหูขัดตาครับ ห้ามมอเตอร์ไซค์ได้ก็จริง เเต่ส่งผลกระทบกับคนเดินเท้าด้วย ทางออกคือ เจ้าหน้าที่ต้องไปจับ-ปรับพวกละเมิดกฎหมายอย่างจริงจังมากกว่า"
วรรณฑกาญจน์ เเสนเกตุ วัย 23 ปี เเสดงความเห็นหลังผ่านช่องทางเดินของ S-GUARD ว่า คับเเคบเกินไป คนเดินเท้าที่มีสัมภาระหรือคนที่มีรูปร่างขนาดใหญ่ไม่น่าจะได้รับความสะดวก
"คิดว่ามันน่าจะกว้างกว่านี้ เเคบเกินไป บางคนถือของต้องยกข้าม บางคนอ้วนก็เดินลำบากต้องเบี่ยงตัวหลบ"
อ้อย นฤมล คนเดินถนนอีกราย เห็นว่า S-GUARD เป็นอุปกรณ์ที่ดีสำหรับการป้องกันพฤติกรรมของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า เเละไม่ได้สร้างปัญหาให้กับการเดินทางของคนทั่วไป อย่างไรก็ตามทางออกที่ดีที่สุดคือ ทำให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์มีจิตสำนึก เคารพสิทธิคนเดินเเละกฎหมาย
"ยังเดินได้สะดวก อาจจะดูไม่สวยงาม เกะกะไปบ้าง เเต่ก็เข้าใจว่าเพื่อเเก้ปัญหามอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า ถ้าทำถึงขั้นนี้เเล้วยังมีผู้ละเมิดอีก เจ้าหน้าที่ก็คงต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ปรับเงินสูงๆ เพื่อเป็นตัวอย่างเเละทำให้ทุกคนเห็นว่า เจ้าหน้าที่เอาจริงเสียที"
S-GUARD บางพื้นที่ ยังไม่สามารถหยุดยั้งพฤติกรรมละเมิดกฎหมายได้
ทั้งนี้นอกจาก S-GUARD เเล้ว ล่าสุดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังมีเเนวคิดให้วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ช่วยเป็นหูเป็นตาแจ้งข้อมูลรถจักรยานยนต์ขึ้นไปวิ่งบนทางเท้าอย่างเด็ดขาดด้วย โดยผู้ฝ่าฝืนมีความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองพ.ศ.2535 มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท