posttoday

เงินเฟ้อคืนชีพ บททดสอบแบงก์ชาติโลก

17 กุมภาพันธ์ 2560

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกพยายามใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อรับมือกับภาวะเงินฝืด

โดย...ชญานิศ ส่งเสริมสวัสดิ์

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกพยายามใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อรับมือกับภาวะเงินฝืด อย่างไรก็ตาม สัญญาณในช่วงที่ผ่านมาอาจจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนนโยบายการเงินโลก เมื่ออัตราเงินเฟ้อในหลายพื้นที่เริ่มปรากฏให้เห็น หลังได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันและโภคภัณฑ์ที่กลับสู่ช่วงขาขึ้น

เริ่มต้นจาก “จีน” ดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ปรับขึ้น 2.5% ในเดือน ม.ค. เช่นเดียวกับดัชนีราคาผู้ผลิต (พีพีไอ) ที่ปรับขึ้น 6.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นถึงราคาสินค้าต่างๆ ที่ปรับขึ้นในจีนช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ซึ่งผู้บริโภคต่างออกมาจับจ่ายใช้สอย

แม้ช่วงเทศกาลจะทำให้ดัชนีดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการปรับขึ้นแรงเพียงแค่ชั่วคราว แต่ดัชนีราคาผู้ผลิตสำหรับวัสดุก่อสร้างปรับขึ้นมากถึง 12.9% และสินค้าเหมืองปรับขึ้นแรงถึง 31% โดยสินค้าเหล่านี้ของจีนมักเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญสำหรับการก่อสร้างในแต่ละประเทศทั่วโลกเช่นกัน

จากการเป็นเจ้าส่งออกไปทั่วโลกนั้น ส่งผลให้เจพีมอร์แกน วาณิชธนกิจชื่อดังของสหรัฐ คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจากราคาผู้ผลิตจะปรับขึ้น 4% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ขณะที่ธนาคารคอมมอนเวลธ์ แบงก์ ออฟ ออสเตรเลีย คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อดังกล่าวจะพุ่งถึงจุดสูงสุด 6% ในช่วงไตรมาส 3

อัตราเงินเฟ้อของจีนนั้น ยังมาพร้อมกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้น โดยธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) คาดการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่ใช่น้ำมันปีนี้จะปรับขึ้น 3% เป็นการปรับขึ้นครั้งแรกรอบ 6 ปี หลังจากร่วงลงไปถึง 6% ในปี 2016 โดยราคาเหล็กมีแนวโน้มจะปรับขึ้นมากถึง 11% จากการลดการผลิตลงระหว่างเผชิญกับราคาถูกในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกยังได้รับแรงสนับสนุนจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นราว 10% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2016 จากข้อตกลงลดการผลิตระหว่างกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ (โอเปก) และนอกโอเปก โดยเวิลด์แบงก์คาดว่า ราคาพลังงานในปีนี้จะฟื้นขึ้น 26%

ราคาโภคภัณฑ์ที่ปรับขึ้นนั้น ยังเกิดขึ้นท่ามกลางความต้องการสินค้าในกลุ่มวัตถุดิบสำหรับการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น การให้สัญญาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.5 ล้านล้านบาท) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากสหรัฐ และการเตรียมการสร้างสิ่งปลูกสร้างรองรับโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2020 ของญี่ปุ่น

สำหรับญี่ปุ่น การกระตุ้นเงินเฟ้ออาจยังไม่ปรากฏผลที่เห็นได้ชัดหลังต้องฝ่าฟันความประหยัดของชาวญี่ปุ่นที่หลีกเลี่ยงการจับจ่ายใช้สอย แต่สำหรับสหรัฐแล้ว อัตราเงินเฟ้อเริ่มปรากฏให้เห็นแล้วเช่นกัน โดยอัตราเงินเฟ้อในช่วง 12 เดือนนับถึงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ปรับขึ้น 2.5% ซึ่งเป็นอัตราเทียบรายปีที่มากที่สุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 2012 หลังราคาพลังงานและโภคภัณฑ์ปรับขึ้น

ธนาคารกลางมีบทบาทในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เจเน็ต เยลเลน ผู้ว่าการฯ ส่งสัญญาณพร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อๆ ไป ซึ่งแม้เยลเลนจะไม่ระบุระยะเวลาที่ขึ้นดอกเบี้ยชัดเจน แต่เยลเลน กล่าวว่า หากอัตราจ้างงานและเงินเฟ้อปรับขึ้นไปตามที่เฟดคาดไว้ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยตามไปด้วย

ส่วนจีนที่กำลังเผชิญกับเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นภายในประเทศก็มีการใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดอย่างเงียบๆ เช่นกัน โดยไม่ได้ทำผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่หันไปใช้การดำเนินการผ่านตลาดการเงิน (Open Market Operations) แทน เช่น การออกข้อตกลงซื้อคืนระยะสั้น 7 วัน 14 วัน และ 28 วัน เมื่อตลาดต้องการสภาพคล่อง และดูดเงินคืนเมื่อตลาดมีสภาพคล่องมากเกินไป

สาเหตุที่จีนต้องหันไปใช้เครื่องมือดังกล่าว เป็นผลมาจากการลดอัตราดอกเบี้ยหรือลดสัดส่วนทุนสำรองสำหรับธนาคารพาณิชย์ (อาร์อาร์อาร์) จะไปกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมเพิ่มขึ้น และกลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาหนี้ท่วมที่จีนเผชิญอยู่ในปัจจุบันแทน

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าธนาคารกลางทุกแห่งจะเริ่มใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดในทันทีที่เห็นอัตราเงินเฟ้อปรับขึ้น เช่น ธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) โดยแม้อัตราเงินเฟ้อในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา จะปรับตัวขึ้น 1.1% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 38 เดือน นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2013 แต่มาริโอ ดรากี ผู้ว่าการอีซีบี ระบุว่า จำต้องคอยจับตาเงินเฟ้อต่อไปอีกสักพัก ก่อนจะเริ่มใช้มาตรการการเงินแบบเข้มงวด

อีซีบีจะเริ่มต้นการลดขนาดของโครงการซื้อคืนสินทรัพย์ (คิวอี)ในเดือน เม.ย.ปีนี้ จากอัตราเข้าซื้อเดือนละ 8 หมื่นล้านยูโร (ราว 2.9 ล้านล้านบาท) เป็นเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร (ราว 2.2 ล้านล้านบาท)และจะสิ้นสุดโครงการเข้าซื้อในเดือน ธ.ค.ของปีนี้

อีกตัวอย่างหนึ่งที่ได้ชัด คือ อินเดีย โดยราคาดัชนีราคาขายส่งปรับขึ้น 5.25% ในเดือน ม.ค.เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้มีการเรียกร้องให้ธนาคารกลางอินเดีย (อาร์บีไอ) ปรับขึ้นดอกเบี้ยจากระดับปัจจุบันที่ 6.25% ทว่าเศรษฐกิจอินเดีย ซึ่งยังคงเป็นสังคมเงินสดเสียส่วนใหญ่ กำลังประสบปัญหาหนักจากการยกเลิกใช้ธนบัตร 500 และ 1,000 รูปี ส่งผลให้ยากต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้

อัตราเงินเฟ้อที่กลับมานั้นจะกลับมาอย่างต่อเนื่องและพุ่งสูงขึ้นหรือไม่ ยังคงต้องจับตาต่อไป เช่นเดียวกับท่าทีของธนาคารกลางในการรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นปัญหาคนละขั้วจากที่ภาคธนาคารเคยประสบในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินสหรัฐในปี 2008