posttoday

ดาวเคราะห์น้อยชื่อไทย

19 กุมภาพันธ์ 2560

เมื่อกลางปี 2557 ผู้เขียนเคยเขียนถึงดาวเคราะห์น้อยที่ได้รับการตั้งชื่อตามคนไทย 11 คน

โดย...วรเชษฐ์ บุญปลอด

เมื่อกลางปี 2557 ผู้เขียนเคยเขียนถึงดาวเคราะห์น้อยที่ได้รับการตั้งชื่อตามคนไทย 11 คน ปลายปีเดียวกันได้มีชื่อของคนไทยถูกนำไปตั้งเป็นชื่อดาวเคราะห์น้อยเพิ่มขึ้นอีก นั่นคือดาวเคราะห์น้อยมงกุฎ ตามพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และล่าสุดเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา เราก็ได้มีดาวเคราะห์น้อยชื่อไทยเพิ่มขึ้นอีกดวง เสนอโดยสมาคมดาราศาสตร์ไทย

ระบบสุริยะมีดาวเคราะห์น้อยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี ซีรีสเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ค้นพบเป็นดวงแรกเมื่อ ค.ศ. 1801 ด้วยสัณฐานที่ใกล้เคียงทรงกลม ทำให้ซีรีสถูกจัดเป็นดาวเคราะห์แคระดวงหนึ่ง ตามเกณฑ์การจำแนกชนิดของวัตถุซึ่งกำหนดโดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล หรือไอเอยู

ดาวเคราะห์น้อยที่ทราบวงโคจรแน่นอนแล้วจะมีตัวเลขนำหน้า บอกลำดับในบัญชีดาวเคราะห์น้อย นอกจากนี้ ผู้ค้นพบยังมีสิทธิตั้งชื่อสามัญที่ใช้เรียกกันทั่วไป ชื่อสามัญของดาวเคราะห์น้อยที่ค้นพบในช่วงแรกมักตั้งตามเทพเจ้าหรือตัวละครในเทพนิยาย ต่อมาเมื่อมีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยเพิ่มมากขึ้น จึงมีการตั้งชื่อตามผู้ค้นพบ บุคคลที่มีความสำคัญต่อผู้ค้นพบ เมืองอันเป็นที่ตั้งของหอดูดาวที่ค้นพบ ตัวละครในนิยายที่มีชื่อเสียง รวมไปถึงบุคคลสำคัญต่างๆ ทั้งในและนอกวงการดาราศาสตร์

ตามกฎเกณฑ์ในปัจจุบัน ภายในระยะเวลา 10 ปี นับจากวันที่ค้นพบ ผู้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยมีสิทธิเสนอชื่อสามัญให้กับดาวเคราะห์น้อยที่ตัวเองพบ โดยส่งชื่อและเหตุผลของการตั้งชื่อไปให้คณะกรรมการของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล ประกอบด้วยนักดาราศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านดาวเคราะห์น้อยและดาวหางจากทั่วโลก ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินและอนุมัติ นับถึงขณะนี้มีดาวเคราะห์น้อยที่พบแล้วกว่า 7 แสนดวง ในจำนวนนี้มีชื่อเป็นตัวเลขในบัญชีดาวเคราะห์น้อยแล้วกว่า 4 แสนดวง และเป็นดาวเคราะห์น้อยที่ได้รับการตั้งชื่อสามัญแล้วกว่า 2 หมื่นดวง

เราทราบข่าวเกี่ยวกับการนำชื่อของคนไทยไปตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อยครั้งแรกในปี 2549 เมื่อนักเรียนจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้รับรางวัลในงานประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ที่มีชื่อว่า อินเทลไอเซฟ (Intel International Science and Engineering Fair : Intel ISEF) ซึ่งหนึ่งในของรางวัลที่ได้จากงานนี้คือการนำชื่อของผู้ได้รับรางวัลที่ 1 และ 2 ของแต่ละสาขาไปตั้งเป็นชื่อสามัญของดาวเคราะห์น้อย

ก่อนปี 2557 เราทราบว่า มีนักเรียนได้รับรางวัลที่ 1 หรือ 2 จากงานอินเทลไอเซฟในปี 2549 2550 และ 2554 ถูกนำไปตั้งชื่อให้ดาวเคราะห์น้อย 9 ดวง ประกอบด้วย ชินอรุณชัย (21464 Chinaroonchai) อิทธิปัญญานันท์ (21540 Itthipanyanan) สุวรรณศรี (21632 Suwanasri) นิยมเสถียร (23308 Niyomsatian) ศิริวัน (23310 Siriwon) สุโภไควณิช (23313 Supokaivanich) พรวสุ (28418 Pornwasu) ธัญพิชชา (28419 Tanpitcha) และสังขนิตย์ (28425 Sungkanit)

แต่ผู้เขียนได้พบในภายหลังว่า คนไทยเคยมีชื่อเป็นดาวเคราะห์น้อยมาแล้ว คือ กฤษฎาพร (7604 Kridsadaporn) ตั้งชื่อตาม กฤษฎาพร ฤทธิ์สมิตชัย ซึ่งเคยทำงานที่หอดูดาวไซดิงสปริงในออสเตรเลีย ก่อนถึงแก่กรรมเมื่อปี 2547 จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ดาวเคราะห์น้อยอีกดวงหนึ่งคือ วาเนสซา-เม (10313 Vanessa-Mae) ตั้งชื่อตามวาเนสซา-เม (วาเนสซา วรรณกร นิโคลสัน) ลูกครึ่งไทย-สิงคโปร์ ซึ่งเป็นนักไวโอลิน และนักกีฬาตัวแทนประเทศไทยในกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2014

ปลายปี 2557 มีดาวเคราะห์น้อยชื่อไทยเพิ่มขึ้นเป็นดวงที่ 12 คือ มงกุฎ (151834 Mongkut) ตามพระนามเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งเป็นพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ชื่อนี้เสนอโดย ด.ช.เศรษฐพงศ์ ภัทรเมฆานนท์ ซึ่งได้เข้าร่วมการประกวดในโครงการ Name An Asteroid Campaign จัดขึ้นเมื่อปี 2556 โดย Space Generation Advisory Council ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่เสนอและสนับสนุนความก้าวหน้าทางนโยบายด้านอวกาศต่อสหประชาชาติ ชื่อมงกุฎได้รับเลือกและประกาศในเดือน ก.ย. 2557

ปี 2558 เยาวชนไทยได้รับรางวัลจากงานอินเทลไอเซฟเพิ่มขึ้นอีก 3 คน จากสาขาสัตวศาสตร์ในผลงานการศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่มีผลต่อการพ่นใยเพื่อผลิตแผ่นใยไหม โดย นัทธพงศ์ เชื้อศิริถาวร ธนานนท์ หิรัณย์วาณิชชากร และสุทธิลักษณ์ รักดี จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย จึงมีดาวเคราะห์น้อย 3 ดวง ได้แก่ นัทธพงศ์ (31938 Nattapong) ธนานนท์ (31939 Thananon) และสุทธิลักษณ์ (31940 Sutthiluk)

วันที่ 12 ก.พ. 2560 มีดาวเคราะห์น้อยชื่อไทยเพิ่มขึ้นเป็นดวงที่ 16 คือ สิงห์โต (6125 Singto) ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ค้นพบเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2532 โดยนักดาราศาสตร์ชาวญี่ปุ่นสองคนที่เมืองคุชิโระในจังหวัดฮอกไกโด

ดาวเคราะห์น้อยสิงห์โตมาจากชื่อของ สิงห์โต ปุกหุต (2458–2550) ผู้เป็นนักเขียนและอาจารย์ทางด้านดาราศาสตร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ อดีตนายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย อาจารย์สิงห์โตมีผลงานหนังสือด้านดาราศาสตร์หลายเล่ม “นิยายดาว” ได้รับเลือกโดยสำนักกองทุนสนับสนุนการวิจัยเมื่อปี 2543 ให้เป็นหนึ่ง ในหนังสือดี 100 ชื่อเรื่องที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน

สมาคมดาราศาสตร์ไทยเสนอชื่อดาวเคราะห์น้อยสิงห์โตเมื่อปี 2558 โดยได้รับสิทธิเสนอชื่อเนื่องจากชนะการประกวดตั้งชื่อดาวฤกษ์ซึ่งก็คือดาวชาละวันในกลุ่มดาวหมีใหญ่ และดาวเคราะห์บริวาร 2 ดวง ของดาวชาละวันซึ่งตั้งชื่อว่าตะเภาทองและตะเภาแก้ว ตามตำนานเรื่องไกรทอง สอดคล้องกับดาวจระเข้ ซึ่งเป็นชื่อที่คนไทยเรียกดาวสว่าง 7 ดวง ในกลุ่มดาวหมีใหญ่ โดยชนะจากผลโหวตผ่านทางเว็บไซต์ จัดโดยสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล

ในอนาคตอันใกล้คาดว่าจะมีดาวเคราะห์น้อยชื่อไทยเพิ่มขึ้นอีก 2 ดวง เนื่องจากมีนักเรียนได้รางวัลที่ 2 จากงานอินเทลไอเซฟในสาขาสัตวศาสตร์เมื่อปี 2559 จากผลงานการศึกษาพฤติกรรมการตอบสนองต่อแรงโน้มถ่วงของหนอนไหมเพื่อผลิตเครื่องมือใช้ควบคุมการพ่นใยในการผลิตแผ่นใยไหม โดย ชลันธร ดวงงา และรุ้งลาวัลย์ ชาภักดี จากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย ซึ่งคาดว่าจะได้รับการตั้งชื่อเป็นดาวเคราะห์น้อยภายในปีนี้