posttoday

เผย ร.1 เกรงพระทัย พระอนุชา หรือวังหน้า

26 กุมภาพันธ์ 2560

เรื่องวังหน้าที่เหลือแต่ตำนานนั้น มีเรื่องเล่าในประเด็นต่างๆ หลากหลาย ล้วนแต่เป็นการเทิดพระเกียรติยศแห่งมหาอุปราช

โดย...ส.สต

เรื่องวังหน้าที่เหลือแต่ตำนานนั้น มีเรื่องเล่าในประเด็นต่างๆ หลากหลาย ล้วนแต่เป็นการเทิดพระเกียรติยศแห่งมหาอุปราช หรือวังหน้าทั้งสิ้น ในขณะที่กรมศิลปากรจัดโครงการเผยแพร่มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ วันที่ 18-19 ก.พ. 2560 เล่าตำนานวังหน้า ให้ได้รู้เพิ่มเติมอีกมาก

แต่ผู้เขียนไปพบหนังสือเก่าที่พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในการฌาปนกิจศพ หม่อมผาด นวรัตน ณ อยุธยา ณ เมรุวัดธาตุทองวันที่ 10 ก.ย. 2515 ว่าด้วยเรื่องประวัติวังหน้า ในมุมที่ไม่มีใครกล่าวถึงมากนัก แม้ว่าจะเป็นเรื่องน่าสนใจก็ตาม

ก่อนจะเข้าถึงตอนที่น่าสนใจ ผู้เขียน (ไม่ระบุนาม) บอกกล่าวเล่าเรื่องความหมายของคำ คือคำว่า “วังหลวง” และ “วังหน้า” นั้น แตกต่างกันอย่างไร “วังหลวง” ก็หมายถึง พระบรมมหาราชวัง

คำว่า “วังหน้า” หรือกรมพระราชวังบวรมงคลสถาน ย่อมหมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น “มหาอุปราช” หรือ “อุปราช” (แปลว่า รองพระเจ้าอยู่หัว)

ฝรั่งมักกล่าวว่าเมืองไทยมีกษัตริย์สองพระองค์ ถ้าพูดกันตามความจริงแล้วก็ถูกของเขา เพราะอุปราชมีอะไรเหมือนกับ “วังหลวง” แทบไม่มีผิด มีพระราชโอรส พระราชธิดา ก็เป็นพระองค์เจ้าโดยกำเนิด ก่อนจะครองตำแหน่งก็มีการ “อุปราชาภิเษก” เวลาสิ้นพระชนม์ ก็ใช้คำว่า “สวรรคต”

สมัยที่มีวังหน้า เวลาฝรั่งเข้าเฝ้าฯ ในหลวง โดยมากจะต้องเข้าเฝ้า “มหาอุปราช” หรือ “วังหน้า” ด้วย

ในสมัยรัชกาลที่ 1 ยังทรงเกรงพระราชหฤทัย “วังหน้า” (หรือพระอนุชา) อีกด้วย บางทีฝรั่งถึงกับสงสัยว่าองค์ไหนใหญ่กันแน่ นี่คือประเด็นที่ผมว่าน่าสนใจ

เผย ร.1 เกรงพระทัย พระอนุชา หรือวังหน้า สมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท

 

ในหลวงรัชกาลที่ 1 ทรงเกรงพระราชหฤทัยแก่ “วังหน้า” มากจนออกนอกหน้าเพราะเหตุใด ทั้งนี้ว่าด้วยวัยวุฒิแล้ว ในหลวงมีพระชนมายุแก่กว่าวังหน้า 7 ปี ว่าด้วยคุณวุฒิในปี 2325 ในหลวงก็เป็นถึงสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก วังหน้าเป็นแต่เพียงเจ้าพระยาสุรสีห์เท่านั้น

แต่เมื่อคิดดูให้ดีจะต้องมีอะไรที่ทำให้ต้องเกรง “วังหน้า” ผู้เขียนก็ค่อยๆ ลำดับเรื่องราว ดังนี้

ตอนกรุงศรีอยุธยาแตก “วังหน้า” ได้เป็นนายสุดจินดา “วังหลวง” ได้เป็นหลวงยกกระบัตร

เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกำลังรวบรวมอำนาจในปี 2310 “วังหน้า” ได้เป็นพระมหามนตรี ส่วน “วังหลวง” ยังมิได้ถวายตัว

ในปี 2311 เมื่อวังหน้าได้เป็นพระยามหามนตรี วังหลวงได้เป็นเพียงพระราชวรินทร์

ต่อมาวังหน้าได้เป็นพระยาอนุชิตราชา วังหลวงได้เป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์

ปี 2312 วังหน้าได้เป็นพระยายมราช วังหลวงคงเดิม

ต่อมาปี 2313 วังหน้าได้เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ แล้วไปครองเมืองพิษณุโลก วังหลวงเพิ่งได้เป็นพระยายมราช ต่อมาปี 2314 จึงได้เป็นเจ้าพระยาจักรีและเป็นสมุหนายกด้วย

เผย ร.1 เกรงพระทัย พระอนุชา หรือวังหน้า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ที่ประทับของวังหน้า - ภาพ : กรมศิลป์

 

ในระหว่างปี 2313 นี้ จะเห็นได้ว่า วาสนาวังหน้ารุ่งโรจน์กว่าวังหลวง ครั้นปี 2314 ด้วยเหตุที่วังหน้าอยู่ถึง จ.พิษณุโลก ไกลพระเนตรพระกรรณ สมเด็จพระเจ้าตากสิน วังหลวง จึงปรูดปราดขึ้นเหนือกว่า คือ เป็นถึงสมุหนายก จนกระทั่งได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ในปี 2320

ในต้นปี 2312 ขณะที่ สมเด็จพระเจ้าตากสิน เรียกตัวพระยาอนุชิตราชา (วังหน้าในรัชกาลที่ 1) มาชำระความ เพราะมีคนบอกว่าพระยาอนุชิตราชายกทัพกลับจากเสียมราฐ มาหยุดยั้งยังนครราชสีมา โดยไม่มีพระบรมราชโองการ “เราใช้ให้เจ้าไปราชการสงคราม ยังมิทันให้หันทัพกลับ เหตุไฉนเจ้าจึงยกทัพกลับมาเองครั้งนี้ เจ้าจะคิดเป็นกบฏต่อเราหรือ?” นี่เป็นกระแสพระราชดำรัสตอนหนึ่งของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงตรัสถามพระยาอนุชิตราชา (วังหน้าในรัชกาลที่ 1)

“ข่าวลือออกไปว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ณ เมืองนครราชสีมา ข้าพระพุทธเจ้าเกรงว่าข้าศึกอื่นจะยกมาชิงเอากรุงธนบุรี จึงรีบกลับมาหวังจะรักษาแผ่นดินไว้ นอกจากพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าจะได้ยอมเป็นข้าของผู้อื่นนั้นหามิได้เลยเป็นอันขาด” เป็นคำกราบบังคมทูลของพระยาอนุชิตราชา

ประโยคสุดท้ายนี้เอง ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 1 กลัวนัก แม้จะเป็นน้องในไส้ก็ต้องกลัว เพราะขณะนั้น เจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ กรมขุนกษัตรานุชิต (เจ้าฟ้าเหม็น พระราชโอรสของสมเด็จพระเจ้าตากสิน กับสมเด็จเจ้าฟ้าฉิมใหญ่ ธิดาของในหลวงรัชกาลที่ 1) ยังทรงพระชนม์อยู่ ลองคิดดูเองว่าทำไมในหลวงจึงกลัวนักกลัวหนา เพราะใครๆ ก็รู้อยู่ว่าวังหน้านั้น ทั้งดุ เด็ดขาด ซื่อสัตย์

ตามปกติการแต่งตั้งวังหน้านั้น สำหรับรัชกาลก่อนๆ จำเป็นยิ่งนักเพราะในหลวงอาจต้องกรีธาทัพเอง ปุบปับต้องเสด็จไป จะมัวสั่งงานก็ชักช้าจึงตั้งสำรองไว้ก่อน

การแต่งตั้งมักจะทรงตั้งพระราชอนุชา (โดยมากตั้งองค์ที่ร่วมพระบิดาพระมารดาเดียวกัน) หรือพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง หรือพระบรมวงศานุวงศ์ที่สนิทสนมกันและไว้วางพระราชหฤทัย เพราะเหตุว่าถ้าทรงแต่งตั้งผู้อื่นก็เกรงจะชิงราชสมบัติเอาเสียเอง

ที่แปลกคือในสมัยรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ มิได้เป็นวังหน้าของรัชกาลที่ 4 หากแต่เป็นกษัตริย์รอง ไม่ได้อุปราชาภิเษก แต่ได้รับพระราชทานบวรราชาภิเษก ซึ่งก็ทรงทำหน้าที่วังหน้านั่นเอง

ตำแหน่งวังหน้ามีมาในรัชกาลที่ 1 มาสิ้นสุดในรัชกาลที่ 5 ครั้นถึงรัชกาลที่ 6 ก็มิได้ทรงตั้งใครอีกเลย

เขตปกครองวังหน้า นับจากท่าพระจันทร์ จรดประตูผี ที่ปัจจุบันเรียกเพี้ยนเป็นประตูสำราญราษฎร์ ส่วนตัววัง คือที่เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และที่ตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วัดคือวัดพระแก้ววังหน้า

ที่ประทับ ได้แก่ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ แต่เดิมชื่อพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังชั้นเยี่ยมในสมัยรัชกาลที่ 1 ให้ได้ชมกันด้วย ดังนั้นชมพิพิธภัณฑ์ ต้องนึกถึงวังหน้าด้วยครับ