จุฬาฯ ศตวรรษใหม่ ยกระดับมาตรฐานอินเตอร์
"วันนี้เราจะคิดแค่ในประเทศไทยไม่ได้แล้ว จุฬาฯ จะต้องปรับตัวเพื่อเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย เชื่อมโยงกับระดับการศึกษานานาชาติมากขึ้น"
โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน
ประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัย วิทยาลัย สถาบันการศึกษา ทั้งของรัฐ ในกำกับรัฐและเอกชนมากถึง 170 แห่ง ตัวเลขการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษากลับลดลงเพราะปัญหาประชากรวัยเรียนที่ลดจำนวนลงทุกปี และกระแสที่เน้นให้นักเรียนหันไปเรียนสายอาชีพที่มีตำแหน่งงานรองรับ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาที่ได้ชื่อว่าเก่าแก่ที่สุด กำลังมีอายุผ่านปีที่ 100 ย่างเข้าสู่ศตวรรษใหม่ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว และกำลังเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับเรื่องนี้เช่นกัน
ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นอธิการบดีคนที่ 17 ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งหมาดๆ เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2559 เริ่มเปิดประเด็นนี้ โดยระบุว่า สถาบันเก่าแก่อย่างจุฬาฯ ก็เลี่ยงไม่ได้เช่นกันที่จะต้องยอมรับว่ากำลังเข้าสู่ยุคที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน โดยเฉพาะทางสังคมและการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว สยายปีกครอบคลุมไปทั่วโลก
“โลกภายนอกนั้นเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าใครจะคาดคิดถึง สิ่งที่ผมสังเกตเห็นคือพวกเราที่อยู่ในแวดวงการศึกษาหรือกระทั่งแวดวงอื่นๆ มักจะพิจารณาความเปลี่ยนแปลงจากแค่กรอบในประเทศไทย วันนี้ต้องยอมรับว่าอิทธิพลความเปลี่ยนแปลงมาจากบริบททั่วโลก และที่สำคัญคือเกิดขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าที่เคยเป็นปรากฏการณ์ในอดีต ในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมาเรามีเวลาในการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงเยอะ แต่วันนี้เราถูกเทคโนโลยีบังคับให้ปรับตัวอย่างรอช้าไม่ได้เลย เช่น ระบบสื่อสารสมัยใหม่ที่ส่งผลต่อสังคมในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม ทั้งหมดเป็นคำถามที่ย้อนกลับมาหาเรา กลับมาหาจุฬาฯ ว่าจะปรับตัวตามปรากฏการณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่บีบบังคับอยู่นี้อย่างไร”
อธิการบดีมาดสุขุมตามแบบฉบับของซีอีโอยุคใหม่ ขยายความให้ฟังว่า หากจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเร็วตามปัจจัยการแข่งขันทางเศรษฐกิจยุค 4.0 ที่ผันแปรไปอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ได้ยากขึ้นทุกที จำเป็นที่จะต้องกำหนดหลักยึดที่ต้องมีเป้าหมายชัดเจน เช่น หากพุ่งเป้าไปที่ตัวนิสิต นักศึกษา ก็ต้องกำหนดคุณลักษณะของบัณฑิตที่จะจบการศึกษาให้ชัดเจนว่า หากพวกเขาจบการศึกษาไปแล้วจะต้องคิดเป็น ทำงานเป็น และสื่อสารได้
จากการบอกเล่าของอธิการบดีท่านนี้ ทำให้ทราบว่า จุฬาฯ ยุคใหม่ถูกวางเป้าหมายให้ต้องปรับกระบวนการเรียนการสอน ที่กระตุ้น ส่งเสริมให้นิสิตสามารถวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นหรือที่เห็นได้ ด้วยการต้องสร้างบรรยากาศการเรียนที่ไม่ใช่เพื่อสอบหรือเรียนเพื่อให้ได้คะแนนดีอย่างเดียว แต่ต้องทำในสิ่งที่สังคมได้ประโยชน์และบอกเล่าเรื่องราว สื่อสารในสิ่งที่ทำอยู่ได้
“มหาวิทยาลัยจะต้องทำให้เห็นว่าเรากำลังนำองค์ความรู้ออกไปสู่สังคม ก่อนหน้านี้แต่ละคณะวิชาทำงานวิจัยอย่างค่อนข้างแยกศาสตร์ มีความรู้ในเชิงลึกในศาสตร์ที่ถนัดสั่งสมมานาน แต่โดยมุมมองของผม การทำวิจัยก็เป็นเหมือนการสร้างบ้านสร้างอาคาร เริ่มก่อสร้างด้วยการตอกเสาเข็ม ที่ต้องตอกลงไปให้ลึก แต่เมื่อตอกไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่า ถึงจุดที่ตอกไม่ค่อยจม ก็แสดงว่ายึดแน่นแล้ว และถึงเวลาที่จุฬาฯ ต้องเทเชื่อมศาสตร์ต่างๆ ที่เรามีกับสังคม
เราจะเข้าสู่ศตวรรษใหม่ด้วยการเน้นผลผลิต เชิงวิชาการ โดยจะสร้างผลผลิตข้ามสาย ข้ามศาสตร์ หรือเป็นการร่วมมือระหว่างต่างคณะวิชา เพื่อทำงานที่ตอบโจทย์ตามที่สังคมต้องการมากขึ้น เราจะได้เห็นคณะแพทยศาสตร์ทำงานกับวิศวกรรมศาสตร์ ทุกคณะจะมีโจทย์ในการทำงานข้ามศาสตร์ร่วมกัน เช่น จะทำกระดูกเทียม ก็มีสถาบันวิจัยโลหะฯ มาร่วมกับวิศวะ”
อธิการบดีจุฬาฯ เล่าอีกว่า การร่วมงานข้ามศาสตร์มีเป้าหมายที่จะหาทางออกให้กับงานวิจัยเชิงลึกที่จุฬาฯ ได้สั่งสมความรู้ในเรื่องต่างๆ มานาน งานวิจัยบางเรื่องที่เริ่มพบทางตัน เมื่อถูกนำมาเชื่อมโยงกันระหว่างศาสตร์มากขึ้นจะเป็นการสร้างโอกาสให้สังคมจะได้ประโยชน์จากงานวิจัยที่จุฬาฯ มีอยู่มากขึ้นตามไปด้วย แต่การผลิตบัณฑิต ผลิตองค์ความรู้ใหม่ๆ จะยังไม่ถือว่าเป็นความสำเร็จ หากไม่ได้ผลิตคนเพื่อออกไปทำงานรับใช้สังคมได้จริงๆ และเมื่อคาดการณ์แล้วว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยจะประสบปัญหา ประชากรวัยเรียนที่ลดจำนวนลงจนกระทบสถาบันการศึกษาทุกแห่ง ซึ่งจะประสบปัญหามีผู้เรียนลดลง เรื่องนี้จุฬาฯ ได้เตรียมแผนรับมือไว้แล้ว
“วันนี้เราจะคิดแค่ในประเทศไทยไม่ได้แล้ว จุฬาฯ จะต้องปรับตัวเพื่อเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย เชื่อมโยงกับระดับการศึกษานานาชาติมากขึ้น ที่ผ่านมาเราพัฒนาตัวให้รองรับและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติมาพอสมควร ซึ่งในศตวรรษใหม่เราจะเน้นหลักสูตรที่จะดึงดูดความสนใจจากนานาชาติมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อได้มาสัมผัสหลักสูตรของเราแล้วจะต้องยอมรับว่าเรามีมาตรฐานสูง จนเป็นที่ยอมรับ ใครๆ จากทั่วโลกต้องอยากมาเรียนกับเรา
...เราต้องการที่จะเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติอีกแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งจะเป็นได้จะต้องมีมาตรฐานสูง มีคุณภาพที่ได้รับการยอมรับนอกจากผู้เรียนแล้ว เราจึงมีเป้าหมายที่จะดึงคณาจารย์ ผู้สอนเก่งๆ จากทั่วโลกมาด้วย และเราคิดไปถึงว่า นอกจากมาสอนมาเรียนกับเราแล้ว บุคลากรเหล่านี้จะต้องอยากมาทำงานให้บริษัทห้างร้านต่างๆ เพื่อพัฒนาประเทศเราด้วย
วันนี้การแข่งขันระดับอุดมศึกษานานาชาติรุนแรงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง หลายๆ ประเทศไม่ได้รอแค่เด็กในชาติตัวเอง แต่เปิดรับทั่วโลก เด็กนักเรียนชั้นหัวกะทิของเราถูกดูดไปเรียนที่อื่นๆ
การแข่งขันในการแย่งชิงคนเก่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่เราไม่ค่อยได้พูดถึง ทั้งๆ ที่ถือว่าเป็นสิ่งที่คุกคามการเรียนการสอนและระบบผลิตบุคลากรในบ้านเรา
ยุคนี้มีการซื้อตัวคนเก่งๆ ไปเรียนไปทำงานให้เหมือนซื้อตัวนักฟุตบอลไปร่วมทีมฟุตบอล คนเก่งถูกซื้อตัวข้ามประเทศไปอยู่ในลีกสูงๆ การแข่งขันในระดับอุดมศึกษากำลังเหมือนกีฬานานาชาติ ที่ต้องเริ่มสำรวจเฟ้นหาคนเก่งและหาวิธี หาทุนที่จะรักษาตัวผู้เล่นไว้”
อธิการบดีท่านนี้แจกแจงอีกว่า การรักษาหรือดึงตัวทั้งผู้เรียนและคณาจารย์เก่งๆ ไว้ให้ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกทุ่มเทเรื่องนี้อย่างหนัก ถือเป็นการแข่งขันกันในระดับเวิลด์คลาส แม้จุฬาฯ จะเป็นสถาบันที่มีทุนทรัพย์ในการจัดการเรียนการสอนค่อนข้างสูง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกแล้ว ยังถือว่าเสียเปรียบในเรื่องทุนทรัพย์หลายเท่า
“แค่เปรียบเทียบงบวิจัยของเรากับสิงคโปร์ที่ได้รับจากรัฐบาล ก็จะเห็นตัวเลขว่าเราห่างจากเขาถึง 20 เท่า เวลาเขาส่งนักศึกษาปริญญาเอกมาเรียนกับเรา เขาให้ทุนเดือนละ 8-9 หมื่นบาท เราให้ได้แค่เดือนละ 8,000 บาท เมื่อเป็นแบบนี้ถ้าเราเป็นนักเรียนชั้นดี เราจะเลือกมาอยู่กับพรีเมียร์ลีกไหน มันก็เป็นทางเลือกที่ชัดเจน และเป็นปัญหาที่กำลังตอกย้ำให้เราตระหนักว่า ถ้าเราไม่ปรับตัว ไม่แก้ปัญหานี้เราก็จะลำบาก
...ตอนนี้มหาวิทยาลัยไทยทั้งหมดหันมาจับมือกัน ไม่ได้แข่งกันอย่างบ้าดีเดือด เพราะเรารู้ดีว่าจะมีที่ได้ดีอยู่แห่งเดียวไม่ได้ ดีสถาบันเดียวก็สู้กับนานาชาติไม่ได้ จะต้องจับมือกันเพื่อดีกันทั้งแผง หากเราทั้งหมดไม่แข็งแกร่ง ก็เสี่ยงพอๆ กัน” อธิการบดีจุฬาฯ กล่าว
ดูเหมือนเป้าหมายที่จะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ที่กล่าวมาพอสังเขปนั้น จะหมายถึงการเตรียมการ การทำงานที่สถาบันการศึกษาแห่งนี้จะต้องลงมือทำอีกนานัปการ
“การทำงานทุกเรื่องไม่ได้อยู่ที่ว่าผู้บริหารคิดอย่างไร คนที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ทำให้งานเกิดขึ้นก็คือ เหล่าคณาจารย์ และนิสิต นักศึกษา ที่อยู่ตามคณะ สถาบันวิจัยต่างๆ ซึ่งเป็นองค์กรสร้างผลผลิตทางวิชาการในจุฬาฯ ผมจึงมีหน้าที่สนับสนุนหาทางที่จะให้พวกเขาเหล่านั้นทำงานตามที่ถนัด เพื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่สองต่อไปอย่างราบรื่น” อธิการบดีจุฬาฯ กล่าวทิ้งท้าย