บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ทางออกซื้อเวลารักษาแนวร่วม
เป็นทางออกที่ช่วยรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลและ คสช.ไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อม จากทั้ง 3 ฝ่ายที่ล้วนแต่เคยเป็นคนกันเอง
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่นกับทางออกสุดท้ายที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เลือกตัดเนื้อหาในมาตรา 10/1 พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เรื่องการตั้ง “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ออกไป และปรับเปลี่ยนมาเขียนไว้เป็นข้อสังเกตแทน
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่านี่เป็นเพียงแค่การ “ซื้อเวลา” และรักษาสัมพันธ์กับทุกฝ่ายไม่ให้สั่นคลอน
เมื่อ “บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ” ถือเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน แถมเปิดหน้าออกมาแสดงจุดยืนของตัวเองอย่างชัดเจน ถึงขั้นขู่หากไม่ได้ตามที่ต้องการจะก็จะยกระดับการคัดค้านต่อไป
ทางออกเช่นนี้แม้จะไม่เป็นไปตามความต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทั้งหมด แต่ก็พอจะทำให้แต่ละฝ่ายยอมรับและช่วยลดแรงเสียดทานที่จะย้อนกลับมายังรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ยิ่งเรื่องนี้ถือเป็นศึก 3 เส้า ที่แต่ละฝั่งมีความเห็นแตกต่างกัน ยิ่งยากจะหาข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน
กลุ่มแรก สนช.ฝั่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่มี พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน ซึ่งถูกเพ่งเล็งว่าเป็นคน “สอดไส้” ยัดประเด็นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติมาในชั้นกรรมาธิการ
ทั้งที่ร่างแรกซึ่งส่งมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่มีการระบุถึงเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นเพียงแค่การกำหนดเรื่องการจัดประมูลที่เปลี่ยนจากระบบสัมปทานเดิม มาเป็นแบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC หรือสัญญาจ้างบริการ
ทว่าในรายละเอียดของบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั้นยังต้องรอผลการศึกษาก่อนจะมีความชัดเจน และไม่รู้ว่าจะจัดตั้งได้เมื่อไหร่ อย่างไร
กลุ่มที่สอง เครือข่าย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ ที่เปิดหน้าออกมาคัดค้านบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งจะมาเป็นผู้ถือสิทธิในทรัพยากรปิโตรเลียมทุกชนิดของประเทศ และห่วงว่ากรมพลังงานทหารจะเข้ามาบริหารบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในช่วงแรก จนทำให้กิจการน้ำมันของประเทศก็จะถอยหลังไปเหมือนยุค “สามทหาร”
ในฐานะผู้ที่เริ่มต้นกระบวนการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร พยายามชี้ให้เห็นว่าไม่เคยมีการพูดถึงเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติมาตั้งแต่ต้น จนมาเห็นสัญญาณผลักดันจาก 6 กรรมาธิการบิ๊กทหาร
ก่อนจะไปขอความเห็นชอบจาก ครม.ทั้งที่รัฐบาลยังไม่มีนโยบายที่จะทำ และไม่เคยศึกษาถึงผลได้ผลเสีย ตลอดจนความจำเป็นในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ จึงอาจไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเหมาะสม
กลุ่มที่สาม เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ รสนา โตสิตระกูล ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ด้วยจุดยืนต้องการให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติโดยเร็ว หรือก่อนที่จะมีการทำสัญญาพลังงานรอบใหม่ ซึ่งจะเป็นตัวแทนภาครัฐในการทำสัญญา
อีกด้านจะเป็นหน่วยงานที่รับโอนทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลที่มาจากคู่สัญญาซึ่งสัมปทานครบอายุสัญญา หน่วยงานนี้จึงมีความสำคัญและจำเป็นต้องเร่งดำเนินการจัดตั้งให้แล้วเสร็จก่อนการทำสัญญารอบใหม่
ปัญหาอยู่ตรงที่ทางออกหลัง สนช.อภิปรายกันมายาวนาน สุดท้ายก็ยังหาข้อสรุปได้ยาก ยังไม่รวมกับแรงกดดันด้านนอกสภาทั้งสองฝั่ง หากจะเดินหน้าไปทางใดแบบสุดลิ่มทิ่มประตูย่อมนำไปสู่เสียงต่อต้านคัดค้าน
ทางสายกลางแบบกั๊กๆ จึงกลายเป็นทางออกที่พอจะสยบความเคลื่อนไหวของทุกฝ่ายได้ อันจะทำให้สามารถผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผ่านความเห็นชอบของสภาประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ หลังคาอยู่ในการพิจารณาของสภามาอย่างยาวนาน
ในแง่ฝั่งค้านบรรษัทน้ำมันแห่งชาติการถอนมาตรา 10/1 ย่อมถือว่าบรรลุเป้าหมาย เพราะลำพังบรรจุในมาตราปกติแบบลอยๆ ไม่กำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจนก็ไม่มีหลักประกันว่าบรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่อยู่แล้ว
การปล่อยให้ไปกำหนดแบบกว้างๆ ว่า “ครม.ควรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นภายใน 60 วัน เพื่อพิจารณาศึกษาถึงรายละเอียดรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมภายใน 1 ปี” ยิ่งทำให้ความหวังที่จะตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติได้ริบหรี่มากขึ้น
สอดรับกับที่ทาง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า ตามปกติข้อสังเกตที่มาจาก สนช. รัฐบาลจะปฏิบัติตามทุกครั้ง แต่ไม่ถือว่าเป็นข้อบังคับว่าจะต้องทำให้ตรงตามนั้นทั้งหมด รัฐบาลสามารถทำน้อยหรือเกินกว่านั้นได้
ส่วนฝั่ง คปพ.นั้นแม้จะไม่ถือว่าได้ตามความต้องการทั้งหมด แต่การเขียนกรอบที่มีรายละเอียดชัดเจนขึ้น ทั้งเรื่องการตั้งกรรมการภายใน 60 วัน และต้องศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี ย่อมมีความคืบหน้ากว่ามาตรา 10/1 เดิม
แถมในที่ประชุม สนช. ทั้ง พล.อ.สกนธ์ และ พล.อ.สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผช.รมต.พลังงาน ระบุว่า ทาง พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ได้ให้มายืนยันว่า กระทรวงพลังงานพร้อมนำข้อสังเกตไปสู่การศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ที่ถือเป็นสัญญาประชาคม
ในขณะที่ทางฝั่ง กมธ.ที่ยอมตัดสินใจถอย แต่ก็ถือว่าได้เปิดช่องให้เลือกเดินได้ไม่ว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่ก็ตาม ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับกระแสสังคมในช่วงนั้นๆ
แต่เหนืออื่นใดทั้งหมดนี่เป็นทางออกที่ช่วยรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลและ คสช.ไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อม จากทั้ง 3 ฝ่ายที่ล้วนแต่เคยเป็นคนกันเอง ดังนั้นจึงไม่ควรจะผลักให้มิตรไปเป็นศัตรูโดยไม่จำเป็น