ลดพันธบัตรระยะสั้น ไม่พอบรรเทาบาทแข็ง
สถานการณ์ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา มีแนวโน้มแข็งค่าอยู่ แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว
โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์
สถานการณ์ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา มีแนวโน้มแข็งค่าอยู่ แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว โดยเงินทุนจากต่างประเทศยังคงไหลเข้ามาลงทุนในพันธบัตรไทย 1,790 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับตัวเลขรวมที่เข้ามาในครึ่งปีแรกของปีที่ผ่านมาที่ 2,503 ล้านเหรียญสหรัฐ
นับเป็นการตอกย้ำคำพูดของวิรไท สันติประภพผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่า ขณะนี้มุมมองต่างชาติเห็นประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ เป็นแหล่งสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) แห่งหนึ่งของโลก ด้วยความแข็งแกร่งของดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลสูง หนี้ต่างประเทศอยู่ระดับต่ำ ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวดี และต่างชาติมองเงินบาทมีความปลอดภัย แนวโน้มอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลเงินของประเทศอื่นในภูมิภาค
สำหรับแหล่งลงทุนที่เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาพักมากที่สุด คือ การเข้าซื้อพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีอายุระยะสั้น มีสภาพคล่องสูง ในขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งที่เก็งกำไรค่าเงินได้เป็นอย่างดี
ดังนั้น ธปท.จึงออกคำสั่งลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นของ ธปท. ประกอบด้วยพันธบัตรในเดือน เม.ย.อายุ 3 เดือน และ 6 เดือนลงประเภทละ 1 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ออกประเภทละ 4 หมื่นล้านบาท/สัปดาห์ เหลือประเภทละ 3 หมื่นล้านบาท/สัปดาห์ เพื่อลดปริมาณสินค้าในตลาดเงินระยะสั้นของไทยลง เป็นการลดปริมาณเงินจากต่างประเทศที่เข้ามาพักในตลาดการเงินไทยได้อีกทางหนึ่ง
ค่าเงินบาท ก่อนหน้าที่จะออกคำสั่งดังกล่าวเคลื่อนไหวแข็งค่าอยู่ที่ 34.30 บาท/เหรียญสหรัฐ แต่หลังจากการออกคำสั่งดังกล่าว เงินบาทโน้มอ่อนค่าลงไปที่ 34.50 บาท/เหรียญสหรัฐ และเงินบาท ณ วันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 34.63 บาท/เหรียญสหรัฐภาวะค่าเงินบาทดังกล่าว อาจไม่สามารถบอกได้เต็มปากว่า เกิดจากคำสั่งการลดวงเงินพันธบัตรระยะสั้นของ ธปท.เพียงอย่างเดียว เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวยังมีปัจจัยอื่นที่เข้ามาในขณะนั้น ได้แก่ การที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ มีคำสั่งตรวจสอบ 16 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐสูง ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย และยังมีกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ ส่งสัญญาณลดทรัพย์สินของตัวเอง หรือเป็นการดึงสภาพคล่องจากการผ่อนคลายทางการเงิน หรือ คิวอี ที่จะทำให้เงินเหรียญสหรัฐที่เคยสะพัดอยู่ทั่วโลกมีปริมาณลดน้อยลง ทำให้มีเงินไหลออกจากพันธบัตรไทยไปบ้าง แต่สถานภาพค่าเงินบาทก็ยังแข็งแกร่งกว่าสกุลเงินของประเทศคู่ค้าคู่แข่ง
กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่ ธปท.ใช้มาตรการลดพันธบัตรระยะสั้นในการสกัดเงินร้อนจากต่างชาติที่ไหลเข้ามาเก็งกำไร เพราะพันธบัตร ธปท.มีสภาพคล่องสูงเปรียบเสมือนการถือเงินสด ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาต่างชาติใช้วิธีนี้ในการเข้ามาหาผลตอบแทนจากอัตราแลกเปลี่ยนจนค่าเงินบาทแข็งค่า
พันธบัตรระยะสั้น ธปท.มีจุดเด่นที่นักลงทุนต่างชาติชอบคือ สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทได้ง่าย ไม่ต้องเสนอซื้อเสนอขาย เพราะใช้วิธีการประมูล แถมต้นทุนต่ำเมื่อขายได้ ธปท.ตีเช็คมาให้เลย ไม่ต้องไปขายในตลาดรองพันธบัตร ถ้าครบกำหนดแล้วต้องการถือครองต่อก็ไปประมูลเอา
แนวทางดังกล่าวเป็นการดูแลค่าเงินบาทที่ดีกว่าการเข้าไปแทรกแซงทุนสำรองระหว่างประเทศที่ ธปท.ทำมาตลอด เมื่อเงินบาทเริ่มแข็งก็จะเข้าไปซื้อเงินเหรียญสหรัฐ และขายเงินบาทออก และบางครั้ง ธปท.ต้องกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ผ่านการออกพันธบัตรระยะสั้นไปซื้อเงินเหรียญสหรัฐ และแบกรับขาดทุนจากดอกเบี้ยจ่ายสูงกว่าดอกเบี้ยรับ
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการออกมาตรการลดวงเงินพันธบัตรระยะสั้น อาจจะไม่เพียงพอกับการดูแลเงินบาทที่แข็งค่า เพราะเริ่มเห็นเงินทุนเคลื่อนย้ายไปยังพันธบัตรระยะยาวแทน โดยการเคลื่อนไหวดัชนีความสัมพันธ์พันธบัตรกับค่าเงินบาท พบว่า ความเชื่อมโยงพันธบัตรระยะสั้นต่อค่าเงินบาทลดลงเหลือ 50:50 หรือถ้าต่างชาติถือมากจะมีผลกับค่าเงินบาทแข็งค่า 50% แต่ขณะนี้ ดัชนีเงินบาทเชื่อมโยงกับพันธบัตรระยะยาวถึง 80% หมายความว่าถ้าต่างชาติเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวจะมีโอกาสถึง 80% ที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น
“โอกาสที่บาทจะอ่อนลงก็มี หากพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมีผลตอบแทนปรับขึ้นไปแตะ 2.5% จะเป็นจุดที่ทำให้เงินทุนต่างชาติจะเริ่มไหลออก ซึ่งปัจจุบันผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอยู่ที่ 2.34% คาดว่าจะเห็น 2.5% ในอีกไม่นาน แต่ระหว่างนี้ต้องรับสภาพกับความเป็นเซฟเฮฟเว่นหรือสินทรัพย์ปลอดภัยในไทย เพราะต่างชาติมั่นใจพันธบัตรไทยมาก มีอัตราผิดนัดชำระ (CDS) เพียง 0.54% ต่ำกว่าจีนและมาเลเซียเสียอีก” กอบสิทธิ์ กล่าว
เงินบาทที่แข็งค่ากว่าคู่ค้าคู่แข่ง อาจบอกได้ว่ามาจากโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยเอง ด้วยจุดแข็งที่กลายมาเป็นจุดอ่อนจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงติดต่อกันมานาน กดดันให้เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. ยังคาดการณ์ว่า ทั้งปี 2560 ไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 3.69 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การเกินดุลดังกล่าวกดดันต่อค่าเงินบาทในระยะต่อไป บวกกับนักลงทุนต่างชาติก็ยังนำเงินเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดย ธปท.จะจับตาดูสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และมีเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ดูแลความผันผวนของค่าเงินบาทอีกหลายเครื่องมือ
อย่างไรก็ตาม ในความจริงแล้ว เครื่องมือทางการเงินของ ธปท.อาจบรรเทาการแข็งค่าของเงินบาทได้เพียงชั่วคราว แต่ปัจจัยหลักที่ดูดเงินทุนไหลเข้า ส่วนหนึ่งเป็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเกินดุลดังกล่าวไม่ได้มาจากไทยส่งออกได้มากขึ้น แต่มาจากการนำเข้าที่มีอัตราการหดตัวมากกว่าการส่งออก เพราะธุรกิจชะลอการลงทุนใหม่หรือการขยายการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนทางการเมืองและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ อาจจำเป็นต้องใช้นโยบายการคลัง เข้ามาช่วยหรือไม่ ในการผ่อนคลายให้มีการนำเข้าสินค้าและบริการง่ายขึ้น เช่น มาตรการลดภาษีนำเข้าในสินค้าบางประเภท หรือส่งเสริมให้คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น เพื่อเป็นช่องทางให้เงินบาทไหลออก ลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเป็นการเปิดทางให้กลไกตลาดทำงานด้วยตัวมันเอง อาจเป็นการแก้ในจุดเล็กๆ ที่ถูกที่คันกว่าปัจจุบันก็เป็นได้