ญี่ปุ่นกับบราซิล
ตรงกับสมัย ร.5 ของสยาม ญี่ปุ่นปรับตัวให้ก้าวทันชาติตะวันตก ด้วยนโยบาย Rich Nation, Strong Military ให้ทันชาติตะวันตก
โดย...ม.ล.อัจฉราพร ณ สงขลา
ตรงกับสมัย ร.5 ของสยาม
ญี่ปุ่นปรับตัวให้ก้าวทันชาติตะวันตก ด้วยนโยบาย Rich Nation, Strong Military ให้ทันชาติตะวันตก เพื่อจะไม่ให้ใครมารังแกได้อีก ญี่ปุ่นเดินหน้าเข้าสู่ระบบโรงงานอุตสาหกรรม มีโรงงานปั่นด้ายครั้งแรก ออกกฎหมายการศึกษาภาคบังคับ และประกาศว่าคนญี่ปุ่นต้องอ่านหนังสือออกทั้งประเทศ
ต่อมาญี่ปุ่นซื้อเรือรบจากอังกฤษ และเข้าไปมีบทบาทในจีนเพื่อสกัดไม่ให้รัสเซียมาคุกคามตน แต่สภาพเศรษฐกิจสังคมญี่ปุ่นระดับล่างยังยากจน ที่ดินมีไม่พอ ทำเกษตรกรรม คนต้องเช่าที่นาทำกิน
ญี่ปุ่นเห็นคนจีนเดินทางไปเป็นแรงงานอกประเทศกันมากจึงเปิดโอกาสให้เอกชนตั้งบริษัทส่งคนไปทำงานต่างประเทศบ้าง ซึ่งตอนแรกก็ส่งแรงงานไปยังพื้นที่ใกล้ๆ เช่น ฮาวาย ฟิลิปปินส์ เป็นแรงงานในไร่อ้อย
ต่อมาแรงงานญี่ปุ่นก็ขยับไกลออกไป และได้พื้นที่ขายแรงงานขนาดใหญ่คือในทวีปอเมริกาใต้ ทำถนน ทำเหมือง ปลูกอ้อย ข้าวโพด กาแฟ ฯลฯ
บราซิลดำเนินนโยบายฟอกสีประชากรใหม่ ต้องการลดสัดส่วนคนผิวสีซึ่งเคยเป็นทาสนิโกรลง โดยการเพิ่มคนจากที่อื่นเข้าไปทำงานแทน แรกทีเดียวรับคนจากอิตาลีเข้าไปทำไร่กาแฟแต่สภาพการจ้างของบราซิลเอาเปรียบมาก แรงงานจากอิตาลีกลับบ้านไปมาก จึงเปิดโอกาสให้กับแรงงานจากญี่ปุ่น
การที่ญี่ปุ่นแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยการส่งคนไปทำต่างประเทศเป็นการแก้ปัญหาที่น่าจะถูกจุด
แต่ปัญหาบางอย่างนั้นพอแก้ไปได้ก็จริง มันกลายเป็นไปเกิดความยุ่งยากอย่างอื่นตามมา และในความยุ่งยากที่ตามมานั้น สำหรับบางเรื่อง ต่อมาอีกสักระยะหนึ่งก็กลายเป็นประโยชน์กลับมาได้อีก
วิธีการชักชวนคนญี่ปุ่นไปขายแรงงานในบราซิลนั้นทำกันเอิกเกริกมาก ได้ติดโปสเตอร์ชักชวนกันเวอร์สุดๆ โฆษณาว่าเป็นโอกาสที่ดีของชีวิต มีภาพให้จินตนาการเหมือนกับไปขุดทองรวยแล้วค่อยเดินทางกลับ
แต่เมื่อแรงงานจากญี่ปุ่นเดินทางไปถึงจริงๆ แล้วมันกลายเป็นคนละเรื่องค่ะ เพราะค่าแรงถูกเป็นแกลบ เวลาชั่วโมงทำงานยาวนาน เงินที่เป็นรายได้ต้องนำกลับไปซื้อของกินของใช้จากเจ้าของที่ดินแทบจนไม่เหลืออะไร
ในที่สุดจากความหวังว่าจะรวยแล้วกลับบ้าน กลายเป็นจนแล้วคงต้องตายที่นั่น เพราะตกเป็นหนี้เจ้าของที่ดินกันถ้วนหน้า
คนญี่ปุ่นที่ไปเป็นกรรมกรในอเมริกาใต้จึงแทบไม่ต่างกับคนจากอิตาลีเคยโดนมาก่อนแล้ว มันไม่ได้สวยงามอย่างที่ฝัน สภาพแรงงานญี่ปุ่นก็คือทาสดีๆ นี่เอง เมื่อไม่มีเงินกลับบ้านก็ต้องอยู่ในบราซิลอย่างถาวร
คนญี่ปุ่นในอเมริกาใต้โดยเฉพาะที่บราซิลรุ่นแรกลำบากแสนสาหัส ต้องเกาะกลุ่มกันเองอย่างเหนียวแน่น ส่วนคนญี่ปุ่นในสังคมอื่น เช่น ในซานฟรานซิสโกในสหรัฐ ต้องประสบกับชะตากรรมจากการถูกกีดกันจากคนขาว ที่เลวร้ายที่สุดคือเมื่อญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 คนอเมริกันเกลียดชังคนญี่ปุ่นหนักจนคนญี่ปุ่นแทบไม่อยากเดินออกจากที่พัก
เซา เปาโล ในบราซิล กลายเป็นฐานชุมขนใหญ่ของคนญี่ปุ่น และเป็นสังคมแปลกแยกน่าเป็นห่วง แต่คนญี่ปุ่นก็มีจิตใจเด็ดเดี่ยวและยังเข้มข้นในชาติพันธุ์ เก็บหอมรอมริบได้ก็ส่งลูกหลานกลับไปเรียนหนังสือที่ญี่ปุ่น
แต่ก็ต้องผิดหวังอีก...
เด็กญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่เกิดในต่างประเทศก็กลายเป็นคนต่างวัฒนธรรมไปแล้ว คนญี่ปุ่นในประเทศตัวจริงนั้นเข้มงวดในค่านิยมของความเป็นญี่ปุ่น เพื่อนนักเรียนในญี่ปุ่นไม่ให้ความสนิทสนมกับเด็กนักเรียนญี่ปุ่นที่เกิดต่างถิ่น ป่วยทางจิตกันไปตามๆ กัน ในที่สุดก็ต้องกลับบราซิล
คนญี่ปุ่นต่างถิ่นเพิ่งมีโอกาสได้กลับไปแผ่นดินแม่อีกครั้งก็เมื่อผ่านมาถึงช่วงที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นบูมอย่างบ้าคลั่งในทศวรรษหลัง ค.ศ. 1980 ค่าแรงในญี่ปุ่นพุ่งกระฉูดทำให้ญี่ปุ่นต้องการแรงงานที่ราคาถูกกว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดโอกาสให้สิทธิคนบราซิลเชื้อสายญี่ปุ่นโพ้นทะเลเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นได้
แต่ปัญหาเดิมก็ตามมาอีกคือได้แรงงานคนญี่ปุ่นกลายพันธุ์ พูดภาษาญี่ปุ่นก็ไม่ได้ นิสัยก็ไม่ขยันเหมือนคนญี่ปุ่น ทำงานก็ไม่ละเอียด คนบราซิลเชื้อสายญี่ปุ่นจึงต้องเดินทางกลับบราซิลอีกครั้ง
นี่แหละ... จำไว้เลยค่ะว่า ชีวิตที่ห่างไกลกัน แม้จะเป็นสายเลือดเดียวกัน อยู่มาวันหนึ่ง... ก็ไม่เหมือนกันอีกแล้ว
อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ ในภาพกว้าง คนญี่ปุ่นต่างพื้นที่ก็ยังมีเรื่องราวที่เชื่อมโยงกันอยู่ คนญี่ปุ่นที่โตเกียวได้จัดเทศกาล Samba Carnival เหมือนกับที่บราซิลในช่วงอีสเตอร์ มีผู้หญิงแต่งชุดปิดร่างด้วยผ้าน้อยนิด... ออกมาเต้นในถนนเหมือนกับในริโอเดอจาเนโร
ในไม่ช้าวัฒนธรรมใหม่ของญี่ปุ่นกำลังเกิดขึ้น มันจะไม่มีความแปลกแยกที่เลวร้ายอีกต่อไป การส่งผ่านทางวัฒนธรรมที่มีพลวัตมากเกิดขึ้นในหลายๆ ด้าน และจะถมความแตกต่างให้มิดลง
ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ คือรสนิยมบางอย่างของคนญี่ปุ่นปัจจุบันนี้มีความเป็นบราซิลปะปนอยู่หลายเรื่อง
สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือวัฒนธรรมกาแฟในญี่ปุ่น ซึ่งเรื่องนี้ต้องมองรวมไปถึงอิตาลีด้วย
สาเหตุส่วนหนึ่งนั้นเนื่องมาจากการที่คนอิตาลีและคนญี่ปุ่นซึ่งต่างก็เคยไปเป็นแรงงานทาสทำไร่กาแฟในบราซิล กลายเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้ทุกวันนี้คนอิตาลีและคนญี่ปุ่นกลายเป็นนักดื่มกาแฟและกลายเป็นกูรูกาแฟตัวจริง
นี่แหละค่ะ... เรื่องเลวร้ายของคนญี่ปุ่นในไร่กาแฟที่บราซิลสมัยหนึ่งผ่านไป ร้อยกว่าปีต่อมา คอกาแฟตัวจริงที่ได้รับการยอมรับนับถือในวันนี้คือคนอิตาลีและญี่ปุ่น
ที่อิตาลีนั้น... วัฒนธรรมกาแฟในอิตาลีที่ได้มาจากวัฒนธรรมกาแฟจากเติร์กผสมกับเรื่องราวที่คนทำไร่กาแฟในบราซิลนำ กาแฟมาเติมให้กาแฟอิตาลีขลังมากขึ้นไปอีก
ส่วนที่ญี่ปุ่นนั้นขณะนี้มีกาแฟยี่ห้อดังมากมาย เวลาเราไปญี่ปุ่นก็ได้ดื่มด่ำกับกาแฟที่นั่น การบินไทยก็เคยใช้กาแฟ Suzuki ของญี่ปุ่นบริการบนเครื่องบิน ญี่ปุ่นนี่แหละที่ไปเหมาซื้อกาแฟที่ Blue Mountains ที่เกาะ Jamaica แทบไม่เหลือให้ใครในโลกกิน
ส่วนที่อเมริกาใต้นั้น วัฒนธรรมอาหารที่มีความเป็นญี่ปุ่นผสมอยู่ชัดเจน โดยเฉพาะที่เปรูคือ Ceviche-เซบิเช่ เพราะเปรูมีอาหารทะเลมาก เนื่องจากกระแสน้ำเย็น Humboldt นำปลาในเขตตอนล่างของเส้นศูนย์สูตรเข้ามาบริเวณนอกฝั่งเปรูมากมาย Ceviche ทำจาก ปลาทะเลสด หอยเชลล์สด กุ้งสด เป็นวัตถุดิบหลัก จากนั้น ตัดมะเขือเทศ เซเลอรี่ พริกตุ้มสี แดง เขียว เหลือง เป็นชิ้นเล็กเคล้าลงไป เหยาะน้ำมันมะกอกผสมน้ำมะนาว โรยหน้าด้วยใบผักชี
นี่ก็คือวิธีการที่แปลงมาจากการทำปลาดิบของคนญี่ปุ่นที่เข้าไปขายแรงงานในเปรูนั่นเอง
ถึงตอนนี้คงเห็นนะคะว่าวัฒนธรรมอาหาร ญี่ปุ่นยังกลายมาเป็นวัฒนธรรมอาหารในอเมริกาใต้ไปแล้วด้วยซ้ำ
หากได้กิน Ceviche ในวันนี้ ก็ขอให้นึกถึงคนญี่ปุ่นที่อพยพไปกลายเป็นแรงงานทาสในอเมริกาใต้และต้องผ่านห้วงเวลาและปัญหาอันยากลำบากมากมาย