posttoday

เพื่อนปลูก เพื่อนกิน โมเดล SE เพื่อชาวนาไทย

23 เมษายน 2560

ชาวนาคือผู้ทำนาปลูกข้าวให้เราชาวไทยได้อยู่ได้กินมาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่ระยะหลังๆ ในช่วง 10 ปี

โดย...ภาดนุ

ชาวนาคือผู้ทำนาปลูกข้าวให้เราชาวไทยได้อยู่ได้กินมาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่ระยะหลังๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ราคาข้าวกลับตกลงเรื่อยๆ ข้าวขายไม่ค่อยได้ราคา ทำให้เกษตรกรชาวนาที่ได้ชื่อว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจนอยู่แล้ว ก็ยิ่งเป็นหนี้เป็นสินและลำบากกันเข้าไปใหญ่ ทั้งค่าไถ ค่าหว่าน ค่าปุ๋ย ค่าเกี่ยวข้าว และอีกสารพัด เรียกว่าทำเท่าไหร่ก็ไม่คุ้มทุนที่ลงไป ถ้าเป็นแบบนี้แล้วเมื่อไหร่ชาวนาไทยจะลืมตาอ้าปากได้สักทีล่ะ

โชคดีว่าสังคมไทยยังมีคนดีๆ ที่เล็งเห็นถึงปัญหาของชาวนา พวกเขารวมตัวกันตั้งโครงการ “คนกินข้าว ช่วยคนปลูกข้าว” ขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือชาวนาไทยโดยเฉพาะ เรื่องนี้ กรรณิการ์ รัตนปรีดากุล ผู้ก่อตั้งกลุ่มจะบอกเล่าให้ฟัง

“ดิฉันและเพื่อนๆ จากหลากหลายสาขาอาชีพ ได้รวมตัวกันเพื่อก่อตั้งโครงการ ‘คนกินข้าว ช่วยคนปลูกข้าว’ ขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเป็นปีที่ข้าวเปลือกเริ่มมีราคาตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด และสืบเนื่องมาจากวิกฤตราคาข้าวเปลือกตกลงนี้ เราจึงรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มจิตอาสาขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวนาในรูปแบบต่างๆ ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือในระยะสั้นเพื่อลดความรุนแรงของวิกฤตราคาข้าวให้บรรเทาลง

“อย่างที่ทราบกันดีว่า จากอดีตที่ผ่านมาเกษตรกรหรือชาวนาไทยส่วนใหญ่มักจะทำนาปลูกข้าวทั้งนาปีและนาปรังโดยใช้ปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลงมาเกี่ยวข้องแทบจะทุกราย เนื่องจากพวกเขาต้องการได้ผลผลิตออกมาเป็นข้าวเปลือกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่ทีนี้การใช้ปุ๋ยหรือสารเคมีต่างๆ เหล่านี้มันมีราคาแพง ชาวนาจึงมีต้นทุนในการทำนาสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วพอถึงหน้าเก็บเกี่ยวผลผลิตออกมา ปรากฏว่าขายข้าวเปลือกแล้วยังไม่ได้ราคาหรือราคาตกต่ำอีก ทีนี้เงินที่ลงทุนไปก็ไม่คุ้มทุน ทำให้เกิดเป็นวงจรของการเป็นหนี้เพราะต้องไปกู้เงินมาลงทุนแบบไม่มีที่สิ้นสุด

“เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงตั้งกลุ่มขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ ความหวังที่จะได้เห็นเพื่อนชาวนาไทยได้มีความมั่นคงและความเข้มแข็งในอาชีพเกษตรกรในระยะยาว ดังนั้นทางกลุ่มจึงได้ช่วยกันรณรงค์และผลักดันโดยการส่งเสริมให้ชาวนาไทยหันมาปลูกข้าวอินทรีย์กันให้มากขึ้น โดยช่วยหานักวิชาการที่มีความรู้มาช่วยให้คำแนะนำชาวนาให้ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวแบบเดิมๆ มาสู่การปลูกข้าวแบบอินทรีย์เพื่อสร้างความยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรต่อไปในอนาคต

“นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังได้ช่วยจัดหาอีเวนต์หรือกิจกรรมให้ชาวนาได้ไปออกงานเพื่อขายข้าว เช่น งานมหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไท ที่เมืองทองธานี, แบงค็อก ฟาร์เมอร์ส มาร์เก็ต ที่ เดอะ แจม แฟกตอรี, ไรซ์ แฟร์ โดยสมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สนามม้านางเลิ้ง, กรีนแฟร์ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เป็นต้น”

กรรณิการ์ เสริมว่า สมาชิกกลุ่มส่วนใหญ่ที่มารวมตัวกัน มีทั้งนักพัฒนา นักการตลาด ทันตแพทย์ นักออกแบบ สถาปนิก ฯลฯ ซึ่งทุกคนล้วนแต่มีจิตอาสาที่จะเข้ามาช่วยเหลือและร่วมมือกัน เพราะต่างก็มีอุดมการณ์และความหวังร่วมกันว่า อยากจะเห็นชาวนาไทยลืมตาอ้าปากได้สักที

“ปัจจุบันนี้เราได้เปลี่ยนชื่อกลุ่มและชื่อโครงการมาเป็น ‘เพื่อนปลูก เพื่อนกิน’ แทน เพื่อต้องการสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนและทำให้สามารถจดจำชื่อกลุ่มได้ง่ายขึ้น ซึ่งหัวใจสำคัญในการทำงานของกลุ่มก็คือคำว่า ‘เพื่อน’ เพราะเราคิดว่าหากคนปลูกและคนกิน หันมาคบหาสมาคมกันฉันเพื่อนด้วยความเข้าใจ ห่วงใย วางใจ และหวังดีต่อกันแล้ว เราก็จะพึ่งพากันเองได้อย่างยั่งยืนไปอีกนาน

“ลองคิดดูสิว่า จาก ‘ใครก็ไม่รู้ปลูก ให้ใครก็ไม่รู้กิน’ มาเป็น ‘เพื่อนปลูก ให้เพื่อนกิน’ ชื่อนี้จึงมีความหมายและถือเป็นหัวใจหลักของโครงการเลยก็ว่าได้ แล้วยังเป็นการช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตกับผู้บริโภคโดยตรงอีกด้วย เนื่องจากผู้บริโภคบางรายจะเข้ามาให้การสนับสนุนในการซื้อข้าวอินทรีย์ล่วงหน้าเป็นรายปี ตามแนวคิดของระบบ ‘เกษตรแบ่งปัน’ หรือ CSA เพื่อให้เกษตรกรและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ต่อไป

“ที่สำคัญยังทำให้ชาวนาเกิดความเชื่อมั่นในการเปลี่ยนผ่านจากการทำนาที่ใช้เคมี มาเป็นการทำนาอินทรีย์ เพราะในปัจจุบันนี้มีตลาดรองรับผลผลิตข้าวอินทรีย์ของพวกเขาอยู่มากมาย นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาการกู้หนี้ยืมสินของเกษตรกรให้ลดน้อยลง แถมยังมีส่วนช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศตามธรรมชาติให้กลับคืนมาด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ และที่น่าดีใจคือผู้บริโภคทุกคนยังได้กินข้าวที่ปลอดภัย แล้วยังได้ร่วมกันเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนการผลิตและบริโภคพืชผลเกษตรอินทรีย์ด้วยระบบที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทยอีกด้วย”

กรรณิการ์ บอกว่า ข้าวของโครงการ “เพื่อนปลูก เพื่อนกิน” นี้ส่วนใหญ่ผลิตโดยชาวนาจาก อ.เลิงนกทา และ อ.มหาชนะชัย จ.ยโสธร ที่เกษตรกรรวมกลุ่มกันเป็น “สหกรณ์ผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์” (จ.ยโสธร) ภายใต้การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์จากมูลนิธิสายใยแผ่นดิน โดยมีโรงสีชุมชนที่มีสมาชิกคือชาวนาเป็นผู้ถือหุ้น คอยดูแล ช่วยเหลือ สนับสนุน และรับซื้อข้าวจากสมาชิกอย่างเป็นธรรม ดังนั้นเงินที่ได้มาจากการขายข้าวทั้งหมดจึงเข้าสู่สหกรณ์โดยตรงและหมุนเวียนเป็นรายได้ไปสู่เกษตรกรอีกที

“โครงการเพื่อนปลูก เพื่อนกินนี้ ถือได้ว่าเป็นโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมหรือ SE โครงการหนึ่งก็ว่าได้ เพราะอย่างที่บอก ว่าพวกเราเข้ามาเป็นกลุ่มจิตอาสาที่มาช่วยสตาร์ทอัพธุรกิจเพื่อสังคมนี้ให้กับกลุ่มชาวนาเป็นหลัก จากจุดเริ่มต้นที่ทำกันมาจนถึงตอนนี้ประมาณ 10 กว่าปีแล้ว ที่ผ่านมาก็มีองค์กรต่างๆ เข้ามาให้การสนับสนุนซื้อข้าวจากเราเป็นประจำ เช่น SCB ช่วยซื้อข้าวจากโครงการเราส่งไปให้เด็กผู้ยากไร้ที่ จ.กาญจนบุรี ในปี 2557 โรงเรียนรุ่งอรุณช่วยอุดหนุนข้าวจากโครงการเราไปใช้ในการเลี้ยงอาหารกลางวันเด็กนักเรียนและครูบาอาจารย์ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน

“นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารชื่อดังแนวฮิปสเตอร์ เช่น The Never Ending Summer ที่เดอะ แจม แฟกตอรี ก็อุดหนุนข้าวกล้องและข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์จากโครงการไปใช้ในร้านด้วย และยังมีบริษัท DPX Logistics ที่เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ของโครงการในการช่วยส่งข้าวถึงมือสมาชิกในราคาถูกเป็นพิเศษ รวมทั้งยังสั่งข้าวจากโครงการไปเป็นของขวัญวันเกิดให้กับพนักงานในบริษัทที่มีประมาณ 150 คนในทุกๆ เดือนอีกด้วย ก็ถือว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่คอยช่วยเหลือให้เกษตรกรไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีเครือข่ายที่ช่วยจำหน่ายข้าว และสามารถเป็นตัวกลางในการสืบสานอาชีพดั้งเดิมของไทยให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคตรุ่นลูกรุ่นหลาน”

กรรณิการ์ ทิ้งท้ายว่า สำหรับหน่วยงานสำคัญที่ช่วยสนับสนุนในเชิงคอนเนกชั่น และองค์ความรู้ให้กับกลุ่ม “เพื่อนปลูก เพื่อนกิน” และชาวนามาโดยตลอดก็คือ “มูลนิธิสายใยแผ่นดิน” ซึ่งมีพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เป็นประธานที่ปรึกษา ร่วมด้วยคณะที่ปรึกษาโครงการคือ ธวัชชัยโตสิตระกูล นักพัฒนาชุมชนผู้ร่วมก่อตั้งสหกรณ์กรีนเนท วิฑูรย์ ปัญญากุล นักพัฒนาชุมชนผู้อยู่ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องหลังงานส่งเสริมการทำงาน

นอกจากนี้ ยังมี วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ นักคิดและผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (Biothai) ดิสทัต โรจนาลักษณ์ นักเขียน ผู้แปลหนังสือซีเอสเอ เกษตรแบ่งปัน คู่เมืองพลเมืองสานสายใยผู้ผลิตผู้บริโภค สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ และธีรพล นิยม ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ปี 2556

ผู้ที่สนใจดูข้อมูลได้ที่ www.farmerandfriend.org แฟนเพจเฟซบุ๊ก : khonkinkhao และ ออนไลน์ช็อปเฟซบุ๊ก : farmerandfriend