posttoday

ความตายกับคนญี่ปุ่น

14 พฤษภาคม 2560

ระหว่างเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปโตเกียว ผู้เขียนกดรีโมทไล่เรียงอ่านเรื่องย่อของหนังญี่ปุ่นซึ่งมีฉายระหว่างเที่ยวบินนั้น

โดย...เพ็ญแข สร้อยทอง

ระหว่างเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปโตเกียว ผู้เขียนกดรีโมทไล่เรียงอ่านเรื่องย่อของหนังญี่ปุ่นซึ่งมีฉายระหว่างเที่ยวบินนั้น แล้วจึงได้พบว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ “ความตาย”

ขณะกำลังบินอยู่ที่ความสูง 3 หมื่นฟิตเหนือระดับน้ำทะเล ผู้เขียนคนหนึ่งล่ะที่ไม่อยากดูหนังเรื่องเกี่ยวกับความตาย สุดท้ายจึงตัดสินใจเลือกดูหนังชีวิตความสัมพันธ์แปลกๆ ของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ในเวลาต่อมาจึงพบว่า พระเอกมีปมในใจเรื่องความตายของพี่ชาย เขายังลุ่มหลงในวรรณกรรมเกี่ยวกับความตายอย่างมาก จึงอ่านทุกเล่มที่มีในห้องสมุด โดยอ่านเรียงตามลำดับตัวอักษรของชื่อเรื่อง และอ่านทุกเล่มครบไปหนึ่งรอบแล้ว กำลังขึ้นรอบที่สอง

ยังไงเสียเราก็คงหนีความตายไปไม่พ้น ผู้เขียนคิด เลยดูหนังเรื่องนั้นจนจบ และไม่นานหลังกลับมาจากโตเกียว ยังตีตั๋วไปดูหนังญี่ปุ่นอีกเรื่องสองเรื่อง ไม่ต้องเดา ... เนื้อหาเกี่ยวข้องกับความตาย (อีกแล้ว)

ในฐานะผู้ที่เสพวัฒนธรรมป๊อปของญี่ปุ่นมาแต่อ้อนแต่ออก นับตั้งแต่ไอ้มดแดงวีต่างๆ ไล่เรียงมาถึงเงือกสาวเจ้าสระ โชโจไต โชเนนไต ... เรื่อยมาถึงปัจจุบัน (ท่านที่คิดว่าเกิดไม่ทันกรุณา Google … ฮา) ที่ผ่านมาก็ได้สังเกตเห็นว่า หนัง ละครทีวี วรรณกรรม ฯลฯ ของญี่ปุ่นนั้นมีเรื่องราวเกี่ยวข้องและนำความตายเป็นแก่นแกนนำเสนออยู่ค่อนข้างมาก

หนังเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนเคยดูใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Departures เล่าเรื่องของ โนคันชิ หรือสัปเหร่อญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคนที่ดูแลคนตายทุกขั้นตอนตั้งแต่แต่งหน้า แต่งตัว เคลื่อนศพ สวด ฝัง หรือเผา แม้จะเป็นอาชีพที่มีความสำคัญมาก แต่ว่าในแง่หนึ่งก็ถูกรังเกียจเดียดฉันท์จากผู้คน เพียงเพราะว่าพวกเขาสัมผัสเกี่ยวข้องกับสิ่งอัปมงคล ในมุมหนึ่งหนังเรื่องนี้ยังสะท้อนว่า ความตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว และไม่ต่างกับเป็นการเดินทางจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง โดยมีโนคันชิเป็นผู้เตรียมตัวให้คนตายออกเดินทาง

ทุกวันนี้ที่ญี่ปุ่นมีหนึ่งธุรกิจซึ่งทำเงินได้มหาศาลคือ ธุรกิจงานศพ เพราะคนญี่ปุ่นจะเตรียมตัวเรื่องความตายไว้ก่อน ไม่ว่าจะจัดหาสุสาน หรือเตรียมพิธี เพื่อที่ว่า เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ จะได้ไม่เป็นภาระแก่คนอื่น

ในญี่ปุ่นยังมีสถิติการฆ่าตัวตายสูง เหตุผลหลักๆ คือ แรงกดดันมหาศาลของชีวิตในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะการเรียนการสอบ การทำงาน ปัญหาด้านการเงิน สุขภาพ ฯลฯ

อีกหนึ่งเหตุแห่งยุคสมัยซึ่งนำไปสู่การฆ่าตัวตายคือ การกลั่นแกล้งรังแกบนโลกไซเบอร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เคียงคู่มากับความเจริญทางด้านเทคโนโลยี คนญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งมีอาการ ฮิกิโกะโมริ (Hikikomori) หรือการถอนตัวจากสังคม และหลายคนก็จบชีวิตด้วยมือตัวเอง

เมื่อก่อนคนญี่ปุ่นมักใช้ก๊าซฆ่าตัวตาย แต่ทุกวันนี้มักจะผูกคอตาย และกระโดดให้รถไฟทับ โดยเฉพาะรถไฟด่วนพิเศษสายจูโอ (สีส้ม) ที่วิ่งผ่ากลางโตเกียว อีกหนึ่งสถานที่ยอดนิยมซึ่งคนญี่ปุ่นมักจะไปฆ่าตัวตายคือ ป่าอาโอกิกาฮานะ เชิงภูเขาไฟฟูจิ แต่ละปีมีคนไปฆ่าตัวตายจำนวนมาก เป็นรองก็แต่สะพานโกลเดนเกตในสหรัฐ

คนญี่ปุ่นไม่เชื่อว่า การฆ่าตัวตายเป็นบาป ในอดีตการฆ่าตัวตายคือ วิธีรับผิดชอบ อย่างเช่นการฆ่าตัวตายของซามูไรที่เรียกว่า ฮาราคีรี หรือ เซ็ปปุกุ รวมทั้งการทำกามิกาเซของนักบินญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2

เซ็ปปุกุ หรือ ฮาราคีรี คือ การฆ่าตัวตายด้วยการคว้านท้องเป็นความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาชินโต เป็นการตายอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี แม้ยุคซามูไรจะจบสิ้นไปนานแล้ว แต่ทุกวันนี้ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่นับถือศรัทธาในลัทธิบูชิโดหรือวิถีนักรบ พวกเขาเชื่อว่า การฆ่าตัวตายจะทำให้พ้นมลทินและได้รับการอภัยจากความผิดพลาดที่ทำลงไป แม้ในยุคหลังจะมีการรับแนวคิดจากวัฒนธรรมอื่นที่ว่า การฆ่าตัวตายเป็นบาปมาล้างความคิดของคนญี่ปุ่น แต่รากความเชื่อเก่ายังฝังลึก

อาจจะไม่ผิดถ้าหากจะบอกว่า คนญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งมองความตายเป็นสิ่งสวยงาม เช่นนั้นเองเรื่องราวเกี่ยวกับความตายจึงยังคงปรากฏในงานวรรณกรรม หนัง เพลง ฯลฯ ของญี่ปุ่นเสมอ ส่วนคนเสพงานก็น่าจะได้ตระหนักว่า ทุกคนหนีความตายไม่พ้น สิ่งสำคัญคือ ก่อนจะถึงวันนั้น เราได้ทำอะไรไปบ้าง