posttoday

One belt, One road

20 พฤษภาคม 2560

ข่าวสำคัญในช่วงวันที่ 14-15 พ.ค.ที่ผ่านมา คือ ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ดำเนินการเป็นเจ้าภาพจัด Belt and Road Forum ที่ปักกิ่ง

โดย...ม.ล.อัจฉราพร ณ สงขลา

ข่าวสำคัญในช่วงวันที่ 14-15 พ.ค.ที่ผ่านมา คือ ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ดำเนินการเป็นเจ้าภาพจัด Belt and Road Forum ที่ปักกิ่ง

งานนี้ใช้ชื่อว่า Belt and Road Forum แต่ชื่อเดิมที่จีนคิดและปล่อยกันออกมา สร้างกระแสเรียกความสนใจก่อนนั้นใช้ชื่อว่า One belt, One road ซึ่งบอกว่าเป็นการฟื้นเส้นทางสายไหมที่เป็นเส้นทางการค้าเดิมทั้งทางบกและทางมหาสมุทรขึ้นมาอีกครั้ง

ในเนื้อหาที่เป็นจริงนั้น จีนต้องการให้เกิดการร่วมมือทางการค้าที่กินพื้นที่ไปทั่วโลก ทั้งการพัฒนาเส้นทางการค้าให้เชื่อมต่อกันและข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน

จีนก็เข้าไปร่วมมือทางการเงินในโครงการขั้นต้น ผ่านธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) จัดหาเงินกู้กว่า 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ แก่ 9 โครงการในกลุ่มประเทศที่เข้าร่วมโครงการริเริ่ม ซึ่งจีนเรียกว่า... กองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund)

จีนได้ทำงานนี้ล่วงหน้ามาไม่ต่ำกว่า 4 ปี งานหลายส่วนในหลายพื้นที่ในโลกเดินหน้าไปมากแล้ว เช่น การขยายเส้นทางสายไหมทั้งในปากีสถานและในจีนเพิ่มหลายจุด การสร้างเส้นทางในลาว วางระบบรางลงมาแหลมอินโดจีนยาว 867 กม. ฯลฯ

หลังการประชุมครั้งนี้สิ้นสุดลง ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง กล่าวปิดงานว่าได้รับความสำเร็จอย่างดีและเจอกันใหม่ในการประชุมครั้งต่อไปในอีก 2 ปีข้างหน้า

แรกทีเดียวสำนักข่าวใหญ่ยุโรปแห่งหนึ่งเขียนสำทับงานนี้อย่างดูแคลนตั้งแต่ยังไม่เริ่มว่า...

“ฤๅเส้นทางสายไหมจะเป็นเพียงนิทานก่อนนอนเรื่องหนึ่งของจีน ... เขาจะก้าวขึ้นเวทีในฐานะหัวหน้านักเล่านิทาน ในเวทีข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมฯ นับเป็นจังหวะที่ดีของจีน เพราะสหรัฐและสหภาพยุโรป หรืออียู ต่างก็ไม่มีเรื่องเล่าระดับโลกมาเล่าแข่ง”

ฟังแล้วจุกในอกหายใจไม่เข้าค่ะ...

เหมือนกับว่า... ตอนนี้อเมริกา กับอียู เงียบๆ ตัวเองมาทำข่าวก็คิดเสียว่า มานั่งฟัง สีจิ้นผิง ขายฝัน ดีกว่าอยู่เปล่าๆ

ประมาณนั้น...

เราต้องถามตัวเองค่ะว่า จีนคิดอะไรในใจจึงไปปลุกเอาคำว่า “เส้นทางสายไหม” ให้คืนชีพมาอีกครั้ง

ก็เพราะเส้นทางสายไหมในความเป็นจริงนั้นครึ่งหนึ่งอยู่ในจีน จีนนั้นได้ประโยชน์จากงานนี้เต็มๆ แต่หากปรุงแต่งให้เป็นเส้นทางนานาชาติสมบูรณ์ได้ตลอดเส้นทาง เป็นแถบเส้นทางที่หลายประเทศจะได้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมหาศาล สินค้าจีนจะผ่านออกไปในเส้นทางสายนี้ได้เพิ่มมากขึ้น จีนก็จะฟูเฟื่องเรืองรุ่งหนักขึ้นไปอีก

แถบเส้นทางสายไหมนั้นหากวิ่งจากยุโรปมาเอเชียก็จะเริ่มจากประเทศตุรกี จากนั้นก็ผ่านอิหร่านหรือเปอร์เซียเดิม แล้วก็ไปผ่านอัฟกานิสถาน ปากีสถาน ผ่านช่องเขาในเทือกเขา Hindu Kush/Himalaya และ Karakoram

แล้วไปยังเมือง Kaskar ที่ริมทะเลทราย Takla Makan ในมณฑลซินเกียงในจีน จากนั้นก็แยกไปทั่วจีน

เส้นทางสายไหมเป็น One Belt แต่ในความจริงนั้นไม่ใช่ One Road หรอกค่ะ

ความหมาย One Road ที่จีนใช้เรียกในที่นี้อาจแทนค่าแนวเส้นทางหลัก

เส้นทางสายไหมในความเป็นจริงเป็น Many Roads เป็นถนนเครือข่ายที่แยกออกไปเป็นจำนวนมากหลายสิบสาย ซึ่งจีนพยายามจะชี้ให้เห็นว่า เส้นทางสายไหมมากมาย โดยเฉพาะที่อยู่ในเอเชียกลางก่อนจะเข้ามาในจีน หากปรับให้เป็นเส้นทางในระบบโลจิสติกส์ทางการค้าที่สมบูรณ์แล้ว หลายประเทศจะได้รับประโยชน์โดยตรง

ซึ่งก็นับตั้งแต่พื้นที่ชายขอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จากประเทศตุรกีเป็นต้นมา ซึ่งก็หมายถึงอิหร่าน คีร์กีซสถาน เติร์กเมนิสถาน คาซัคสถาน อาเซอร์ไบจาน อุซเบกิสถาน ทาจิกิสถาน ฯลฯ

ใน Belt and Road Forum จีนให้ความสำคัญกับ 2 ประเทศอย่างมาก โดยผู้ที่ร่วมกล่าวเปิดงาน คือประธานาธิบดีเออร์โดอานของตุรกีและประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย เพราะตุรกีมีความสำคัญตรงที่เป็นจุดเริ่มหรือสิ้นสุดเส้นทางสายไหมชายขอบยุโรป ถ้าไม่มีตุรกีการเชื่อมระหว่างเส้นทางสายไหมของจีนก็จะส่งสินค้าเข้าไปในยุโรปไม่ได้

ประธานาธิบดีเออร์โดอานของตุรกีจึงได้กลายเป็นคนหนึ่งที่มีภาพข่าวเผยแพร่อย่างมีนัยสำคัญในการประชุมครั้งนี้

ส่วนอีกคนนั้นที่จีนให้ความสำคัญมากในการประชุมครั้งนี้คือประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย ก็เพราะแถบเส้นทางสายไหม เป็นเส้นทางที่เชื่อมไปในพื้นที่ไซบีเรียของรัสเซีย รวมทั้งมองโกเลียซึ่งรัสเซียเคยมีบทบาททางการเมือง อีกทั้งจีนกับรัสเซียยังเป็นมิตรที่แนบแน่นและเห็นดีงามกับโครงการนี้

ความจริงแล้วจีนได้ลงทุนในเส้นทางสายไหมมาเงียบๆ นานมากแล้ว คือตั้งแต่ ค.ศ. 1966 ไม่ได้เพิ่งมาทำเมื่อ 4 ปี จีนได้สร้างถนนในแนวเส้นทางสายไหมเดิมที่ใช้กันตั้งแต่สมัยมาร์โคโพโล เพื่อใช้งานและเพื่อเข้าไปจัดการเรื่องความมั่นคงในซินเกียง และจีนยังเลยออกไปร่วมมือกับปากีสถานสร้างถนนต่อไปผ่านปากีสถานเพื่อไปเชื่อมกับอัฟกานิสถานที่ Khyber Pass

เป็นถนนมิตรภาพ เรียกว่า Karako ram Highway (KKH)

ปัจจุบันปากีสถานและจีนใช้เส้นทาง KKH ไปออกอัฟกานิสถานและไปขายย่านนั้น และเมื่อจีนต้องการใช้เส้นทางสายไหมให้ได้ประโยชน์กว่านี้ Belt and Road Forum จึงเกิดขึ้น

ขณะที่นักข่าวตะวันตกยังมองจีนอย่างขำๆ หรือดูแคลน แต่สำหรับ สีจิ้นผิง นั้นได้โหมโรงด้วยบทที่ 1 ของ One belt, One road อย่างลุ่มลึก

รอดูค่ะว่าจีนจะทำอะไรต่อ ลงทุนลงแรงไปแยะแล้ว

รับรองว่า สีจิ้นผิง ไม่ทำอะไรเล่นๆ แน่

ใครขำก็ขำไป...

(พบกันวันเสาร์หน้าค่ะ)