posttoday

เสือลายเมฆ

09 กรกฎาคม 2560

ตอนเช็กภาพจากจอหลังกล้องไปละเฟรม (อันเป็นช่วงเวลาอันแสนโปรดปราน) แล้วเห็นแต่หางยาวๆ ลายๆ โผล่มา

โดย...ปริญญา ผดุงถิ่น

ตอนเช็กภาพจากจอหลังกล้องไปละเฟรม (อันเป็นช่วงเวลาอันแสนโปรดปราน) แล้วเห็นแต่หางยาวๆ ลายๆ โผล่มา แต่ตัวหลุดเฟรมหายไป ผมครางออกมาอย่างแสนเสียดาย เห็นแค่หางผมก็รู้แล้วเป็นเสือลายเมฆ  (Clouded Leopard)

แต่แล้วความผิดหวังก็สูญสลายอย่างรวดเร็ว หลังตรวจจบจนหมดการ์ด แม้บางภาพผมได้แต่หาง แต่หลายภาพ ผมได้เต็มตัว นี่คือเสือที่ผมรอคอยมานานที่สุดในชีวิตการเป็น Camera Trapper

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากพูดตามตรง ผมเองเคยได้ภาพของเสือลายเมฆมาก่อนแล้ว แต่คุณภาพมันไม่ถึงมาตรฐานจนไม่อยากนับเอาซะเลย ต่างจากภาพที่ได้รอบนี้

สำหรับผม เสือโคร่งยังคงเป็นสัตว์ป่าตัวโปรดหมายเลข 1 แต่ผมเทคะแนนให้เสือลายเมฆว่าสวยกว่า ซุกซนน่าค้นหามากกว่า เป็นแมวตัวที่ทำให้ผมต้องร้องเพลงหลายเพลงมาตลอด ไม่ว่าจะ “คาใจ” “ฉันจะฝันถึงเธอ” ฯลฯ

จริงๆ แล้ว คนล่วงรู้ชีวิตของเสือลายเมฆในป่าค่อนข้างน้อย เดิมว่ากันว่าเป็นเสือที่ชอบอยู่บนต้นไม้ และออกหากินกลางคืน แต่จากการสังเกตช่วงหลังของมนุษย์ “หายใจเป็นเมฆ” พบว่าเสือลายเมฆอยู่บนดินมากกว่าบนต้นไม้ และออกหากินกลางวันซะมาก

อย่างไรก็ตาม เสือลายเมฆเป็นนักปีนป่ายที่เก่งกาจจริงๆ แค่ดูทรงหางยาวเป็นบ้องใหญ่ ขาสั้นๆ ตีนโตๆ (เรียกว่ามีคู่เหมือนเป็นอีเห็น จะเสียศักดิ์ศรีไหม) ก็รู้ได้โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว จากการสังเกตยังพบว่ามันสามารถไต่ลงลำต้นไม้ช้าๆ ในลักษณะหัวทิ่มลง ซึ่งท่านี้ แมวลายหินอ่อนก็ทำได้เช่นกัน

นอกจากนี้มันยังห้อยตัว โดยใช้แค่ขาหลังเหนี่ยวกิ่ง ญาติผู้พี่ที่ปีนต้นไม้เก่งเช่นกันอย่างเสือดาว ยังต้องยอมเรียกพี่ เมื่อเจอท่าไม้ตายนี้

จากการวิจัยด้วยการใส่ปลอกคอดาวเทียมที่ภูเขียว พบว่าเสือลายเมฆออกมาล่ากินเนื้อทรายแถวทุ่งกระมังโล่งๆ ตอนกลางคืน ใช่จะหากินแต่ในดงทึบ กลายเป็นฉากหนังชีวิตเรื่อง “เสือเตี้ยกินกวางเตี้ย”

มีการยกย่องให้เสือลายเมฆเป็น “เสือเขี้ยวดาบ” ที่ยังมีชีวิต จากเขี้ยวที่มีสัดส่วนยาวที่สุด แต่จริงๆ ทรงเขี้ยวยังต่างกันมาก เสือเขี้ยวดาบเขี้ยวแบนเหมือนดาบจริงๆ แต่เสือลายเมฆเขี้ยวกลม

ช่วงหลังมีการแยก “เสือลายเมฆบอร์เนียว” หรือ “เสือลายเมฆซุนดา” บนเกาะบอร์เนียวและสุมาตราของอินโดนีเซีย ออกจากเสือลายเมฆตัวหลัก ทั้งที่หน้าตาเหมือนกันอย่างกะแกะ (สีขนต่างกันนิดหน่อย) เหตุเพราะการพิสูจน์ดีเอ็นเอ บอกให้รู้ว่าเสือลายเมฆและเสือลายเมฆบอร์เนียว มีดีเอ็นเอที่ห่างกันพอสมควร

ห่างแค่ไหนหรือ? เอาเป็นว่าเสือโคร่งกับสิงโต ยังมีดีเอ็นเอที่ใกล้ชิดกันมากกว่า!