posttoday

วรรณะ ชาติ และความจริงของการกดขี่

23 กรกฎาคม 2560

ผมเห็นคนแชร์ข่าวเรื่องว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินเดียมาจากวรรณะจัณฑาล แต่มีคนแย้งว่าจัณฑาลไม่ใช่วรรณะ

โดย...กรกิจ ดิษฐาน

ผมเห็นคนแชร์ข่าวเรื่องว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินเดียมาจากวรรณะจัณฑาล แต่มีคนแย้งว่าจัณฑาลไม่ใช่วรรณะ ทำให้ผมเกิดสนใจเรื่องนี้ว่า ตกลงแล้ว วรรณะคืออะไรกันแน่ แล้วมีกี่วรรณะ เพราะผมเคยคิดว่าวรรณะหมายถึงอาชีพ ดังนั้นมันไม่น่ามีแค่ 4 แต่มีนับมิถ้วน

ปรากฏว่า ผมเข้าใจเรื่องวรรณะผิดมาโดยตลอด รวมถึงเรื่องจัณฑาลด้วย

ผมคิดว่า คำอธิบายอาจารย์ยูพินเดอร์ ซิงห์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยนิวเดลี ในหนังสือ A History of Ancient and Early Medieval India ค่อนข้างเคลียร์มาก จะขอย่อคำอธิบายของท่านมาดังนี้

“วรรณะ” หมายถึงชั้นทางสังคมมี 4 ชั้น คือ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ และศูทร เป็นการแบ่งชั้นแบบกว้างๆ ในสังคมและมีความยืดหยุ่นพอสมควร

แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งขยายมาจากวรรณะ คือ “ชาติ” (อ่านว่า ชา-ติ หมายถึง ชาติกำเนิด) คือสังกัดของวงศ์สกุลที่ทำอาชีพต่างๆ “ชาติ” นั้น มีมากมายเหลือคณานับ และมีชาติใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดแม้กระทั่งปัจจุบัน

วรรณะเป็นเรื่องตายตัวเปลี่ยนกันไม่ได้ ใครเกิดวรรณะพราหมณ์ก็เป็นอย่างนั้นตลอดไป แต่ความเป็นพราหมณ์ไม่เกี่ยวกับสถานะทางการเมือง การเป็นเศรษฐี หรือการมีหน้ามีตาในสังคม

ในส่วนนี้ผมขอขยายเพิ่มเติมว่า กษัตริย์โบราณของอินเดียมิใช่มาจากวรรณะกษัตริย์เท่านั้น แต่ยังมาจากวรรณะแพศย์ เช่น พวกราชวงศ์คุปตะ (แต่ละวรรณะมีสร้อยนามสกุลต่อ เช่น คุปตะหมายถึง พวกแพศย์ ส่วนวรมา หมายถึง เชื้อกษัตริย์) กษัตริย์หรือนักรบบางคนยังจนมาก มี “ชาติ” หรืออาชีพเป็นคนทำรองเท้าสานก็มี ปัจจุบันอาจารย์ยูพินเดอร์ ชี้ว่า วรรณะต่ำพยายามอัพเกรดตัวเองให้ดูดี เช่น กินมังสวิรัติเหมือนวรรณะสูง

มีความเชื่อว่าคนต่างวรรณะจะแบ่งของกินกันไม่ได้ เรื่องนี้ถูกครึ่งเดียว เพราะวรรณะสูงจะไม่รับของกินเฉพาะจากวรรณะต่ำ คือพวกศูทรที่มีชาติหรืออาชีพต่ำ เช่น พวกศูทรที่ทำอาชีพเกี่ยวกับศพหรือการหอกหนัง หรือการฆ่าสัตว์ขายเนื้อ การไม่กินร่วมกับคนเหล่านี้ เพราะถือคติเรื่องความบริสุทธิ์ทางศาสนา (เพราะพวกชั้นสูงไม่กินเนื้อ) หรือเรื่องสุขอนามัยมากกว่า ดังนั้น การกีดกันไม่เกี่ยวกับวรรณะ แต่เกี่ยวกับชาติหรืออาชีพ

การแต่งงานข้ามวรรณะ หรือวรรณสังกร เกิดขึ้นได้ เรียกว่า “อนุโลม” ไม่ใช่ว่ากษัตริย์กับแพศย์จับคู่กันลูกจะเป็นพวกนอกคอกไปหมด

แต่การแต่งงานข้ามชาติ หรือสกุลอาชีพมักจะไม่เกิดขึ้น ผมคิดว่าน่าจะเกี่ยวกับทัศนะเรื่องความสะอาดเหมือนกับเรื่องไม่แบ่งของกินกันข้างต้น

อีกอย่างคือ แม้ว่า วรรณะจะมีการกำหนดอาชีพด้วย แต่จริงๆ แล้วทำอาชีพได้หลากหลายมาก เช่น กษัตริย์ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำ จะเป็นคนเลี้ยงวัวก็ได้ ส่วนพวกศูทร (ซึ่งมีสร้อยสกุลว่า ทาส) ก็ใช่ว่าจะเลี้ยงสัตว์ทำงานหนักอย่างเดียวไปจนตายก็หาไม่ แต่ยังเป็นพ่อค้ามหาเศรษฐีได้เช่นกัน

แต่ “ชาติ” คือระบบ Caste หรือการแบ่งชนชั้นที่แท้จริง ถ้าเกิดในชาติต่ำ เช่น พวกขายเนื้อ ฟอกหนังจะเปลี่ยนอาชีพลำบาก คนยังดูแคลน ชาติเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นวรรณะศูทร จึงทำให้ความเป็นศูทรถูกลากไปเกี่ยวด้วย ทั้งๆ ที่ไม่เกี่ยวเท่าไร เพราะอย่างที่ว่าไว้ว่าศูทรเป็นคนมั่งมีก็ได้ เป็นนักรบก็ยังมี

ชาติที่ทำอาชีพต่ำจึงถูกเหยียดลงไปว่าเป็นพวกที่แตะต้องไม่ได้ เพราะไม่สะอาดในแง่ศาสนา เช่น ฆ่าสัตว์ กินเนื้อ หรือทำบาปกรรมมหันต์จึงถูกไล่ออกจากชุมชน กลายเป็นพวก “อวรรณะ” คือ จัดเข้าพวกไม่ได้ หรือบางคนเสนอว่าอาจเป็นพวกคนพื้นเมืองที่มิใช่เผ่าอารยันรวมอยู่ด้วย ต่อมาไม่กี่ร้อยปีมานี้ มีการเรียกคนกลุ่มนี้ “ทลิตะ” ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า The Untouchables คือ พวกที่แตะต้องไม่ได้

ในส่วนของ “จัณฑาล” คำนี้หมายถึงคนที่ทำอาชีพสัปเหร่อหรือคนหากินในป่าช้า หรือในมหาภารตะบอกว่าเป็นพวกพรานล่าสัตว์ จึงนับเป็น “ชาติ” ไม่ใช่วรรณะ และยังถือเป็นพวก “อวรรณะ” คือนอกคอก แต่ผมไม่แน่ใจว่าการเป็นจัณฑาลเกิดขึ้นเพราะอาชีพไม่สะอาด หรือเพราะจัณฑาลเป็นผลมาจากการสังวาสระหว่างวรรณะสูงสุด คือพราหมณ์แต่งงานกับวรรณะต่ำสุดคือศูทร ลูกออกมาจึงสุกๆ ดิบๆ ต้องไล่ออกไปหากินในป่าช้าก็ไม่ทราบ

แต่เดิมผมเชื่อว่า วรรณะและชาติมีความยืดหยุ่น คือใครตกอยู่ชาติไหนก็สามารถเปลี่ยนตัวเองได้ จากคนหากินในป่าช้าหากเบื่อที่จะถูกเขาดูแคลน ก็ถีบตัวเองมาทำงานอื่น เท่านี้ก็พ้นจากสถานะตกต่ำ

แต่ในยุคโมเดิร์นมีการทำสำมะโนประชากรทำให้มีการกำหนดชาติและวรรณะตายตัวขึ้น และเป็นเหตุให้คนที่มีอาชีพต่ำ เปลี่ยนสถานะยาก กระทั่งเปลี่ยนไม่ได้ ต้องแต่งงานกับพวกอาชีพเดียวกัน กลายเป็นจัณฑาลตั้งแต่เกิดยันตาย

ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ระบุว่า ความบริสุทธิ์ของวรรณะเกิดขึ้นจากการกระทำ การปฏิบัติศีลธรรมจรรยา ดังนั้น วรรณะมิใช่การแบ่งว่าใครดีใครไม่ดี และวรรณะต่ำก็อาจครองแผ่นดิน วรรณะสูงก็อาจเป็นข้ารับใช้ได้ การนิยามจัณฑาลในลักษณะนี้คล้ายกับในจัณฑาลสูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงใช้คำว่า “อุปาสกจณฺฑาโล” หรืออุบาสกผู้เลวทราม หมายถึงผู้ทุศีล ไม่เชื่อในหลักพุทธศาสนาที่ถูกต้อง จัณฑาลในศาสนาพราหมณ์แต่เดิมก็คงเช่นเดียวกัน

แต่เพราะบางคนอาจประพฤติมิชอบจึงทำให้ต้องถูกสังคมกีดกันให้เป็นอวรรณะ ต้องทำอาชีพที่ไม่สะอาดเป็นการลงโทษแต่โบราณการเป็นจัณฑาล จึงเป็นทั้งโดยอาชีพ (ชาติจัณฑาล) และโดยการกระทำ (กรรมจัณฑาล) จะพ้นจากความตกต่ำแห่งชาติ ก็ด้วยกรรมที่ดีขึ้นนั่นเอง เพียงแต่ในยุคหลังระบบชาติถูกตรึงโดยอะไรสักอย่าง ทำให้คนในระบบชาติถีบตัวเองได้ยาก และถูกกดขี่อย่างหนัก